อธิบายถึงสาเหตุการประท้วงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม มันเกิดจากอะไร และรุนแรงขนาดไหน?
ในช่วงเดือนรอมฎอนชาวปาเลสไตน์ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอลบนพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็มทุกคืน โดยประเด็นและขนาดของการประท้วงก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งครอบคลุมทั้งศาสนา ที่ดิน และการเมือง ประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดคือความขัดแย้งหลักระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ โดยรอยเตอร์สได้อธิบายความขัดแย้งไว้ดังนี้
การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อใด?
ตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอนในช่วงกลางเดือนเมษายนชาวปาเลสไตน์ได้ปะทะกับตำรวจอิสราเอลทุกคืน โดยชาวปาเลสไตน์กล่าวหาว่าตำรวจอิสราเอลนำแผงกั้นมากีดขวางไม่ให้พวกเขารวมตัวกันบริเวณประตูดามัสกัสเพื่อพักการถือศีลอดในตอนกลางวัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าทำไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้คนในการสัญจรในย่านเมืองเก่า
วันหนึ่งกลุ่มชาวยิวชาตินิยมเดินขบวนในนครเมืองเก่าของเยรูซาเล็มพร้อมตะโกนว่า “ชาวอาหรับต้องตาย” ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากไม่พอใจจึงเกิดการปะทะกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าสลายดวยระเบิด แก๊สน้ำตา รวมถึงฉีดน้ำแรงดันสูง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก
ทำไมความรุนแรงถึงปะทุขึ้นอีกครั้ง?
การพิจารณาคดีในศาลฎีกาของอิสราเอลมีกำหนดในวันที่ 10 พฤษภาคมในคดีทางกฎหมายที่ดำเนินมายาวนานเกี่ยวกับว่าครอบครัวชาวปาเลสไตน์หลายครอบครัวจะถูกขับไล่หรือไม่ ขณะที่บ้านของพวกเขาตั้งอยู่ใน ชีค จาร์ราห์ (Sheikh Jarrah) ซึ่งเป็นย่านใกล้ประตูดามัสกัส
เมื่อใกล้การไต่สวนของศาลชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลฝ่ายซ้ายเริ่มจัดการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นโดยกล่าวว่าการขับไล่อาจทำให้เกิดผลกระทบเป็นโดมิโนไปทั่วพื้นที่ใกล้เคียงของชาวปาเลสไตน์
นอกจากนี้ชีค จาร์ราห์ ยังมีสถานที่สำคัญซึ่งเป็นที่เคารพนับถือนับถือของชาวยิวจึงนำไปสู่ความตึงเครียดบ่อยครั้งระหว่างชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ที่นั่นและชาวยิวที่เคร่งศาสนาเมื่อพวกเขาไปเยี่ยมที่นั่น
ทำไมจึงเป็นประเด็นอ่อนไหว?
เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ประวัติศาสตร์ และศาสนา โดยใจกลางเมืองเก่าของเยรูซาเล็มเป็นเนินเขาที่รู้จักกันในชื่อว่าเนินพระวิหาร (Temple Mount) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปีของทั้งสามศาสนาคือ ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
ชาวอิสราเอลมองว่าเยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์และแบ่งแยกไม่ได้ ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ต้องการพื้นที่ทางตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคต ขณะที่การผนวกเยรูซาเล็มตะวันออกของอิสราเอลไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ความสนใจจากนานาชาติ
คดีนี้ซึ่งศาลล่างตัดสินว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของชาวยิวในเยรูซาเล็มตะวันออกก่อนสงครามปี 1948 ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเยรูซาเล็มตะวันออก
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเจค ซัลลิแวนที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐได้พูดคุยกับคู่หูชาวอิสราเอลของเขา “เพื่อแสดงความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการที่อาจมีการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านในย่านชีค จาร์ราห์” ทำเนียบขาวกล่าว
“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติก็ได้แสดงความกังวลอย่างสุดซึ้งต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเยรูซาเล็มตะวันออกที่ถูกยึดครอง รวมทั้งอาจมีการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้าน” สเตฟาน ดูฌาร์ริก โฆษกของสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันอาทิตย์
เกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้?
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาการพิจารณาคดีของศาลฎีกาเกี่ยวกับการขับไล่ถูกเลื่อนออกไป และการพิจารณาครั้งใหม่จะถูกกำหนดขึ้นอีกครั้งภายใน 30 วันข้างหน้า
Photo by ahmad gharabli / AFP
————————————————————————————————————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 10 พ.ค.2564
Link : https://www.posttoday.com/world/652482