PDPA BEGINS : เพื่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์มาอย่างยาวนาน ในอดีตการเรียกร้องความเป็นส่วนตัวจะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นส่วนตัวทางกายภาพ (Physical Privacy) หมายถึงสิทธิอันชอบธรรมในการอยู่อย่างสันโดดและปลอดภัยจากการรบกวนจากบุคคลภายนอก เช่น บุคคลอื่น องค์กร หรือแม้กระทั่งหน่วยงานจากภาครัฐ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการสื่อสารข้อมูลระหว่างกันผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ข้อมูลส่วนบุคคลจึงหลั่งไหลเข้าไปอยู่บนระบบมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการความส่วนตัวด้านสารสนเทศ (Information Privacy) และรวมไปถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Privacy) เจ้าของข้อมูล (Data Subject) จะต้องมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ต่อข้อมูลของตนที่จะให้บุคคลอื่นหรือองค์กรต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ตามความยินยอม (Consent) ที่อนุญาตเท่านั้น เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว ผลประโยชน์ และปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act – PDPA) ที่จะมีผลบังคับใช้ในกลางปี 2564 นี้ จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลมั่นใจได้ว่า ข้อมูลของตนที่อนุญาตให้องค์กรนำไปใช้มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและมีระบบการป้องกันข้อมูลที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย การที่องค์กรจัดเก็บและนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูล และองค์กรจะกลายเป็นผู้กระทำความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาตามบทลงโทษของกฎหมาย ดังนั้นก่อนที่ พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง องค์กรต่าง ๆ…