ผบ.ตร.ออกคำสั่งให้ บันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม สอบสวนคดีอาญา พร้อมสั่งห้ามเผยแพร่ ภาพขณะจับกุม
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่สำนักงานคำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้มี คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่องการบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบส่วนคดีอาญา
คำสั่งระบุว่า ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติในการบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกำหนดให้นำทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และพนักงานสอบสวน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงออกคำสั่ง ดังนี้
คำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น
ส่วนที่ 1 การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้นคดีอาญา
ข้อ 3 การตรวจค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ให้ตำรวจผู้ตรวจค้นบันทึกภาพและเสียงโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทางราชการจัดหาให้ หรือ สิ่งอื่นใดที่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ เว้นแต่มีเหตุอันมิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ในบันทึกการตรวจค้นด้วย
ข้อ 4 การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้นในที่รโหฐาน ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) กรณีมีหมายกันหรือคำสั่งของศาล ให้หัวหน้าชุดตรวจค้นมอบหมายตำรวจผู้ร่วม ตรวจค้นผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบันทึกภาพและเสียงโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทางราชการ จัดหาให้ หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ เว้นแต่มีเหตุอันมิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ในบันทึกการตรวจค้น
2) กรณีเข้าเหตุยกเว้นการค้นโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น หากสามารถดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในขณะตรวจค้นได้ก็ให้ดำเนินการตาม ข้อ 1)
ส่วนที่ 2 การบันทึกภาพและเสียงการจับกุมคดีอาญา
ข้อ 5 การบันทึกภาพและเสียงการจับกุมในที่สาธารณสถาน ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) กรณีมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล ให้หัวหน้าชุดจับกุมมอบหมายตำรวจผู้ร่วมจับกุมผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้รับผิดในการบันทึกภาพและเสียงโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทางราชการจัดหาให้ หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ เว้นแต่มีเหตุอันมิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ในบันทึกการจับ
2) กรณีเข้าเหตุยกเว้นการจับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น หากสามารถดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมได้ก็ให้ดำเนินการตามข้อ 1)
ข้อ 6 การจับกุมในที่รโหฐาน ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) กรณีการจับโดยมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และมีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล หรือผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน หรือเข้าเหตุยกเว้นการค้นโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น ให้หัวหน้าชุดจับกุมมอบหมายตำรวจผู้ร่วมจับกุมผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้รับผิดในการบันทึกภาพ และเสียงโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทางราชการจัดหาให้ หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ เว้นแต่มีเหตุอันมิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ในบันทึกการจับ
2) กรณีเข้าเหตุยกเว้นการจับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น และผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน หรือเข้าเหตุยกเว้นการค้นโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น หากสามารถดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมได้ ก็ให้ดำเนินการตามข้อ 1)
ส่วนที่ 3 การบันทึกภาพและเสียงการสอบสวนคดีอาญา
ข้อ 7 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายที่บัญญัติให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบสวนคดีอาญาประเภทอื่นใดไว้ ให้พนักงานสอบสวนทำการบันทึกภาพและเสียงผู้ต้องหา โดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทางราชการจัดหาให้ หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ ในประเภทคดี ดังต่อไปนี้
1) คดีความผิดต่อชีวิตหรือร่างกาย โดยมีผู้ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส
2) คดีความผิดฐานชิงทรัพย์และมีผู้ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส
3) คดีความผิดฐานปล้นทรัพย์
4) คดีที่มีความสำคัญ หรือเป็นที่สนใจของประชาชน เช่น คดีเรียกค่าไถ่ คดีที่ผู้กระทำผิดมีแผนประทุษกรรมเป็นที่น่าสนใจ หรือคดีโจรกรรมรถยนต์ที่ใช้วิธีการพิเศษ เป็นต้น
5) คดีที่ไม่ปรากฎหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หรือไม่อาจใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ในการแสวงพยานหลักฐานอื่นใดได้ นอกจากคำรับสารภาพของผู้ต้องหา
6) คดีที่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาให้การเป็นประโยชน์อันเป็นข้อมูลสำคัญต่อการดำเนินคดีกับผู้บงการหรือตัวการสำคัญหรือพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป เว้นแต่มีเหตุอันมิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ในบันทึกของพนักงานสอบสวน
ส่วนการจัดเก็บนั้น ให้จัดเก็บแบ่งไว้ 2 ชุด นำไปประกอบสำนวนส่งให้พนักงานอัยการ 1 ชุด และเก็บไว้กับสำเนาการสอบสวน 1 ชุด โดยให้มีการผนึกสิ่งบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเพื่อป้องมิให้มีการทำลาย และห้ามมิให้ทำการเผยแพร่สิ่งบันทึกภาพและเสียง เว้นแต่เพื่อการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญา
สำหรับระยะเวลาในการรักษาหรือทำลายนั้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือคดีขาดอายุความ หรือหากสิ่งบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อประกอบการสืบสวน และการอสบสวนคดีอาญา ให้เก็บรักษาไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี ตามรอบปฏิทิน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่มีคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกำหนดให้นำทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และพนักงานสอบสวน และ เป็นแผนงานตามโครงการ Big rock นั่นคือ โครงการที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อประชาชน และควรต้องเร่งรัดดำเนินการโดยเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติที่ ตร.ต้องดำเนินการและรายงานต่อสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 เม.ย.2564
Link : https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2683739