German subs using Russian nav systems: report
By DAVE MAKICHUK (เดฟ มาคิชุค)
05/04/2021
สื่อใหญ่เยอรมนีรายงานว่า เรือดำน้ำทันสมัยของประเทศหลายลำทีเดียวติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบนำร่องที่ทำในรัสเซีย ทำให้เกิดความกังวลกันว่าในกรณีเกิดการโจมตีทางไซเบอร์อย่างเลวร้ายที่สุด ข้อมูลด้านการเดินทางของเรือเหล่านี้อาจถูกแฮก และเรือเหล่านี้ก็จะสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติการไปโดยสิ้นเชิง
“บิลด์” (Bild) หนังสือพิมพ์รายวันขายดีที่สุดของแดนดอยช์เสนอข่าวเปิดโปงว่า เรือดำน้ำเยอรมนีที่ประจำการอยู่ในกองทัพเวลานี้ ติดตั้งระบบนำร่องที่ทำในรัสเซีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bild.de/themen/uebersicht/themenseiten/alle-themen-15838852.bild.html) รายงานนี้น่าที่จะทำให้เกิดความขนพองสยองเกล้าขึ้นในหมู่ชาติพันธมิตรนาโต้ด้วยกัน
ไม่ใช่ว่ามันเป็นระบบนำร่องที่เลวร้ายย่ำแย่หรอก แต่สิ่งซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอย่างชัดเจนก็คือ ระบบเหล่านี้อาจมีจุดอ่อนที่จะถูกก่อวินาศกรรมหรือถูกควบคุมบงการโดยพวกหน่วยงานข่าวกรองต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัสเซีย ซึ่งถูกถือเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของนาโต้เสียด้วย
ข่าวนี้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางความบาดหมางขมึงตึงระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก ในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเช่นเรื่องรัสเซียเข้าผนวกดินแดนแหลมไครเมีย และการปฏิบัติที่มอสโกกระทำกับพวกฝ่ายค้านภายในประเทศของตน
ยิ่งกว่านั้น วังเครมลินยังกำลังระดมกำลังทั้งรถถัง, กองทหาร, และเฮลิคอปเตอร์ ไปอยู่ตรงแถวๆ ชายแดนรัสเซียที่ประชิดกับยูเครน กลายเป็นสัญญาณเตือนภัยอันตรายอย่างแรงขึ้นที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเยอรมนีที่ไม่มีการเอ่ยนามรายหนึ่งบอกกับ บิลด์ ว่า “แน่นอนล่ะ เรารู้สึกกังวลว่าข้อมูลของเราจะถูกแอบดักฟัง ตัวอย่างเช่นโดยฝีมือของพวกหน่วยข่าวกรองต่างชาติ”
ตามรายงานของสื่อใหญ่รายนี้ ในปี 2005 ช่วงที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันยังคงมีชื่อว่า แกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ เรือของกองทัพเรือเยอรมันราวๆ 100 ลำได้รับการติดตั้งระบบนำร่องรุ่นใหม่ ซึ่งมาจาก ทรานซัส (Transas) บริษัทรัสเซียที่ก่อตั้งขึ้นในเมืองเซนต์ปิเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 1990
ในเวลาต่อมา รัฐบาลเยอรมันก็ยังคงตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ ทรานซัส และตามรายงานของ บิลด์ ได้มีการติดตั้งระบบนำร่อง ที่มีชื่อรุ่นว่า เนวิ เซเลอร์ 4100 (Navi Sailor 4100) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ใช้นำร่อง ทั้งในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง, ระดับความเร็ว, และเส้นทาง ในเรือดำน้ำทันสมัยที่สุดของเยอรมนี ทั้ง อู-35 (U-35 ถูกนำออกปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2015) และ อู-36 (ถูกนำออกปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2016)
ทรานซัส ยังถูกนำไปติดตั้งในกองเรือรัสเซีย โดยที่มีโปรแกรมจำลองการสู้รบ (combat simulator) ด้วย รวมทั้งได้รับรางวัลจาก พลเอก นิโคไล มาคารอฟ (Gen. Nikolai Makarov) ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียในช่วงปี 2007-2012
ในปี 2018 บริษัทนี้ถูกซื้อไปโดยบริษัทฟินแลนด์ชื่อ วาร์ตซิลา (Wartsila) ทว่าแผนกงานด้านอาวุธยังคงอยู่ในมือของฝ่ายรัสเซีย
พวกอดีตวิศวกรของ ทรานซัส เวลานี้กำลังทำงานพัฒนาพวกโดรนสู้รบให้แก่กองทัพรัสเซีย และเนื่องจากมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับกลไกความมั่นคงของรัสเซียเช่นนี้เอง กิจการส่วนนี้ของ ทรานซัส จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษจากพวกหน่วยข่าวกรองฝ่ายตะวันตก ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหลายราย
รายงานของ บิลด์ อ้างว่า วิธีเข้ารหัสข้อมูลของระบบนำร่อง “ทรานซัส” ซึ่งใช้อยู่ในเรือดำน้ำเยอรมนีนั้น ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของฝ่ายทหาร นี่ดูเหมือนเป็นการมุ่งอ้างอิงไปถึงมาตรฐานขององค์การนาโต้ ซึ่งเยอรมนีเป็นภาคีสมาชิกรายหนึ่ง
“ระหว่างที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์อย่างเลวร้ายที่สุด ข้อมูลการนำร่องอาจจะถูกแฮ็ก และเรือดำน้ำก็จะสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติการไปอย่างสมบูรณ์” บิลด์ อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งไม่มีการระบุชื่อ
รายงานข่าวชิ้นนี้ยังชี้ว่า ฝ่ายรัสเซียนั้นบางครั้งก็มีความเคลื่อนไหวทางนาวีในบริเวณประชิดกับแนวชายฝั่งด้านทะเลบอลติกของเยอรมนี
ขณะที่ทางด้าน โทเบียส ลินด์เนอร์ (Tobias Lindner) ส.ส.อาวุโสที่สุดของพรรคกรีนส์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในคณะกรรมาธิการกลาโหมของสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี แสดงท่าทีว่าต้องระมัดระวังถึงอันตราย ภายหลังทราบรายงานข่าวของ บิลด์
กองทัพเยอรมนีต้องทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า ซอฟต์แวร์นำร่องของกองทัพเรือของตน ไม่ได้เป็นช่องทางทำให้เกิดการรั่วไหลในด้านความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมา กระทรวงกลาโหมต้องรีบออกมาอธิบายโดยเร็วว่าทำไมจึงไม่ใช้ซอฟต์แวร์จากผู้ผลิตสักรายหนึ่งในหมู่ประเทศนาโต้” ลินด์เนอร์ บอก
ช่วงปีหลังๆ มานี้ เยอรมนีกลายเป็นเวทีของการถูกโจมตีเล่นงานทางไซเบอร์มาหลายครั้งแล้ว
เบอร์ลินเชื่อว่าหน่วยข่าวกรองรัสเซียคือผู้อยู่เบื้องหลังการแอบเจาะข้อมูลเมื่อปี 2015 ซึ่งมีข้อมูล, เอกสาร, และอีเมลรวมทั้งหมดประมาณ 16 กิกะไบต์ ถูกดูดไปจากเครือข่ายไอทีของรัฐสภาเยอรมนี ในจำนวนนี้รวมถึงอีเมลจากสำนักงานประจำรัฐสภาของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายราย อย่างเช่น เจเรมี ชโตส์ (Jeremy Stohs) นักวิเคราะห์ด้านนาวีที่ทำงานกับมหาวิทยาลัยคีล (University of Kiel) ในภาคเหนือของเยอรมนี มองว่า รายงานข่าวเช่นนี้อาจจะมีการพูดขยายความจนเกินความเป็นจริง “เราควรต้องสันนิษฐานว่า จะต้องมีการพิจารณากันอย่างตระหนักสำนึกกันมากๆ ทีเดียวในเรื่องจะนำเอาระบบชนิดไหนมาติดตั้งในเรือดำน้ำไม่กี่ลำที่เยอรมนีมีอยู่” เขาบอกกับสื่อ ดีเฟนส์ นิวส์ (Defense News)
“ผมจะต้องใช้ความระวังรอบคอบมากๆ เลยกับสมมุติฐานที่ว่า เรือดำน้ำเยอรมัน ‘กำลัง เดินเรือด้วยการนำร่องของรัสเซีย’ อย่างที่รายงานข่าวนี้อาจจะพยายามทำให้คุณเชื่อ” เขากล่าวต่อ
สำหรับ วาร์ตซิลา บริษัทฟินแลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของ ทรานซัส ส่วนที่เป็นกิจการพลเรือน แถลงยืนยันว่า ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจการด้านการทหาร พร้อมกันย้ำว่าตนปฏิบัติตามมาตรฐานทางอุตสาหกรรม รวมทั้งเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์
ขณะที่เว็บไซต์ของ วาร์ตซิลา ระบุว่า ตนเป็นผู้จัดหาจัดจำหน่ายระบบชาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้โดยพวกกิจการเดินเรือทะเลและท่าเรือต่างๆ ประมาณ 35% ของทั่วโลก และอุปกรณ์จำลองที่ปกติแล้วใช้เพื่อการฝึกอบรมประมาณ 35% ของทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังคุยว่า อุปกรณ์สำหรับใช้บนเรือและบริการข้อมูลของตน มีใช้กันในเรือพาณิชย์และเรือตรวจการณ์กว่า 13,000 ลำของกองเรือนาวีและกองเรือยามฝั่ง 100 ประเทศ
(ที่มา: Bild, Anadolu Agency, DW.com, UK Defence Journal โดยที่ผู้แปลได้เพิ่มเติมข้อมูลซึ่งมาจากจาก C4ISR, Frontier India)
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 เม.ย.2564