ในบทความ “การปรับปรุงองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนด้วย Digital Transformation ตอนที่ 2” จะนำเสนอความเป็นมาขององค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน เพื่อให้เห็นถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจนขององค์การนี้กับแนวโน้มที่ส่อถึงการลดค่าความเป็นองค์การ ไปพร้อมกับบทบาทการดำเนินการรักษาความปลอดภัยหรือการรักษาความลับของทางราชการให้แก่หน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือนเพิ่มมากขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับกฎหมายและสภาพสังคมในปัจจุบัน
เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นสำคัญต่อการพิจารณาความคุ้มค่าในการนำ Digital Transformation มาปรับวิถีการปฏิบัติงานขององค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ทั้งในแง่การใช้ระยะเวลาดำเนินการจนบรรลุผล รวมกับต่อหน่วยการลงทุนที่นำมาจากงบประมาณของประเทศอีกด้วย
ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความลับของทางราชการทุกระเบียบต่างกำหนดให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติทำหน้าที่องค์การรักษาความปลอดภัยสำหรับหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือน โดยให้รับผิดชอบหน่วยงานรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ตามระบบบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วยฝ่ายบริหารราชการส่วนกลาง ฝ่ายบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และฝ่ายบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมีหลากหลายประเภท ทั้งหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือนบางประเภท ระเบียบราชการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความลับของทางราชการก็มิได้ครอบคลุมถึง เช่น องค์การมหาชน หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ เป็นต้น
ดังนี้องค์การรักษาความปลอดภัยสำหรับหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือน จึงแตกต่างกับองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหารหรือฝ่ายตำรวจ ที่รับผิดชอบเฉพาะภายในหน่วยงานประเภทเดียวกันเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือนที่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แต่เหล่านี้อยู่ในขอบเขตนิยามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังนั้นคำสั่งใด ๆ สำหรับการปฏิบัติ จึงต้องเคารพสิทธิหน่วยงานรัฐเหล่านี้ไปพร้อมด้วย
ต่อกรณีที่องค์การรักษาความปลอดภัยจะทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ กำกับดูแล พิจารณาแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อให้ระบบการรักษาความปลอดภัยหรือการรักษาความลับของทางราชการได้ผลสมบูรณ์อยู่เสมอ ย่อมต้องกำหนดขอบเขตที่แน่ชัด เพราะมีโอกาสกระทบหรือไม่สอดคล้องกับวิธีและระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานรัฐอื่นในฝ่ายพลเรือน โดยเฉพาะหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งใหม่ หรือเป็นผลจากกฎหมายที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน หรืออาจกระทบกับบุคคลที่เข้ามาปฏิบัติงานให้หน่วยงานรัฐในฝ่ายพลเรือน
ตัวอย่างความไม่ชัดเจนจากแนวปฏิบัติที่ไม่รองรับกันระหว่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 กับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กล่าวคือ ข้อ 28 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้นสังกัดนำผลการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลขององค์การรักษาความปลอดภัยมาประกอบการพิจารณาการรับรองความไว้วางใจให้บุคคลใดได้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของราชการ โดยมิได้ระบุถึงโอกาสที่จะให้เจ้าของประวัติได้รับทราบผลการตรวจสอบประวัติขององค์การรักษาความปลอดภัย
แต่หากเจ้าของประวัติเห็นว่าผลการตรวจสอบประวัติฯ ที่ดำเนินการตามข้อ 28 ของระเบียบข้างต้นเป็นเหตุกระทบผลประโยชน์แล้ว เจ้าของประวัติสามารถฟ้องร้องหน่วยงานรัฐต้นสังกัดตามมาตรา 30 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่ว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”
ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่กรณีเมื่อปี 2563 ที่กระทรวงมหาดไทยไม่รับรองให้นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ ได้รับตำแหน่งกรรมการสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยมีเหตุผลมาจากหนังสือของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ส่งถึงอธิบดีกรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร อ้างว่าพบพฤติกรรมของนายเนติวิทย์ฯ ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทำให้นายเนติวิทย์ฯ ฟ้องร้องอธิบดีกรมการปกครองต่อศาลปกครองด้วยเหตุผลว่า ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 เกี่ยวกับการกำหนดให้องค์การรักษาความปลอดภัยทุกฝ่ายดำเนินการตามคณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรช.) เมื่อมีนโยบายหรือกำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ทั้งยังให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ซึ่งตามที่ระเบียบข้างต้นกำหนดให้เป็นสำนักงานเลขานุการของ กรช. ทำหน้าที่ทับซ้อนองค์การรักษาความปลอดภัยทุกฝ่ายอีกด้วย
ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ที่ระบุถึงหน้าที่ของสำนัก 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานในสํานักข่าวกรองแห่งชาติที่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความลับของทางราชการ โดยกฎกระทรวงดังกล่าวระบุถึงหน้าที่ของสำนัก 10 ที่ให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและอยู่นอกเหนืออำนาจของระเบียบราชการที่กำหนดให้ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน
อีกทั้งยังเป็นการให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพียงหน่วยเดียวที่ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน การออกคำสั่งหรือกำหนดมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยหรือการรักษาความลับของทางราชการ ก็อาจส่งผลกระทบกับเอกชนเหล่านี้อยู่ในขอบเขตนิยามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งให้สิทธิภาคแอกชนในการโต้แย้ง ฟ้องอุทธรณ์ หรือขอให้เพิกถอนคำสั่งหรือมาตรการต่างๆ ที่มาจากระเบียบได้เช่นกัน
ความสับสนจากความเป็นจริงของระเบียบปฏิบัติ ประกอบกับความไม่แน่ชัดถึงอำนาจบังคับบัญชาหรืออำนาจบริหารหน่วยงานรัฐขององค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเช่นนี้ ทำให้ต้องเตรียมประเมินถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินการในอนาคต ฉะนั้นการนำเอา Digital Transformation มาปรับใช้ โดยมุ่งหวังที่จะให้องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้อย่างยากลำบากตราบเท่าที่ความสับสนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และการบริหารจัดการยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้จบสิ้น
————————————————————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร / วันที่เผยแพร่ 21 เมษายน 2564
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน