“รัฐบาลจีนใช้ชาวอุยกูร์เป็นตัวทดลองในการทดลองต่าง ๆ ราวกับหนูที่ใช้ในห้องแล็บ”
นี่คือความเห็นของวิศวกรซอฟต์แวร์คนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในรายการพาโนรามา (Panorama) ของบีบีซีภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่เปิดเผยตัวตนของเขา โดยระบุว่าทางการจีนได้ทำการทดลองระบบกล้องที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่อตรวจจับอารมณ์ของผู้คนกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียง
วิศวกรรายนี้เปิดเผยว่า มีการติดตั้งระบบดังกล่าวตามสถานีตำรวจในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งมีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ราว 12 ล้านคน และพวกเขามักตกอยู่ภายใต้การสอดส่องอย่างใกล้ชิดจากทางการ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ปรับทัศนคติ” ที่องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็นสถานกักกันที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงและมีชาวอุยกูร์ถูกคุมขังอยู่กว่า 1 ล้านคน
รัฐบาลจีนยืนกรานมาตลอดว่าการสอดส่องเป็นเรื่องจำเป็นในภูมิภาคนี้ เพราะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการก่อตั้งรัฐของตนเองได้สังหารประชาชนไปหลายร้อยคนในเหตุก่อการร้าย
กล้องตรวจจับอารมณ์
วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ให้ข้อมูลกับบีบีซี ระบุว่าไม่ต้องการเปิดเผยชื่อและบริษัทที่ทำงานอยู่ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เขาได้โชว์รูปถ่าย 5 รูปของผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ ซึ่งเขาอ้างว่าได้ทดสอบระบบกล้องตรวจจับและจดจำอารมณ์กับคนกลุ่มนี้
วิศวกรรายนี้เล่าว่าเขาได้ติดตั้งกล้องชนิดนี้ที่สถานีตำรวจในเขตปกครองตนเองซินเจียง
“เราตั้งกล้องตรวจจับอารมณ์ห่างจากผู้ถูกทดลอง 3 เมตร มันคล้ายกับเครื่องจับเท็จแต่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่ามาก”
เขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ใช้ “เก้าอี้หน่วงเหนี่ยว” ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายตามสถานีตำรวจทั่วประเทศจีน
“ข้อมือคุณจะถูกล็อกอยู่กับที่ด้วยเครื่องยึดที่เป็นโลหะ เช่นเดียวกับที่ข้อเท้าของคุณ”
วิศวกรผู้นี้ยังแสดงหลักฐานการฝึกฝนให้เอไอตรวจจับและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสีหน้าและรูขุมขนที่เกิดขึ้นภายในเสี้ยวนาที
เขาอธิบายการทำงานของระบบว่า ซอฟต์แวร์จะนำข้อมูลที่ได้มาประมวลแล้วสร้างเป็นแผนภูมิวงกลม เพื่อบ่งชี้ถึงอารมณ์ของผู้ถูกทดสอบ โดยส่วนสีแดงสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบหรือความวิตกกังวล
เขาระบุว่า ซอฟต์แวร์มีเป้าหมายในการ “ตัดสินไปก่อนโดยที่ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ”
บีบีซีได้ติดต่อไปยังสถานทูตจีนในกรุงลอนดอนเพื่อสอบถามถึงเรื่องนี้ แต่สถานทูตไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์จดจำอารมณ์ กล่าวเพียงว่า “สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชนกลุ่มน้อยในซินเจียงได้รับการรับประกันอย่างเต็มที่”
“ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความปรองดองไม่ว่าจะมีชาติพันธุ์ใด และมีความสุขกับชีวิตที่มั่นคงและสงบสันติโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเสรีภาพส่วนบุคคล”
ขณะเดียวกันบีบีซีได้นำหลักฐานที่ได้ไปแสดงต่อนางโซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศจีน
“มันเป็นหลักฐานที่น่าตกใจมาก ไม่เพียงแค่ผู้คนถูกลดทอนมาอยู่ในรูปของแผนภูมิวงกลม แต่พวกเขายังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับ อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล และประหม่า แล้วสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ความผิด ซึ่งดิฉันคิดว่ามันเป็นปัญหามาก”
พฤติกรรมน่าสงสัย
ดร.ดาร์เรน ไบเลอร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ในสหรัฐฯ ระบุว่า ชาวอุยกูร์จะต้องส่งตัวอย่างดีเอ็นเอให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นประจำ ต้องผ่านการสแกนทางดิจิทัล และส่วนใหญ่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของรัฐบาลลงในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ของพวกเขา เช่น รายชื่อผู้ติดต่อ และข้อความที่สื่อสารกัน
เขาบอกว่า “ชีวิตชาวอุยกูร์ในปัจจุบันคือการผลิตข้อมูล”
“(ชาวอุยกูร์) ทุกคนรู้ดีว่าสมาร์ทโฟนคือสิ่งที่จะต้องพกติดตัวเสมอ และหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะถูกนำไปคุมขัง พวกเขารู้ดีว่าตัวเองกำลังถูกติดตาม และรู้สึกว่าไม่มีทางหลบหนีไปได้” ดร.ไบเลอร์กล่าว
ข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกป้อนเข้าระบบที่เรียกว่า Integrated Joint Operations Platform ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าระบบจะบ่งชี้พฤติกรรมที่เชื่อว่าน่าสงสัย
นางริชาร์ดสันระบุว่า ระบบจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น การเข้าออกทางประตูหลังแทนที่จะเป็นประตูหน้า หรือพวกเขาเติมน้ำมันรถยนต์คันอื่นที่ไม่ใช่ของตัวเอง เป็นต้น
“ปัจจุบันทางการติดคิวอาร์โค้ดไว้ที่ด้านนอกประตูบ้านประชาชนเพื่อที่จะได้ทราบว่าใครสมควรจะอยู่ในบ้าน หรือใครที่ไม่สมควรอยู่ที่นั่น” เธอกล่าว
สอดส่องและควบคุมพลเมือง
มีการถกเถียงมายาวนานถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ และการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้รัฐสอดส่องและควบคุมพลเมืองแบบที่เรียกว่า Orwellian ซึ่งเป็นแนวคิดในวรรณกรรมทางการเมือง เรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์
IPVM ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ อ้างว่าได้พบหลักฐานว่าบริษัทเหล่านี้มีสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์จดจำใบหน้าที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อบ่งชี้ชาวอุยกูร์
สิทธิบัตรที่บริษัทหัวเว่ยและสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนจดทะเบียนในเดือน ก.ค. ปี 2018 บรรยายถึงผลิตภัณฑ์จดจำใบหน้าที่สามารถบ่งชี้ผู้คนตามเชื้อชาติของพวกเขาได้
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยระบุว่า บริษัทไม่ยอมรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเลือกปฏิบัติหรือกดขี่คนในสังคม และบริษัทดำเนินการโดยเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลจีน
นอกจากนี้ IPVM ยังพบเอกสารที่บ่งชี้ว่าหัวเว่ยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า One Person, One File system
นายคอเนอร์ ฮีลี จากกลุ่ม IPVM ระบุว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลจีนเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง เช่น กิจกรรมทางการเมือง และความสัมพันธ์ของพวกเขา รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เห็นว่าบุคคลจะมีพฤติกรรมอย่างไร และพวกเขาอาจเป็นภัยอย่างไรต่อรัฐ
เขาชี้ว่า “มันทำให้การเห็นต่างแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และทำให้รัฐบาลสามารถพยากรณ์พฤติกรรมของพลเมืองได้อย่างแท้จริง ผมคิดว่าออร์เวลล์คงจะคาดไม่ถึงว่ารัฐบาลจะมีความสามารถในการวิเคราะห์ได้ถึงเพียงนี้”
หัวเว่ยไม่ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องกับระบบสอดส่องที่เรียกว่า One Person, One File system แต่ย้ำว่าบริษัทดำเนินการโดยเป็นอิสระจากรัฐบาลจีน
ขณะที่สถานทูตจีนในกรุงลอนดอน ระบุว่า “ไม่ทราบ” เกี่ยวกับโครงการเหล่านี้
กลุ่ม IPVM อ้างว่าพบข้อมูลด้านการตลาดของบริษัทจีนชื่อ Hikvision ที่โฆษณากล้องเอไอตรวจจับชาวอุยกูร์ รวมทั้งสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยบริษัทต้าหัว (Dahua) ที่สามารถใช้บ่งชี้ชาวอุยกูร์ได้
ต้าหัว บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนระบุว่า สิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 56 กลุ่มในจีน ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
ต้าหัวชี้แจงว่า บริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีเป้าหมายในการรักษาความปลอดภัยของผู้คน รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของทุกตลาดที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักรด้วย
ขณะที่ Hikvision ระบุว่า ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของบริษัทเป็นข้อมูลที่ผิดและถูกอัพโหลดทางออนไลน์โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณา พร้อมยืนกรานว่าบริษัทไม่ได้ขายหรือมีผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีจดจำและวิเคราะห์ชนกลุ่มน้อย”
ดร.เซวีย หลาน ประธานคณะกรรมการแห่งชาติจีนที่กำกับดูแลด้านเอไอ ระบุว่าไม่ทราบเรื่องสิทธิบัตรเหล่านี้ โดยชี้ว่านอกประเทศจีนมีข้อกล่าวหา และข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงมากมาย
“ผมคิดว่ารัฐบาลท้องถิ่นของซินเจียงมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองชาวซินเจียง…ถ้ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในบริบทนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้”
ขณะที่สถานทูตจีนในสหราชอาณาจักรปฏิเสธเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิงว่า “ไม่มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่ใช้การวิเคราะห์ลักษณะของชาวอุยกูร์ใด ๆ ทั้งสิ้น”
การสอดส่องชีวิตประจำวันของพลเมือง
ประเมินกันว่าจีนมีกล้องซีซีทีวีอยู่เกือบ 800 ล้านตัวทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมี “เมืองอัจฉริยะ” หลายเมือง เช่น นครฉงชิ่ง ที่มีการติดตั้งเทคโนเอไอเข้ากับระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง
นายหู หลิว เล่าให้บีบีซีฟังจากประสบการณ์ของตัวเองว่า “เมื่อคุณก้าวเท้าออกจากบ้าน และเดินเข้าลิฟต์ คุณจะถูกกล้องบันทึกภาพ มีกล้องอยู่ทุกหนแห่ง”
“เวลาที่ผมออกจากบ้านเพื่อไปที่ไหนสักแห่ง ผมจะโทรเรียกรถแท็กซี่ บริษัทแท็กซีจะอัพโหลดข้อมูลดังกล่าวให้รัฐบาล ผมอาจไปพบเพื่อนฝูงที่ร้านกาแฟ และทางการก็สามารถบ่งชี้ตำแหน่งของผมได้จากกล้องซีซีทีวีในร้าน”
“บางครั้งผมอาจไปพบเพื่อน และไม่นานหลังจากนั้นคนจากรัฐบาลจะติดต่อผม แล้วเตือนผมว่า ‘อย่าไปเจอคนนี้อีก และอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้’
“เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้เราไม่มีที่จะหลบซ่อนได้เลย” เขากล่าว
———————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC NEWS Thai / วันที่เผยแพร่ 27 พ.ค.2564
บทความโดย เจน เวคฟิลด์ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี