โดย…ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
รัฐบาลเพิ่งเห็นชอบในหลักการออกกฎหมายกำกับเส้นทางการเงินของ เอ็น.จี.โอ. ที่รับเงินจากต่างประเทศ หลังจากที่ได้รับคำร้องเรียนจากฝ่ายมั่นคงมาหลายสิบปีต่อรัฐบาลที่ผ่านมา ให้ทำอะไรสักอย่างที่จะควบคุมเงินต่างชาติไหลเข้ามาผ่าน เอ็น.จี.โอ.บางพวกสร้างความวุ่นวายทางการเมืองไทย หรือหาทางป้องปรามเงินที่ให้โดยผู้ให้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง
เรื่องนี้ ผู้เขียนและพวกขอยกมือสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายดังกล่าว คาดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
องค์กรพวกนี้เรียกตนเองตามแบบที่ฝรั่งเขียนไว้ เอ็น.จี.โอ. หรือ องค์กรนอกภาครัฐ หรือ องค์กรภาคประชาสังคม โดย มีวัตถุประสงค์ที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ในเมืองไทยมีเป็นจำนวนมาก แต่จดทะเบียนเพียง 87 แห่งเท่านั้น ส่วนใหญ่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและสาธารณประโยชน์ บางองค์กรได้รับเงินมากลับไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะประโยชน์ตามที่แจ้งไว้ หรือนำเงินกำไรมาแบ่งปันกันภายในกลุ่ม นอกจากนั้น บางองค์กรยังมีพฤติกรรมที่เอื้อประโยชน์กับประเทศอื่น แต่กระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศไทยตลอดมา
เอ็น.จี.โอ ในไทยมีจำนวนนับร้อย แต่มีไม่กี่พวกที่สร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาล เพราะบ่อยครั้งที่ได้กระทำการอันเป็นการสวนทางกับนโยบายของรัฐบาล หรือไปปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล แทนที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและร่วมกันชี้แจงประชาชน
เอ็น.จี.โอ.กลายเป็น “อาชีพหนึ่ง” ที่ทำให้คนบางพวกใช้เป็นอาชีพที่ทำรายได้อย่างมั่นคง จนเกิด “ตระกูล เอ็น.จี.โอ.” ที่ทั้งครอบครัวเป็น เอ็น.จี.โอ.สืบทอดจากแม่สู่ลูก จากพี่สู่น้อง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะถือว่าเป็นอาชีพหนึ่ง หากไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของต่างชาติ ขัดขวาง รบกวนผลประโยชน์ของประเทศไทย
นโยบายและแผนงานในระยะแรก เน้นด้าน “สิ่งแวดล้อม” หลายกรณีเป็นการรวมประชาชนต่อต้านโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าและเพื่อการชลประทาน ที่ครั้งหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกา เคยมีกลุ่มชนอเมริกันรวมตัวกันต่อต้านการพัฒนาเขื่อนฮูเวอร์ กล่าวหากันถึงขนาดเรียกร้องให้ระเบิดทำลายเขื่อนฮูเวอร์กันเลยทีเดียว แต่จนถึงปัจจุบัน เขื่อนฮูเวอร์ก็ยังตั้งเด่นสง่าท้าทายและทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับ เอ็น.จี.โอ.ที่รวมคนส่วนหนึ่งในพื้นที่ออกมาคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน นอกจากต้องผ่อนปรนตามที่ เอ็น.จี.โอ.ต้องการแล้ว กฟผ. ต้องจ่ายเงินให้ชาวบ้านต่อเนื่องหลายปี จนกล่าวกันว่า พอเงินหมด ก็มีข้อเรียกร้องใหม่ กฟผ.ก็ต้องจ่ายเงินให้อีก เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ แต่ กฟผ.มีหลักฐานไว้หมดว่าจ่ายเงินให้ใคร กี่ครั้ง จำนวนเท่าใด บางคนได้เงินกว่าล้านบาท (ค่าเงินเมื่อ 40 ปีก่อน)
เรื่องเงินหมดแล้วเรียกร้องใหม่และทางการก็ต้องจ่ายเงินให้อีกเช่นกรณีนี้ ทำให้นึกถึงผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ( ผรท.) บางกลุ่ม ที่มีเพิ่มเอยู่เรื่อย จนจำนวน ผรท.ในไทยมีมากกว่าจำนวนที่ทางการมีรายชื่อและประวัติไว้ทั่วประเทศ มีการพูดกันว่า พอเงินหมด ก็มี ผรท.เพิ่มเติม ต่อมาก็มีลูก ผรท. แล้วก็หลาน ผรท. เดี๋ยวนี้ขอรวม “แนวร่วม” พคท.เข้าไปด้วย) การต่อสู้กับ พคท.จบไปแล้ว 30 ปี แต่เรื่องเงินช่วยเหลือยังไม่จบ)
นอกจากกรณี ผรท.แล้ว ยังทำให้นึกถึงข่าวอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งช่วยเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน แล้วตนเองมาหักเปอร์เซ็นต์จากชาวบ้านทีหลัง คงคล้ายกับ เอ็น.จี.โอ.ที่ว่ามาหักเปอร์เซ็นต์จากชาวบ้านที่ได้รับเงินจาก กฟผ. พอเงินหมดก็ยุให้เคลื่อนไหวอีก
เขียนถึง เอ็น.จี.โอ. อยู่ดี ๆ ทำไมถึงเลี้ยวไปพาดพิงรัฐมนตรีได้ก็ไม่ทราบ ถือว่านำความรู้และประสบการณ์เก่า ๆ มาเล่าให้ฟังก็แล้วกัน
ที่น่าเสียดายโครงการสร้างเขื่อนใหญ่ในภาคเหนือเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน บรรเทาน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และปล่อยน้ำมาช่วยเกษตรกรในหน้าแล้ง แต่มี เอ็น.จี.โอ.จากกรุงเทพไม่กี่คนไปคัดค้านร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ พอชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่มีประชามติเห็นด้วย เอ็น.จี.โอ. ซึ่งรู้ว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนน้อยไม่ยอมไปประชุมด้วย เรื่องนี้ถือว่าเป็นกรรมของคนภาคเหนือตอนล่างด้วยที่ไม่รวมตัวกันจริงจังในการปกป้องผลประโยชน์ภูมิภาคของตน ขณะเดียวกัน ต้องตำหนิหน่วยงานของรัฐที่ไม่ทำตามแผนสำรองที่มีอยู่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนหลายล้านคน
นานมาแล้ว ผู้เขียนเคยอ่านรายงานของต่างประเทศฉบับหนึ่งซึ่ง ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “ อุปสรรคประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยเพราะไทยที่ควรจะก้าวไปไกลกว่านี้ ก็เพราะมี เอ็น.จี.โอ.บางกลุ่มขัดขวางโครงการพัฒนาของรัฐ “ เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเคยอ่านข่าวผู้นำของลาวได้ชักชวน กฟผ.ไปลงทุนในลาว เพราะ “ ลาวบ่มี เอ็น.จี.โอ.”
เอ็น.จี.โอ.ไทยมีหลายกลุ่มหลายพวก แต่ที่มีบทบาทคือกลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเด็น “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิมนุษยชน” แทนตามแนวทางของชาติตะวันตก กลุ่มการเมืองต่างช่วงชิงที่จะประกาศตนว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” และโจมตีรัฐบาลว่าเป็น “ฝ่ายเผด็จการ” และมีพฤติกรรม “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรต่างชาติ
องค์กร เอ็น.จี.โอ.ระดับระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ที่รู้จักกันดี คือ “องค์กรเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน” (แปลเอาเอง) หรือ Human Right Watch โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และ “องค์กรรนิรโทษกรรมสากล” (Amnesty International) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ส่วนทางภาครัฐ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐซึ่งได้รับรายงานจากสถานทูตจะต้องรายงานประจำปีต่อรัฐสภาอเมริกันว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อรัฐสภาจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศนั้น ๆ
ในประเทศไทย มีตัวแทนของ HRW และ Ai ที่คอยรายงานให้สำนักงานใหญ่ทราบ รายงานประจำเดือนหรือประจำปีขององค์กรเหล่านี้ก็มาจากรายงานประจำเดือนของตัวแทนคนไทยเป็นหลัก ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองไทยตั้งข้อสังเกตว่า บ่อยคร้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อประชาชน แต่ไม่มีปฏิกิริยาจากตัวแทนเหล่านี้ แต่ถ้ามีการกระทำใดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่พอประเมินให้เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ก็จะมีคำแถลงออกมาทันที
กระทรวงต่างประเทศไทยเคยตั้งข้อสังเกตต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีของ HRWในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่า ” เต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ปราศจากการนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่” และ “เราไม่ยอมรับผู้ที่อ้างตัวว่า ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแต่มีวาระแอบแฝง การกระทำเช่นนั้นสมควรถูกประณาม”
มีการวิจารณ์มากขึ้นว่า องค์กรภาคเอกชนเหล่านี้ โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน มีความหวังดี หรือก้าวก่าย หรือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลต่างชาติในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย หรือ กดดันรัฐบาลไทยให้กระทำการสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐหรืออังกฤษ งดเว้นกระทำการอันกระทบต่อผลประโยชน์ของสปอนเซอร์องค์กรเหล่านั้น
องค์กรภาคสังคม หรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐเหล่านี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลประเทศที่เป็นสปอนเซอร์ของ เอ็น.จี.โอ.เหล่านั้น ไม่เพียงรัฐบาลประยุทธ์เท่านั้น แม้แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังถูกกล่าวหาเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งบ่อยครั้งที่ถูกตีความไม่เหมือนกันระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับ การบังคับใช้กฎหมาย
มีการเปิดโปง เอ็น.จี.โอ.ในไทยที่รับเงินสนับสนุนจาก เอ็น.อี.ดี.ของสหรัฐและมูลนิธิจอร์จ โซรอส ซึ่งถูกมองว่าเป็น “องค์กรบังหน้า” ในการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในต่างประเทศ โดยองค์กรเหล่านี้ไม่เคยเปิดเผยแหล่งเงินที่ได้รับมาก่อน จนกระทั่งถูกเปิดโปง เอ็น.จี.โอ.บางแห่งไม่ได้รับเงินจากแหล่งทุนเพียงแหล่งเดียว แต่ได้รับจากหลายแหล่ง และไม่เคยเปิดเผยแหล่งทุนและการใช้จ่ายต่อสังคมแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนเกิดระแวงสงสัย ว่า องค์กรเหล่านี้มีเจตนาอย่างใดกันแน่
องค์กรพัฒนาเอกชนในไทยที่จดทะเบียนและที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้น ส่วนใหญ่ทำงานเพื่อสังคม และไม่ได้ถูกใช้โดยต่างชาติให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกดดันรัฐบาลไทย การที่มีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐมาทำงานคู่ขนานกับภาครัฐถือว่าเป็นเรื่องที่ดี การรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติในการทำงานเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย แม้แต่ภาคราชการบางส่วนก็ยังรับเงินจากหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ภาควิชาการของไทยหลายแห่งก็รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศในการวิจัย แต่ก็เป็นไปโดยเปิดเผย และตรวจสอบได้ ไม่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศแต่อย่างใด
มีเพียงองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งเท่านั้นที่ถูกสังคมวิจารณ์ในเรื่องนี้ และถูกเฝ้ามองอย่างกังวลจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ว่า องค์กรเหล่านี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยหรือทำเพื่อผลประโยชน์ของต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเงินกันแน่
การเป็น เอ็น.จี.โอ.บางครั้งก็เป็นอาชีพที่ทำรายได้ดี คนทำงานเป็น เอ็น.จี.โอ.หลายคนปกปิดแหล่งที่มาของรายได้(ไม่ทราบว่าเสียภาษีบ้างหรือไม่) และมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย จึงกลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ หากต้องการให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ก็น่าจะเปิดเผยที่มาของแหล่งเงินทุนดังเช่นที่ ดร.จอน อึ้งภากรณ์ แห่ง ไอ-ลอว์ ได้ทำเป็นตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าไม่ได้รับเงินสกปรกมาทำงานบ่อนทำลายประเทศไทย
เป็นแบบอย่างให้ เอ็น.จี.โอ.ไทยคนอื่นได้แสดงความโปร่งใส ว่าที่บางคนทำตัวหรูหรา ฟุ่มเฟือย อวดร่ำอวดรวยโดยรับจ๊อบจากต่างชาติมาทำในไทยนั้น ได้รับค่าจ้างเท่าไร เสียภาษีบ้างหรือเปล่า
เอ็น.จี.โอ.โดยทั่วไปที่รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นการดีสำหรับ เอ็น.จี.โอ.เสียอีกเพื่อให้สังคมตรวจสอบได้ว่าไม่ได้ทำสิ่งใดหรือรับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของเงิน
มีคนถามเหตุผลและที่มาทำไมกระทรวงแรงงานถึงมาดูแล เอ็น.จี.โอ.ต่างประเทศ ต้องย้อนหลังไปตั้งแต่แรก รัฐบาลขณะนั้นมองว่า อาจมีเอ็น.จี.โอ.ต่างชาติของเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งต้องมีใบอนุญาตทำงาน จึงมอบให้กระทรวงแรงงานไปดูแลก่อน เวลานี้ ควรทบทวนกันใหม่ว่าหน่วยงานใดควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ (จบ)
———————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 29 เม.ย.2564
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/651596