หลังจาก ศรชล.ภาค ๓ ได้ประสานความร่วมมือกับ GISTDA และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมวางแผนการเก็บกู้ถังเชื้อเพลิงของจรวดที่ถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยค้นพบที่บริเวณเกาะแอล จังหวัดภูเก็ต จนภารกิจสำเร็จลุล่วงไปแล้วเมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับ “กฎหมายอวกาศ” ถึงแม้วัตถุอวกาศที่ตกมาสู่พื้นโลกจะไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน แต่กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากจรวด หรือดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ ซึ่งประเทศที่เป็นเจ้าของวัตถุนั้น จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เรื่องนี้เคยมีการพูดถึงหลายครั้ง โดยเฉพาะกฎหมายอวกาศกับเหตุการณ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราอยู่บ่อย ๆ ก็จะขอย้ำว่า สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านอวกาศของสหประชาชาติ มีอยู่ 5 ฉบับ ประกอบด้วย สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 อีกฉบับคือความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศ
และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968 อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 อนุสัญญาว่าด้วย การจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ค.ศ.1975 และฉบับสุดท้าย ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ค.ศ. 1979 โดยมีสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Office for Outer Space Affairs – UNOOSA เป็นผู้ดูแลการดำเนินกิจการอวกาศของประชาคมโลก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีใน 2 ฉบับข้างต้น
ดังนั้น ชัดเจนว่าประเทศไทยมีความรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ และเมื่อมีชิ้นส่วนจากอวกาศไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามตกในประเทศไทย เราต้องส่งคืนชิ้นส่วนจากอวกาศนั้นให้แก่ประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศทันทีหากมีการร้องขอจากประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศชิ้นนั้น
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่ออีกว่า การพบถังเชื้อเพลิงของจรวดตกกลางทะเลภูเก็ต ตอนนี้เรายังไม่สามารถชี้ชัดว่าใครเป็นเจ้าของและไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเสียหาย จากวัตถุอวกาศนี้ จึงน่าจะยากที่จะหาคนมารับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ GISTDA มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 และ อนุสัญญาว่าด้วยความรับจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1975 อย่างเร่งด่วน เพราะจะคุ้มครองประชาชนชาวไทยได้ดีกว่าการปรับใช้สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. 1967
และความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือและส่งกลับฯ ค.ศ. 1968 เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมอวกาศมีมากขึ้นความเสี่ยงภัยที่คนไทยจะได้รับยิ่งก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ ถือเป็นกรณีที่บุคคลทั่วไปหรือประชาชน เป็นผู้พบวัตถุอวกาศตกในอาณาเขตประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องแจ้งต่อพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ให้ทราบโดยเร็ว ซึ่งต้องขอขอบคุณและชมเชยประชาชนเหล่านั้นที่ได้ดำเนินการตามหลักการดังกล่าว ต่อจากนี้ GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐในด้านกิจการอวกาศ ก็จะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ในอวกาศมีวัตถุอวกาศ อาทิ ดาวเทียม หรือสถานีอวกาศมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมแล้วเป็นแสนๆชิ้น ซึ่งเราอาจจะได้รับผลกระทบหรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจากการตกสู่พื้นโลกของวัตถุอวกาศได้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบ ใน (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. แล้ว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563
และขณะนี้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ได้นำร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกำกับให้การดำเนินกิจการอวกาศในประเทศไทยเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และเป็นไปด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้น ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการมีพระราชบัญญัติกิจการอวกาศของประเทศไทย
————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 19 พ.ค.2564