ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก เมื่อต้นเดือนนี้มีรายงานข่าวการทดสอบอาวุธที่ดินแดนใกล้ขั้วโลกของรัสเซีย
เมื่อวันที่ 5 เมษายน CNN รายงานว่า รัสเซียกำลังเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารอย่างไม่เคยมีมาก่อนในดินแดนอาร์กติก (แถบขั้วโลกเหนือ) และทำการทดสอบอาวุธใหม่ล่าสุด CNN คาดว่ารัสเซียกำลังต้องการปกป้องชายฝั่งทางตอนเหนือของตนและเปิดเส้นทางเดินเรือจากเอเชียไปยังยุโรป ในช่วงเวลาที่น้ำแข็งแถบขั้วโลกเหนือกำลังละลายเพราะภาวะโลกร้อน จากเดิมที่เส้นทางนี้เดินทางได้ยากเพราะมีน้ำแข็งปกคลุม
จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ส่งให้ CNN โดยบริษัทดาวเทียม Maxar เมื่อต้นเดือนนี้ทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว รายงานระบุว่ารัสเซียจะติดตั้งขีปนาวุธ Poseidon 2M39 ในภูมิภาคอาร์กติกในฤดูร้อนหน้า ขีปนาวุธถูกอ้างถึงในรายงานของ CNN ว่าเป็นอาวุธระดับ “โลกาวินาศ” เนื่องจากมีอานุภาพทำลายล้างสูง
Poseidon 2M39 เป็นตอร์ปิโดนิวเคลียร์ใต้น้ำที่ออกแบบมาเพื่อกระทบพื้นมหาสมุทรก่อให้เกิดคลื่นสึนามิปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่สามารถแผ่รังสีร้ายแรงไปทั่วพื้นที่หลายพันกิโลเมตรทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และ Times of London รายงานว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียร้องขอการอัปเดต “ขั้นตอนสำคัญ” ของการทดสอบในเดือนกุมภาพันธ์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคาดว่าจะมีการทดสอบเพิ่มเติมในปลายปีนี้
Poseidon 2M39 มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้ระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐแบบไม่สมมาตร เช่น ขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธ, ปืนรางไฟฟ้า หรืออาวุธเลเซอร์เพื่อให้มั่นใจว่ารัสเซียสามารถเอาชนะระบบดังกล่าวได้
หัวรบ Poseidon 2M39 มีกัมมันตรังสีสามารถปนเปื้อนพื้นที่ขนาดใหญ่ และคาดว่า Poseidon 2M39 ติดตั้งระเบิดโคบอลต์ จากการจำลอง NukeMap ขนาดของพื้นที่กัมมันตภาพรังสีจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 × 300 กิโลเมตร และสามารถโจมตีโดยอีกฝ่ายมีเวลาตั้งรับได้ยากในเวลาอันสั้นเพราะมีความเร็วสูงในการเคลื่อนที่ที 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีพิสัยการยิง 10,000 กิโลเมตร และรัสเซียยังพัฒนาระบบล่องหนด้วย
ตามคำแถลงของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อเดือนมีนาคม 2018 ซึ่งเขาอ้างถึง Poseidon 2M39 ว่าเป็นอาวุธที่สามารถโจมตีเมืองชายฝั่งของสหรัฐได้ แต่เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐในขณะนั้นระบุว่ารัสเซียมีความสามารถในการโจมตีเมืองชายฝั่งของสหรัฐด้วยขีปนาวุธอยู่แล้วและกล่าวว่าการครอบครอง Poseidon 2M39 “ไม่เปลี่ยนสมดุลทางยุทธศาสตร์”
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2020 คริสโตเฟอร์ เอ ฟอร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงระหว่างประเทศและการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในขณะนั้น กล่าวว่า Poseidon 2M39 ได้รับการออกแบบมาเพื่อ “ทำให้เมืองชายฝั่งของสหรัฐถูกถาโถมโดยมีคลื่นสึนามิปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี”
แต่ในระยะสั้น แสนยานุภาพนี้จะทำให้รัสเซียสามารถควบคุมเส้นทางการเดินเรือผ่านชายฝั่งขั้วโลกเหนือ หรือ Northern Sea Route ได้อย่างมั่นคงขึ้น ในเวลานี้รัสเวียเริ่มแสดงอำนาจด้วยการสั่งให้เรือต่างชาติทุกลำที่ผ่านเส้นทางนี้ต้องใช้กัปตันของรัสเซียในการนำเรือผ่านไปและยังพยายามให้เรือต่างชาติที่ใช้เส้นทางนี้ต้องมีใบอนุญาตจากรัสเซีย การละลายของน้ำแข็งอาร์กติกที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการใช้เส้นทางการค้าของเส้นทางชายฝั่งขั้วโลกเหนือมากขึ้น
ทั้งนี้ การปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งแรกของ Poseidon 2M39 เกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2015 โดยอ้างแหล่งข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐหรือเพนตากอน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2015 หน้าเอกสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ “ระบบเอนกประสงค์ในมหาสมุทร” ที่เรียกว่า “Status-6” ที่เป็นความลับถูกเปิดเผยโดยช่องโทรทัศน์ NTV ของรัสเซียโดยบังเอิญ
แต่การรั่วไหลของข้อมูลเกิดขึ้นระหว่างที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวประณามแผนการของสหรัฐเกี่ยวกับเทคโนโลยีขีปนาวุธป้องกันกรรโจมตี ทำให้เกิดการคาดเดาว่าอาจเป็นการตั้งใจปล่อยข่าวเรื่องขีปนาวุธใหม่เพื่อทำให้เครือข่ายข่าวกรองสับสน และต่อมาหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐ (CIA) ได้สรุปว่าเป็นการตั้งใจปล่อยข่าว
จากข้อมูลของเพนตากอนรัสเซียได้ทำการทดสอบปล่อย Poseidon 2M39 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2015 โดยใช้เรือดำน้ำวัตถุประสงค์พิเศษ B-90 Sarov มีรายงานการทดสอบในมหาสมุทรอาร์คติก ในเดือนมกราคม 2019 กองทัพเรือรัสเซียประกาศแผนการจัดหายานยนต์ใต้น้ำไร้คนขับติดตั้ง Poseidon 2M39 อย่างน้อย 30 ลำ ติดตั้งบนเรือดำน้ำ 4 ลำโดย 2 ลำจะประจำการในกองเรือเหนือของรัสเซียและอีก 2 ลำในกองเรือแปซิฟิก
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินประกาศเสร็จสิ้นขั้นตอนสำคัญของการทดลองใช้ Poseidon 2M39 และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2019 กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่วิดีโอซึ่งแสดงการทดสอบ Poseidon 2M39 โดยเรือดำน้ำวัตถุประสงค์พิเศษ B-90 Sarov
Photo by – / Satellite image ©2021 Maxar Technologies / AFP
————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 18 เม.ย. 2564
Link : https://www.posttoday.com/world/650665