-
-
Great Firewall คือกำแพงกรองข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตภายนอกของจีน มีความเป็นไปได้ว่าโมเดลที่ทำให้รัฐสามารถควบคุม คัดกรอง การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตของประชาชนกำลังถูกนำมาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-
หากมีระบบสอดส่องของรัฐเกิดในประเทศที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยังมีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือดิจิทัลจำกัด อาจนำไปสู่การเซนเซอร์ตัวเองของสื่อและผู้ใช้งาน ด้วยเหตุผลความกังวลว่าจะถูกจับตามอง
-
เทคโนโลยี firewall ไม่ได้ติดตั้งยากเหมือนที่คิด เพียงแค่ปรับแต่งเล็กน้อย เช่น ภาษาและคำสำคัญของแต่ละประเทศ รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้สามารถปรับแต่งค่าบางอย่างได้ตามสถานการณ์ได้
-
ถ้าพูดคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ ในยุคนี้ก็คงโดนหรี่ตามองว่า “ไปอยู่ที่ไหนมา” เพราะมันกลายเป็นความปกติสามัญเหมือนแอปเปิลตกจากต้นตามแรงโน้มถ่วง
สำหรับบางประเทศ โลกาภิวัตน์ไม่ใช่สัจธรรม แต่เป็นทางเลือกที่พวกเขาอยากเปิดรับเฉพาะบางแง่มุม การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อของโลกอาจเป็นโอกาส แต่ของแถมคือภัยคุกคาม ‘ความมั่นคง’ ของรัฐ ชนชั้นนำ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ ทำให้รัฐต้องสรรหานวัตกรรมต่างๆ มารับมือในแบบของตัวเอง โดยไม่ถึงขั้นสุดโต่งปิดตายการไหลเวียนของข้อมูลเสียสนิท จนปิดกั้นโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นวัตกรรม ‘Great Firewall’ คือกำแพงกรองข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตภายนอกของจีน แม้จะเชื่อมต่อได้จริง แต่ก็ไม่เปิดเสรีจนผู้นำรัฐกังวล
จะเป็นอย่างไร หากโครงสร้างอินเทอร์เน็ตรูปแบบนี้เป็นที่แพร่หลาย เพราะลงล็อกตอบโจทย์กับความกังวลของผู้วางนโยบายอินเทอร์เน็ตของรัฐต่างๆ หลังจากจีนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำได้ จนเป็นแรงบันดาลใจให้หลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ้านใกล้เรือนเคียงของเราเอง อย่างเมียนมาและกัมพูชา ต้องทำตาม
เพื่อร่วมสำรวจสถานการณ์เสรีภาพในอินเทอร์เน็ตร่วมกัน DigitalReach องค์กรศึกษาผลกระทบจากเทคโนโลยีต่อสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและบุคคลทั่วไปมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกันในหัวข้อ ‘From Beijing with Love: The Internet Firewall in Southeast Asia’ เมื่อวันพุธที่ 17 มีนาคม 2021 ผ่านช่องทางออนไลน์ Zoom Webinar
กำแพงอินเทอร์เน็ตในเมียนมาและกัมพูชา
ฮวาง เงวียน ฟอง (Hoàng Nguyên Phong) จาก Open Technology Fund นักวิจัยด้านความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ผู้กำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ Great Firewall (GFW) ร่วมกับ Citizen Lab มหาวิทยาลัยโตรอนโต เริ่มสนทนาด้วยการปูพื้นความเข้าใจเกี่ยวกับกำแพงที่โอบล้อมโลกอินเทอร์เน็ตในจีน โดยเปรียบเปรยกับภาพกำแพงเมืองจีนในอดีต ที่แตกต่างคือ กำแพงนี้ไม่ได้สร้างล้อมรอบเป็นแนวยาวเหมือนในโลกกายภาพ แต่กลับเป็นปราการที่กั้นเฉพาะจุดที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภายในเชื่อมต่อเข้ากับสายเคเบิลใต้น้ำออกไปยังโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในโลกภายนอก
ฟองฉายภาพแผนที่โครงข่ายสายเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมเข้ากับจุดต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่และกราฟิกรูปกำแพงเพื่อให้เห็นภาพว่า เมื่อผ่านกำแพงนี้เข้าไปแล้ว ประสบการณ์ในโลกอินเทอร์เน็ตจะไม่เป็นแบบเดียวกับหลายๆ ที่ทั่วโลก ทั้งการควบคุมทราฟฟิกและความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ลดลง เพราะเส้นทางข้อมูลที่เชื่อมกับโลกภายนอกทั้งเข้าและออก ต้องเดินทางผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การเซนเซอร์และสอดส่องจากภาครัฐ
เมื่อพูดเจาะลงไปถึงความเป็นไปได้ที่เมียนมาหรือกัมพูชาจะลองเลือกใช้วิธีการนี้ ฟองอ้างอิงรายงานข่าวใน Financial Times ที่ระบุถึงข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพเมียนมาทำการรัฐประหาร และสั่งบริษัทโทรคมนาคมให้ปิดระบบอินเทอร์เน็ตยามวิกาลจนถึงเช้าหลายคืนติดต่อกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า คณะรัฐประหารกำลังพยายามติดตั้งระบบเซนเซอร์เว็บไซต์ โดยมีทางการจีนคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ลับๆ
แม้ผู้นำรัฐประหารจะปฏิเสธหนักแน่นว่า ถ้าทำจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องให้จีนช่วย เพราะมีความสามารถมากพอ แต่ก็ยังมีข่าวลือบนโซเชียลมีเดียในเมียนมาว่า ระหว่างที่ประเทศสั่งปิดน่านฟ้านั้น เว็บไซต์ตรวจสอบติดตามการเดินทางของเครื่องบินกลับตรวจพบว่ามีไฟลต์ขนส่งสินค้าบินระหว่างคุนหมิงและย่างกุ้ง กลุ่มผู้ประท้วงจึงคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าเครื่องบินเหล่านี้เป็นพาหนะที่อาจขนเทคโนโลยีปิดกั้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเข้ามา หรือบ้างก็ลือถึงขั้นว่าอาจเป็นกองทัพทหารจีนก็เป็นได้
ดูเหมือนข่าวลือจะยังมีสถานะเป็นข่าวลือ หอการค้าจีนแห่งย่างกุ้งเพียงแค่ออกมาบอกว่า ไม่ควรเผยแพร่ “ข่าวลือผิดๆ” ออกไป และระบุว่า ไฟลต์ไป-กลับเหล่านั้นเป็นแค่การนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั่วๆ ไป เช่น อาหารทะเล
ความกังวลต่อการสอดส่องของรัฐ
อีกด้านหนึ่ง ตามข่าวของ Reuter เหตุการณ์ที่กัมพูชาแน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติลักษณะเดียวกับจีน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 บังคับให้ผู้ใช้ยืนยันตัวตน และหากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่เชื่อมต่อกับเกตเวย์ดังกล่าวก็จะโดนระงับใบอนุญาตและยึดทรัพย์
แน่นอนว่าเกิดเสียงฮือฮาในกัมพูชา ด้วยความกังวลว่าการท่องโลกออนไลน์จะถูกควบคุมและสอดส่อง คุกคามเสรีภาพ แม้ทางรัฐบาลจะอ้างว่าทำไปเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบรายได้ในการจัดเก็บภาษี เพื่อความมั่นคงของรัฐ และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม วัฒนธรรม และประเพณี
ฟองแสดงความกังวลว่า หากการติดตั้งเกตเวย์เกิดขึ้นในประเทศที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยังมีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือดิจิทัลจำกัด อาจนำไปสู่การสอดส่องขนานใหญ่ การเซนเซอร์ตัวเองของสื่อและผู้ใช้งาน ด้วยเหตุผลความกังวลว่าจะถูกจับตามอง
และที่ร้ายแรงคือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จอย่างแพร่หลายโดยการสนับสนุนของรัฐเอง
เขาบอกว่า แม้ในบางประเทศจากโลกตะวันตกจะอนุญาตให้ติดตามสอดส่องข้อมูลเพื่อความมั่นคง แต่อย่างน้อยประเทศเหล่านั้นยังมีกรอบกฎหมายที่ระบุชัดว่า สามารถกระทำได้ในกรณีใด อย่างไร และประชาชนก็มีความรู้เรื่องและเข้าใจเทคโนโลยีมากพอที่จะระวังตัวเอง แต่ในกลุ่มประเทศที่ยังขาดกรอบกฎหมายที่ชัดเจน ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง
ผู้เข้าร่วมเสวนาจากกัมพูชาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า เขาเห็นด้วยว่าการติดตั้งเกตเวย์จะทำให้คนกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เพราะแม้กระทั่งตอนนี้บางคนก็ยังกลัว เนื่องจากไม่ค่อยเข้าใจการทำงานของอินเทอร์เน็ตดีนัก ถึงขนาดไม่กล้าแม้แต่จะ ‘อ่าน’ ข้อความที่อาจเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เพราะอาจถูกจ้องมองจับผิดอยู่
การเซนเซอร์ออนไลน์ทำได้ง่ายกว่าที่คิด
ดร.แอกเซล ฮาร์ไนท์-ซีเวอร์ส (Axel Harneit-Sievers) จาก Heinrich Böll Foundation ในย่างกุ้ง แสดงความเห็นว่า ก่อนเกิดรัฐประหารในเมียนมา มีการใช้งานเฟซบุ๊กอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีว่าเมียนมาเริ่มมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น แต่ก็ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ที่มักถูกนำไปใช้ฟ้องร้องเพื่อปิดปากผู้วิจารณ์ และส่วนมากผู้ฟ้องมักเป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมือง
และสำหรับเขาแล้ว ข่าวลือที่ว่าหน่วยงานจีนให้ความช่วยเหลือเมียนมา ยังมีหลักฐานน้อยเกินกว่าจะบอกได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง
ฮาร์ไนท์-ซีเวอร์สตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า สำหรับเมียนมา การติดตั้ง firewalll สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้นจริงหรือไม่ เพราะ firewall ไม่ใช่เทคโนโลยีชิ้นเดียว แต่ต้องอาศัยระบบต่างๆ เช่น ระบบการคัดกรอง ซึ่งไม่น่าเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ติดตั้งได้เลยทันทีเพื่อสนองความต้องการของรัฐบาล
ฟองตอบคำถามเรื่องความยากง่ายว่า แท้จริงแล้วการส่งออกเทคโนโลยีลักษณะนี้เป็นเรื่องค่อนข้างง่าย เพียงแค่ต้องปรับแต่งเล็กน้อย เช่น ภาษาและคำสำคัญของแต่ละประเทศ รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้สามารถปรับแต่งค่าบางอย่างได้ตามสถานการณ์ได้
คีธ แมคมานาเมน (Keith McManamen) นักวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์จาก Psiphon แอปพลิเคชันให้บริการเทคโนโลยีการหลบหลีกการเซนเซอร์ โดยอาศัยเทคโนโลยี VPN, SSH และ HTTP Proxy เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการที่ถูกปิดกั้นได้ แมคมานาเมนแสดงให้เห็นกราฟสถิติผู้ใช้งานแอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตามการเซนเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ
เขาบอกว่า Psiphon อาจจะคล้าย VPN แต่ถูกออกแบบมาเพื่อหลบหลีกการเซนเซอร์โดยเฉพาะ และทำให้ไม่ถูกกรองโดยระบบภายในพื้นที่ จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้ นอกจากเข้าถึงได้ง่าย (ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าต้องดาวน์โหลดผ่าน store ต่างๆ ที่อาจถูกบล็อก) และภาษาที่เหมาะกับผู้ใช้งาน แต่ยังรวมถึงการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับระบบการเซนเซอร์แบบต่างๆ ที่ล้ำหน้าขึ้นเป็นเงาตามตัว
แมคมานาเมนกล่าวเสริมเรื่องเมียนมาและกัมพูชาว่า แม้บุคลากรจะยังไม่พร้อม แต่ทุกวันนี้มีบริษัทเอกชน เช่น บริษัทในยุโรปหรือแคนาดาที่นำเสนอวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ให้กับรัฐบาลที่ไม่มีบุคลากรเพียงพอต่อการพัฒนาและควบคุมระบบเซนเซอร์ได้เอง สามารถเลือกสิ่งที่ต้องการเซนเซอร์ได้ แต่ซิโมเนกล่าวว่า หากเป็นกรณีที่บุคลากรภายในหน่วยงานไม่พร้อม ก็ยังถือว่าประเทศเหล่านี้ยังไม่มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้อย่างเป็นเอกเทศ และต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ อยู่ดี
ฟองกล่าวเสริมแมคมานาเมนว่า เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายสำหรับรัฐบาลที่จะนำไปใช้งานได้ทันที และหากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเมียนมาและกัมพูชาเริ่มใช้งาน ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็อาจมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะทำตามๆ กัน
“ผมจึงเชื่อว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่จะต้องรับรู้เรื่องนี้ และส่งเสียงออกไปเพื่อต่อต้านการติดตั้งระบบเซนเซอร์นี้ และขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเครื่องมือที่จะช่วยพวกเขาต่อกรกับการเซนเซอร์”
การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในพม่าหลังรัฐประหาร
ซิโมเน บาสโซ (Simone Basso) จาก Open Observatory of Network Interference (OONI) โครงการฟรีซอฟต์แวร์ที่อาศัยกำลังอาสาสมัครจากทั่วโลกช่วยกันตรวจวัดการเซนเซอร์ในอินเทอร์เน็ต โดยให้อาสาสมัครที่ติดตั้งแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ OONI Probe เพื่อให้แอปพลิเคชัน ตรวจสอบและประเมินด้วยการติดตามเส้นทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตว่ามีการบล็อกหรือแทรกแซงด้วยเครื่องมือเซนเซอร์หรือไม่ ตั้งแต่ขั้นตอนพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ สู่ DNS, IP address, ไปจนถึงปลายทางเว็บเพจ ที่สุดท้ายอาจจะมีการบล็อกหรือเบี่ยงเส้นทางได้
รายงานของ OONI ในปี 2017 ยังระบุว่า เมียนมามีเสรีภาพในอินเทอร์เน็ต แต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 มีรายชื่อ 230 เว็บไซต์ ที่ผู้ให้บริการเน็ตถูกสั่งให้ระงับการเข้าถึง และในจำนวนนั้น 67 เว็บไซต์ถูกปิดด้วยข้อกล่าวหาฐานเผยแพร่ข่าวปลอม อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเผยแพร่รายชื่อเว็บไซต์เหล่านี้
รายงานอีกฉบับของ OONI ระบุว่า หลังรัฐประหารไม่กี่วัน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ในเมียนมาเริ่มปิดกั้นการเข้าถึงบริการเฟซบุ๊ก และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ก็เริ่มบล็อกทวิตเตอร์และอินสตาแกรมด้วย วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ระบบการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตทั้งหมดถูกปิดต่อเนื่อง 30 ชั่วโมง แม้อินเทอร์เน็ตจะกลับมาใช้การได้ แต่โซเชียลมีเดียต่างๆ ยังคงถูกปิดกั้น
ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเมียนมาถูกปิดกั้นทุกคืน ช่วงตี 1 ถึง 9 โมงเช้า ล่าสุด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบางรายเริ่มปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์วิกิพีเดียด้วย และสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าอาจมีการติดตั้ง firewall อาจเป็นเรื่องความเร็วของอินเทอร์เน็ตสู่เว็บไซต์ภายนอกที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“คำถามที่ว่า มีการติดตั้ง Great Firewall ในเมียนมาไหม เป็นคำถามที่ต้องใช้เวลา และต้องอาศัยความร่วมมือขององค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการ ให้เข้ามาค้นหาความจริงร่วมกัน”
Great Firewall ส่งผลต่อธุรกิจการพัฒนาแอปพลิเคชัน
สุธาวัลย์ ชั้นประเสริฐ ผู้ประสานงานการวิจัยอินเทอร์เน็ต DigitalReach ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า การติดตั้ง Great Firewall จะส่งผลต่อการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ หรือไม่ เช่น ในจีนมีโซเชียลมีเดียของตัวเอง ในขณะที่เมียนมาและกัมพูชา ผู้คนยังใช้แอปพลิเคชันยอดนิยม อย่างเฟซบุ๊กและเมสเซนเจอร์อยู่
ฟองกล่าวว่า เขาเชื่อว่าฟังก์ชันของแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่มีอะไรต่างกันมาก แต่เป็นเรื่องความเชื่อมั่นของผู้ใช้งาน ที่พวกเขารู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวอยู่ ขณะที่แอปพลิเคชันของจีนมาพร้อมกับความรู้สึกหวาดระแวงการเฝ้าจับตามอง เรื่องที่น่ากังวลก็คือ หากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดตั้งระบบ Great Firewall โดยอาศัยเทคโนโลยีจากจีน ก็อาจมีผลต่อความเป็นธรรมในการแข่งขันของแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ระบบ firewall อาจส่งผลให้ความเร็วในการเข้าถึงบริการแอปพลิเคชันจากตะวันตกช้าลง
ไม่เพียงแค่ความเป็นธรรมในเชิงธุรกิจ หากปล่อยให้รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเดียวกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เต็มๆ รัฐบาลอาจรวบรวมข้อมูลทราฟฟิกและสร้างโปรไฟล์ของบุคคลจากรายการและความถี่ในการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ผ่าน IP address ว่าคนคนนี้หรือครัวเรือนนี้มีแววต่อต้านรัฐบาล และต้องได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ กลายเป็นภัยต่อเสรีภาพของบุคคลในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเลยก็เป็นไปได้
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 เม.ย.2564
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2055061