บีเวอร์ป่วน! แทะสายไฟเบอร์ เน็ตล่มทั้งเมือง

Loading

  เมื่อวันที่ 26 เมษายน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เหล่าบีเวอร์จากเมืองทัมเบลอร์ ริดจ์ เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาถูกตำหนิว่าเป็นตัวการที่ทำให้อินเทอร์เน็ตล่มเป็นเวลาเกือบ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 04.00 น.ของวันที่ 24 เมษายนตามเวลาท้องถิ่น โดยนางลิซ โซเว โฆษกของบริษัท Telus ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ของแคนาดาระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังฝายกั้นน้ำใกล้เคียงก็ได้พบกับเหล่าบีเวอร์ที่กำลังเคี้ยวสายไฟเบอร์ของบริษัทอยู่หลายจุด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้สายเคเบิลใต้ดินบางส่วนถูกพบอยู่ที่รังของพวกบีเวอร์อีกด้วย ทั้งนี้สายเคเบิลถูกฝังอยู่ใต้ดินลึกลงไป 1 เมตรและถูกปกป้องอีกชั้นด้วยฉนวนหุ้มสายไฟหนา 12 เซนติเมตร ซึ่งพวกบีเวอร์สามารถใช้ฟันที่แข็งแรงกัดทะลุได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตราว 900 รายและผู้ใช้บริการโทรทัศน์อีก 60 รายที่ได้รับผลกระทบ ก่อนที่บริษัท Telus จะทำการซ่อมแซมเครือข่ายทั้งหมดได้ในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 25 เมษายน ทั้งนี้บีเวอร์เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศแคนาดา ถูกขนานนามว่าเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม จากความสามารถในการสร้างฝายกั้นน้ำตามธรรมชาติ   ———————————————————————————————————————————————– ที่มา :  มติชนออนไลน์    / วันที่เผยแพร่  27 เม.ย.2564…

แคสเปอร์สกี้เตือนระวังทูลร้าย ใช้อีเมลแอดเดรสเชื่อมโยงบัญชี Facebook แนะผู้ใช้เปลี่ยนพาสเวิร์ด

Loading

  นายเดนิส เลเกโซ นักวิจัยอาวุโสด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ทีมวิเคราะห์และวิจัยระดับโลก (GReAT) ของแคสเปอร์สกี้ กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องทูลที่สามารถรวบรวมอีเมลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและเชื่อมโยงเข้ากับบัญชี ว่า ทูลนี้ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงที่อยู่อีเมลกับบัญชีเฟซบุ๊ก แม้ว่าผู้ใช้หรือกลุ่มบนเฟซบุ๊กจะตั้งค่าเลือก “ไม่แสดงอีเมลแอดเดรส” วิธีการป้อนรายชื่ออีเมลแอดเดรสจำนวนมาก จะสามารถโจมตีบัญชีเฟซบุ๊กแบบ brute-force เพื่อค้นหาว่าอีเมลแอดเดรสใดลงทะเบียนกับชื่อบัญชีใด ฐานข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้เพิ่มเติมเพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดจริยธรรมและผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การก่อกวนหรือกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ เนื่องจากบัญชีโซเชียลมีเดียมีข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก ด้วยช่องโหว่ส่วนเสริมหน้านี้ ผู้โจมตีสามารถเพิ่มฐานข้อมูลของตนได้ ตัวอย่างเช่น สามารถเพิ่มชื่อเต็มและข้อมูลอีเมลแอดเดรสที่เชื่อมโยงกับบัญชีเฟซบุ๊กเหล่านี้ได้ แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำว่า หากผู้ใช้เฟซบุ๊กกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ควรลงทะเบียนบัญชีโซเชียลมีเดียกับอีเมลแอดเดรสที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับบัญชีอื่น มีบริการเฉพาะที่เปิดใช้งานรูปแบบนี้และจะป้องกันไม่ให้อาชญากรไซเบอร์ใช้ข้อมูลดังกล่าวได้หากมีการรั่วไหล   ———————————————————————————————————————————- ที่มา : TechTalkThai    / วันที่เผยแพร่  26 เม.ย.2564 Link : https://www.techtalkthai.com/guest-post-kaspersky-facebook-email/