เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) กล่าวถึงกรณีปรากฏคลิป ตำรวจแต่งเครื่องแบบเต้นล้อเลียนนักร้องประเทศเพื่อนบ้าน เผยแพร่ปรากฏทางสื่อแขนงต่างๆ จนเป็นที่วิจารณ์ถึงความเหมาะสมจากสังคม ว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร ได้สั่งการให้ จตช. ติดตามดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้น ทราบว่า ตำรวจดังกล่าวคือ พ.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ สว.กก.สส.ภ.จว.อุดรธานี แต่งกายเครื่องแบบ พ.ต.ท. ติดห่วงโซ่คล้องจมูก เต้นเลียนแบบเพลงนักร้องประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเป็นกระแส เผยแพร่ทางแอพลิเคชั่น และสื่อแขนงต่างๆ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และตลกขบขัน
ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อสั่งการ ทั้งๆ ที่ ผบ.ตร. และ จตช. เพิ่งสั่งการในที่ประชุมบริหาร ตร. เมื่อเดือน มีนาคม 2564 และ ผบ.ตร มีหนังสือ เมื่อ 2 เมษายน 2564 สั่งการกำชับทุกหน่วยให้ชี้แจง กำชับ ตำรวจในสังกัด ให้ศึกษาและยึดแนวทางปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ 9 ข้อห้าม และ 5 ข้อที่ควรทำ ตามวีดีทัศน์คู่มือแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานของ ตร. ซึ่ง ผบ.ตร. ได้แถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อ 11 มีนาคม 2564 รวมถึงก่อนหน้านั้น จตช.ก็เคยมีหนังสือสั่งการไว้ ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2563 ย้ำชัดให้กวดขัน ระมัดระวัง การแสดงออกในสื่อโซเชียล เช่น Tiktok Facebook Twitter เป็นต้น แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืน ซึ่งต้องตรวจสอบว่า ผู้บังคับบัญชา ได้ชี้แจง กำชับ ตามที่ ผบ.ตร และ จตช.ได้สั่งการไว้อย่างไร หรือ ชี้แจงทำความเข้าใจดีแล้ว แต่ตัวผู้ปฏิบัติ ไม่สนใจ หรือมีเจตนาฝ่าฝืนอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของ ภ.จว.อุดรธานี
พล.ต.อ.วิสนุ ได้ฝากย้ำ เตือนข้าราชการตำรวจ ให้ทบทวน แนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่สั่งการไปแล้ว โดยมีทั้งเรื่องที่ควรจะทำ 5 ข้อ และ เรื่องที่เป็นข้อห้ามโดยประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว 9 ข้อ คือ
1.ข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
3.ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือนโฆษณา ชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง
4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้
5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร เป็นต้น
6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ
7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคม หรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน
8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือ Malware ทุกประเภท
9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม ซึ่งการกระทำของ พ.ต.ท.อรรคพล จะเข้าลักษณะการฝ่าฝืนในข้อ 9
เมื่อถามว่าข้อห้ามดังกล่าว ถือเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวว่า ผบ.ตร. เคยย้ำชัดว่า การเป็นข้าราชการตำรวจนั้น นอกจาก “สิทธิส่วนบุคคล”แล้ว ยังมีคำว่า “หน้าที่ความรับผิดชอบ”เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 เรื่อง ในน้ำหนักที่เท่ากัน และ ต้องคิดก่อนทำว่าทำแล้ว เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ หน่วยงาน องค์กร หรือสังคมอย่างไร ซึ่งในแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก็ระบุสิ่งที่ทำแล้ว เป็นเรื่องสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ไว้ 5 ข้อ ให้ตำรวจทุกนายกลับไปทบทวนดู
ล่าสุด พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ สว.กก.สส.ภ.จว.อุดรธานี ไปปฏิบัติราชการประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โดยให้ขาดจากตำแหน่งและสังกัดเดิม พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ขณะนี้ พ.ต.ท.อรรคพล อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการตรวจสอบ อยู่ 2 เรื่อง คือคลิปพาภรรยานั่งเฮลิคอปเตอร์ที่มีการเผยแพร่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กับคลิปเต้นใน TIKTOK
โดยให้รายงานผลต่อ ภ.จว.อุดรธานี ภายใน 7 วัน ซึ่งหน่วยต้องรายงานผลตามลำดับมายัง ตร. เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และทั้ง 2 เรื่อง ได้ให้โอกาสเจ้าตัวชี้แจง หากพบว่ามีข้อบกพร่อง ฝ่าฝืนตามระเบียบ คำสั่ง หน่วยต้นสังกัด ก็จะต้องลงโทษทางวินัยตามน้ำหนักความผิดต่อไป ซึ่งทาง จเรตำรวจ จะติดตามผลต่อไป
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 เม.ย.2564