เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา เดลีเมลล์ รายงานว่า ชื่อ ที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัว รวมไปถึงบัญชีผู้ใช้ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กก็เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกขโมย และถูกนำมาเผยแพร่ทางออนไลน์โดยฝีมือของแฮกเกอร์ รวมไปถึงข้อมูลของ คริส ฮิวจ์ส และดัสติน มอสโควิส ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน
อารอน กัล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฮัดสัน ร็อก บริษัทข่าวกรองด้านการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ของอิสราเอล เปิดเผยว่า ฐานข้อมูลที่รั่วไหลออกมาดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นชุดเดียวกับหมายเลขโทรศัพท์ที่เชื่อมโยงกับเฟซบุ๊ก ที่หมุนเวียนกันใช้ในกลุ่มแฮกเกอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยข้อมูลดังกล่าวถูกซื้อ-ขายในหมู่อาชญากรไซเบอร์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และในตอนนี้ข้อมูลการรั่วไหลดังกล่าวสามารถถูกเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ๆ
กัลยังได้เปิดเผยอีกว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เพราะว่าเขาสามารถตรวจสอบบางข้อมูลได้ ด้วยการเปรียบเทียบกับหมายเลขโทรศัพท์ของบางคนที่รู้จัก นอกจากนี้ยังมีความพยายามของสื่อบางแหล่งยังระบุว่าสามารถตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่รู้จักกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมาได้
ทั้งนี้ข้อมูลที่รั่วไหลออกมานั้นเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กกว่า 533 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นราว ๆ 1 ใน 4 ของผู้ใช้งานทั้งหมด จาก 106 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐกว่า 32 ล้านบัญชี ในสหราชอาณาจักร 11 ล้านบัญชี และในอินเดียอีก 6 ล้านบัญชี ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
ด้าน แอนดี้ สโตน โฆษกของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนว่าข้อมูลที่รั่วไหลในครั้งนี้นั้นเป็นข้อมูลที่เก่ามาก ๆ และทางเฟซบุ๊กเองก็ได้ดำเนินการแก้ไขระบบไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2019 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และถึงแม้ว่าทางเฟซบุ๊กจะออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนแล้ว แต่กัลก็ยังกล่าวว่าการที่ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลออกมานั้น อาจจะทำให้บรรดาอาชญากรรมไซเบอร์สามารถขโมยตัวตนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ชอบได้อย่างง่ายดาย จนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เจ้าของบัญชีได้ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการปกป้องข้อมูลผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์นั้นยังมีขีดกำจัดอยู่
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากทางออนไลน์ เพราะถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ก็มีข่าวที่ทางอังกฤษนั้นเล็งปรับเฟซบุ๊กสูงสุดถึง 500,000 ปอนด์ เหตุจากกรณีที่ปล่อยให้ Cambridge Analytica นำข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก 87 ล้านบัญชีไปใช้อำนวยประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และในเดือนเมษายนปี 2019 ก็ได้มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กรั่วไหลออกมาจำนวน 540 ล้านบัญชี และในเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็มีรายงานข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรั่วอีกครั้งถึง 267 ล้านบัญชี
ที่มา : dailymail / businessinsider
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 เม.ย.2564
Link : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6274787