วิกฤติความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ดูห่างไกลประเทศไทย แต่เหตุการณ์ยิงจรวดโจมตีตอบโต้ของกลุ่มฮามาสไปยังนิคมเกษตรโมชาฟ ได้ปลิดชีพแรงงานไทยในอิสราเอล อาจเป็นจุดเปลี่ยนท่าทีไทยต่อปมขัดแย้งเรื่องนี้
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ยืดเยื้อยาวนาน และเกิดปะทุเป็นระยะๆ รวมถึงเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดการโจมตีตอบโต้ครั้งล่าสุด ต่อเนื่องเป็นเวลา 11 วัน ก่อนสามารถทำข้อตกลงหยุดยิง แล้วเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ท่ามกลางความห่วงกังวลทั่วโลก เพราะหลายประเทศเริ่มรับผลกระทบ รวมทั้งแรงงานไทยในอิสราเอล ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจรวดโจมตีของกลุ่มฮามาส
ทางคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS Thailand) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ “ฬ.จุฬาฯนิติมิติ” รอบพิเศษ เรื่อง “ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ : ความสัมพันธ์และกฎหมายระหว่างประเทศ กับมุมมองของไทย” เพื่อร่วมสะท้อนมุมมองในเชิงความสัมพันธ์ กฎหมายระหว่างประเทศ และทิศทางลดความขัดแย้งนี้
“ภาวัฒน์ สัตยานุรักษ์” อาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเรียงลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – กลุ่มผู้ติดอาวุธในปาเลสไตน์ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นจากปมปัญหาใหญ่ๆ 3 เหตุการณ์ เริ่มจากเหตุการณ์แรก เมื่อกลางเดือน เม.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอลได้ไล่ที่ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวปาเลสไตน์ในชุมชนอาหรับที่ชื่อ อะชีกจารา สร้างความไม่พอใจให้กับชาวปาเลสไตน์ที่อ้างว่าอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2483
ต่อมาเหตุการณ์ที่สอง วันที่ 7 พ.ค. ได้มีปฏิบัติการสลายการรวมกลุ่มกันในมัสยิดอัลอักซา ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสามของชาวมุสลิมยิ่งตอกย้ำความไม่พอใจให้กลุ่มฮามาส เริ่มส่งสัญญาณจะตอบโต้อิสราเอล หากไม่หยุดการกระทำนี้
หลังจากนั้น เหตุการณ์ที่สาม วันที่ 10 พ.ค. ในการเดินขบวนพาเรดของชาวอิสราเอลได้มีการตะโกนเปล่งเสียงเย้ยหยันชาวอาหรับ เป็นการจุดชนวนระเบิดให้กลุ่มฮามาสตัดสินใจยิงจรวดโจมตีอิสราเอล จนเกิดการปะทะตอบโต้เป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะทำข้อตกลงหยุดยิงได้ในวันที่ 21 พ.ค. แต่เหตุการณ์ถล่มฉนวนกาซาได้คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 248 คนรวมทั้งเด็ก 66 คน และนำความหายนะมาสู่ดินแดนที่ยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว
“ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” ผอ.สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ กล่าวว่า ความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ เกิดขึ้นมานับพันปี ส่วนตัวเชื่อว่า ในหลายสถานการณ์ที่เกิดก่อนหน้านี้ ยืนยันว่า ความขัดแย้งจะไม่มีคำว่าจบ เพราะตะวันออกกลางในพื้นที่ส่วนนี้เป็นสีเทา ดังนั้นจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และข้อตกลงหยุดยิงจะอยู่ได้นานแค่ไหน
หากพิจารณาปมความขัดแย้งหลักๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องสิทธิการอยู่อาศัยในดินแดนทับซ้อนแห่งนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝั่งรากลึกกลายเป็นข้อพิพาทมาถึงปัจจุบัน
ปาเลสไตน์เป็นดินแดนทับซ้อนในเชิงประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย มี 3 ศาสนา คือ อิสลาม ยูดาย และคริสต์ เยรูซาเลมในดินแดนแห่งนี้ รวมถึงยังมีหลายเผาพันธุ์ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ ในสมัยจักรวรรดินิยมพบว่า อังกฤษได้เข้ามากำหนดเส้นเขตแดน ยิ่งเพิ่มปัญหาให้ซับซ้อนกับดินแดนมากขึ้นอีก
“เชื่อว่า ความขัดแย้งนี้จะยังคงตึงเครียดต่อไปเรื่อยๆ และเกิดปะทะเป็นระยะๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้น ทั้งอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส ในปาเลสไตน์ก็จะอยู่อย่างหวาดระแวง และพร้อมโจมตีระหว่างกัน” ฐิตินันท์ระบุ และกล่าวว่า แนวทางสองรัฐ ( One Solution Two State) ที่สหรัฐสนับสนุนมาตลอดดูเหมือนว่า ตอนนี้ “ป่วยการ” เพราะขณะนี้ อิสราเอลพยายามรุกไล่พื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสติเนียน และมีการก่อตั้งชุมชนชาวยิวในพื้นที่ที่ตัวเองไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือ ซึ่งขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยอิสราเอลครอบครองพื้นที่คิดเป็นสัดส่วน 78% ของพื้นที่รัฐ
“อิทธิ์ ธีรรัฐ” นักการทูตปฏิบัติการ กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า ข้อตกหยุดยิงจะอยู่ได้นานถึงเมื่อไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทำให้เห็นว่า การทำข้อตกลงหยุดยิงปี 2557 ที่ปะทะกันในฉนวนกาซา หลังจากนั้นสองวันก็กลับมาปะทะกันต่อและยาวนานถึง 50 วันก่อนที่จะสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้จริง ดังนั้นครั้งนี้ไม่อาจนอนใจได้
ส่วนท่าทีของประเทศไทยต่อเรื่องนี้ หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์มีความชัดเจนว่าไทยอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ดังกล่าว ในความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลเมื่อปี 2497 ขณะเดียวกันไทยให้การรับรองปาเลสไตน์ เป็นรัฐตั้งแต่ปี 2555 ดังนั้นถือว่าไทยมีความสัมพันธ์ทั้งคู่ และยึดแนวทางสองรัฐ
นอกจากนี้ ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม 8.2 ล้านคนหรือ 10% ของประชากรไทย ก็มีความรู้สึกใกล้ชิดกับโลกอาหรับ และชาวปาเลสไตน์
ปัจจุบัน มีแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ 25,000 คน หรือคิดเป็น 90% ของแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรของอิสราเอล ขณะเดียวกันอิสราเอลเป็นผู้ค้าอันดับที่สี่ของไทย และมีชาวอิสราเอลเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง หรือประมาณ 200,000 คนต่อปีก่อนที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนด้านการเงินเพื่อวิชาการต่างๆ
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถ้อยแถลงของไทยต่อสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ว่า “ไทยมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิสราเอลและปาเลสไตน์ในขณะนี้ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุด และหลีกเลี่ยงการกระทำยั่วยุใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง และส่งผลให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บและสร้างความเสียหายต่อสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไปมากกว่านี้”
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า แรงงานไทยในอิสราเอล เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย จากเหตุระเบิดโจมตีของกลุ่มฮามาสที่นิคมเกษตรกรรม (โมชาฟ) ใกล้ฉนวนกาซา ในวานนี้ (18 พ.ค.) ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยพยายามหลีกเลี่ยงเข้าไปมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ในทางกลับกัน ไทยรักษาสมดุลความสัมพันธ์ที่มีต่ออิสราเอล และปาเลสไตน์ ที่มีโลกอาหรับหลายประเทศสนับสนุน เหนือสิ่งอื่นใดเป็นเรื่องผลประโยชน์ประเทศ โดยเฉพาะคนไทยในพื้นที่ต้องปลอดภัย
—————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 27 พ.ค.2564
บทความโดย นันทิดา พวงทอง
Link : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940509