หัวข้อนี้วันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสปาย ทำให้คิดถึงหนังสือการ์ตูนฝรั่งระหว่าง “สปายขาว” กับ “สปายดำ” โดยใช้นกสองตัว (คล้ายกับอีกาบ้านเรา) เป็นตัวแทนของสปายแต่ละข้าง มีการเฉือนคมกันอย่างสนุกสนาน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ คนเขียนการ์ตูนเรื่องนี้นับว่าสมองอัจฉริยะจริง ๆ จึงขออนุญาตมาตั้งเป็นหัวข้อเรื่องนี้ เพราะวันนี้จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับองค์กรสปายของโลกตามคำขอของผู้อ่านบางท่าน เพื่อจะให้หายเครียดจากโควิด 19 บ้าง
ผู้อ่านถามมาว่า หน่วยข่าวกรองของประเทศไหนที่ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดสิบอันแรกของโลก แต่ไม่ได้ระบุว่ายอดเยี่ยมที่สุดในแบบไหน เจ้าหน้าที่มากที่สุด หรืองบประมาณมากที่สุด หรือทำงานเก่งที่สุดแบบเจมส์บอนด์ ฯลฯ และขอให้วิเคราะห์ถึงข่าวล่าสุดที่ ซี.ไอ.เอ. ร่วมมือกับหน่วยข่าวเดนมาร์ก ดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำเยอรมนี อังกฤษ และผู้นำอีกหลายประเทศคงจะโดนไปด้วย พร้อมกับคำถามว่า ในวงการนี้ เพื่อนกันเขาทำกับเพื่อนทำนองนี้ได้ด้วยหรือ
วันนี้ขอเขียนเรื่องสิบอันดับแรกเยี่ยมยอดของหน่วยข่าวกรองหรือสมัยก่อนเรียกว่าหน่วยสืบราชการลับที่เราเคยดูบ่อย ๆ ในภาพยนต์ซึ่งน่าตื่นเต้นดี
ยังไม่มีสถาบันจัดลำดับใดเคยจัดลำดับองค์กรข่าวกรองโลกมาก่อน จึงต้องไปค้นจาก “วิกีพีเดีย” ซึ่งตั้งหัวข้อไว้ว่า สิบอันดับหน่วยข่าวเยี่ยมของโลก คือ (1) สำนักวิจัยและวิเคราะห์ (R&A wing) ของอินเดีย (2) มอสสาด ของอิสราเอล (3) ซี.ไอ.เอ ของอเมริกา (4) เอ็ม.ไอ. 6 หรือ เอส.ไอ.เอส.ของอังกฤษ (5) เอ.เอส.ไอ.เอส.ของออสเตรเลีย (6) ดีจีอีเอส.ของฝรั่งเศส (7) บี.เอ็น.ดี ของเยอรมนี (8) กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (เอ็ม.เอส.เอส.ของจีน) (9) เอฟ.เอส.บี.ของรสเซีย (เค.จี.บ๊ เดิม) (10) หน่วยข่าวกรองของแคนาดา ( ซี.เอส.ไอ.เอส )
อย่างไรก็ดี การจัดลำดับของ วีกีพีเดีย ล่าสุดในปี 2564 “ท็อปเท็น” หน่วยข่าวกรองที่ดีที่สุดของโลก เรียงตามลำดับดังนี้ คือ (1) ไอ.เอส.ไอ.เอส.ของปากีสถาน (2) ซี.ไอ.เอ.ของสหรัฐ (3) มอสสาด ของอิสราเอล (4) องค์การข่าวกรองลับ (เอ.ไอ.เอส.) หรือ หน่วยข่าวกรองทางทหาร แผนก 6 (เอ็ม.ไอ.6) ของอังกฤษ (5) บี.เอ็น.ดี ของเยอรมนี (6) ดี.จี.เอส.อี ของฝรั่งเศส (7) หน่วยข่าวกรองทางทหาร หรือ จี.อาร์.ยู ของรัสเซีย (8) กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (เอ็ม.เอส.เอส.)ของจีน (9) องค์การข่าวกรองลับแคนาดา หรือ ซี.เอส.ไอ.เอส. (10) องค์การข่าวกรองลับของออสเตรเลีย (เอ.เอส.ไอ.เอส.)
ในการจัดลำดับหน่วยข่าวกรองที่เด่นที่สุดในโลกในสิบอันดับแรกโดยวิกีพีเดียหรือแหล่งข่าวอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็ซ้ำๆกัน เพียงแต่ลำดับแตกต่างกันบ้าง แต่ที่เด่น ๆ ของหนีไม่พ้น ซี.ไอ.เอ.ของอเมริกา เค.จี.บี.ของสหภาพโซเวียตซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อย่อเป็น เอส.วี.อาร์ ซึ่งสองหน่วยงานนี้เป็นคู่ต่อสู้ด้านจารกรรมที่ผลัดกันแพ้ชนะมาตลอด
นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและช่วงสงครามเย็น มีหนังสือเรื่องจริงเกี่ยวกับงานจารกรรมให้อ่านกันมากมาย อีกหน่วยหนื่งคือ เอ็ม.ไอ.6 ของอังกฤษหรือปัจจุบันเรียกว่า “องค์การข่าวกรองลับ” (เอส.ไอ.เอส.) ในช่วงสงครามเย็น มีสามหน่วยนี้ที่เด่นที่สุดในสงครามจารกรรม จะเรียกว่า “สองรุมหนึ่ง” ก็คงได้ คือ ซี.ไอ.เอ.จับมือกับ เอส.ไอ.เอส.สู้กับ เค.จ๊.บี.และ จี.อาร์.ยู ของรัสเซีย มีเคสจารชนที่เป็น “เรื่องจริง” (ไม่ใช่นวนิยาย) ให้อ่านกันมากมาย
ถ้าใครนึกภาพของ เอ็ม.ไอ.6 หรือ เอส.ไอ.เอส.ไม่ออก ก็ให้นึกถึงพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง “เจมส์ บอนด์” ซึ่งโด่นดังไปทั่วโลก เพราะเจมส์ บอนด์เป็นสายลับของหน่วยข่าวกรองอังกฤษที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียนเรื่อง จนทำให้หนุ่มๆ หลายคนอยากเป็นสายลับแบบเจมส์ บอนด์บ้าง เพราะทำอย่างไรก็ไม่ตาย ซ้ำยังมีสาว ๆ แนบกายในทุกเรื่อง แต่ในชีวิตจริง ถ้าเจมส์ บอนด์เจอแบบในภาพยนตร์ ให้สิบเจมส์ บอนด์ก็ไม่รอดเหมือนกัน อาจจะตายตั้งแต่ฉากแรกเลยก็ได้
สำหรับที่ทำงานของ เอ็ม.ไอ.6 หรือ เอส.ไอ.เอส.ที่เจมส์ บอนด์สังกัดอยู่นั้น ใครๆก็คงนึกว่าลึกลับซับซ้อน เช่นตั้งอยู่บนเขาสูง หรือซ่อนอยู่ใต้ดิน ฯลฯ อะไรทำนองนั้น แต่ของจริงปรากฏว่าสำนักงานใหญ่ปัจจุบัน เป็นตึกสีเขียวหลายชั้นใหญ่โตมโหฬารอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ ติดกับสะพานรัฐสภาอังกฤษ นักท่องเที่ยวที่ไปลอนดอนจะเห็นตึกนี้เด่นเป็นสง่า ไม่ได้ลึกลับอะไรดังจินตนาการ ใครอยากถ่ายรูปเอาตึกหลังนี้เป็นแบคกราวน์ก็ทำได้สบาย บางตนห่วงว่าผู้ก่อการร้ายสามารถยิงจรวดจากฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเทมส์หรือจากเรือไปยังตึกหลังนี้ ซึ่งสามารถทำได้ แต่อังกฤษคงหาทางป้องกันไว้แล้ว
หน่วยข่าวกรองที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักฤทธิเดชนัก ไม่เหมือน ซี.ไอ.เอ. หรือ เค.จี.บี. หรือมอสสาด ฯลฯ ก็คือ หน่วยข่าวกรองของอินเดียและปากีสถานซึ่งผลัดกันขึ้นอันดับหนึ่งของวิกิพีเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้า R&A Wing ของอินเดียถูกจัดไว้ในอันดับหนึ่งหน่วย ไอ.เอส.ไอ ของปากีสถานก็ไม่ติดหนึ่งในสิบ แต่ถ้า ไอ.เอส.ไอ.ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง หน่วยอาร์แอนด์เอ ของอินเดียก็หายไปจากสิบอันดับแรกเช่นกัน
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง R&A Wing ของอินเดียและไอ.เอส.ไอ ของปากีสถานแม้จะเก่งแต่ก็คงไม่ถึงขึ้นอันดับหนึ่งทั้งสองรายการ สงสัยว่าผู้จัดครั้งแรกที่ให้หน่วยข่าวอินเดียมาเป็นอันดับหนึ่งอาจเป็นคนจากหน่วยข่าวอินเดียทำเอง ส่วนครั้งล่าสุดอาจเป็นคนจากหน่วยข่าวปากีสถานทำ จึงเขี่ยหน่วยข่าวอินเดียออกไป แล้วเอาของตัวเองขึ้นอันดับหนึ่งแทน
คนไทยมองแล้วก็ยิ้มๆ เพราะแขกกับแขกเล่นกันเอง ต่างฝ่ายต่างมีฤทธิ์ทั้งคู่
คนไทยไม่ค่อยรู้จักสองหน่วยข่าวนี้ หน่วยข่าวกรองของอินเดียดูแล้วชื่อไม่ค่อยน่ากลัวนัก ดูเหมือนกับหน่วยงานวิจัยอะไรทำนองนั้น การตั้งชื่อแบบนี้เป็นการอำพราง ให้คนอื่นดูเหมือนหน่วยวิเคราะห์วิจัยธรรมดา แต่ข้อเท็จจริงแล้ว หน่วยข่าวนี้เป็นหน่วยจารกรรมระดับต้นๆ ของโลก
อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่ต้องรักษาอิทธิพลในชมพูทวีปและมหาสมุทรอินเดียไว้ให้ได้ มีคู่ขัดแย้งหลักทางเหนือคือจีนซึ่งมีเขตแดนติดต่อกัน และเคยมีการปะทะกันตามพรมแดนหลายครั้ง ส่วนทางด้านตะวันตกก็มีปากีสถานซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด เพราะอังกฤษทิ้งปัญหาแคชเมียร์ไว้ให้สองแขกทะเลาะกัน ดังนั้น หน่วยข่าวกรองของอินเดียต้องแน่จริงพอๆกับปากีสถาน
อินเดียกับปากีสถานต้องมีพลังอำนาจทางทหารที่ไม่แพ้กัน ในอินเดียเต็มไปด้วยสายลับปากีสถาน เช่นเดียวกับในปากีสถานก็เต็มไปด้วยสายลับอินเดีย เพราะรูปร่างหน้าตาทางกายภาพคล้ายคลึงกันแยกกันไม่ออก สงครามสายลับระหว่างสองประเทศนี้เข้าประเภท “คมเฉือนคม” กันเลยทีเดียว อินเดียเคยจับได้ว่าหน่วยข่าวกรองปากีสถานอยู่เบื้องหลังวางระเบิดครั้งใหญ่ในกัลกัตตาเมื่อหลายปีก่อน
ไอ.เอส.ไอ.ของปากีสถานมีประวัติโด่งดงไม่ใช่เล่น และให้ความสำคัญกับสร้าง “สายลับ” อย่างมาก โดยมีคำขวัญที่ว่า “สายลับที่ดีหนึ่งคนเท่ากับหนึ่งกองทัพ” การจะผลิตหรือจัดหาสายลับที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อได้มาแล้วคุ้ม
สหภาพโซเวียตที่เคยบุกและจมปลักในอัฟกานิสถานมาแล้ว ในที่สุดก็ต้องถอนทหารกลับสหภาพโซเวียตด้วยความบอบช้ำเพราะใช้งบประมาณในอัฟกานิสถานจนแทบหมดเสื้อหมดตัว ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หน่วยข่าวปากีสถานมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้โดยได้รับการสนับสนุนจาก ซี.ไองเอ.ซึ่งเป็นคนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ไปให้กลุ่มตอลิบันสู้กับทหารโซเวียต ต่อมา กลุ่มก่อการร้ายตอลิบันหนมาสู้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ
ย้อนไปสมัยสงครามเย็นเมื่อสหรัฐส่งเครื่องบินจารกรรม ยู-2 บินเข้าไปทำจารกรรมถ่ายรูปเหนือน่านฟ้าสหภาพโซเวียตจนถูกยิงตก และนักบิน น.อ.แกรี่ พาวเออร์ถูกจับได้ เครื่องบินดังกล่าวก็บินขึ้นจากสนามบินลับแห่งหนึ่งในปากีสถานนี่เอง
แม้จะร่วมมือกันอย่างดีตลอดมาระหว่าง ซี.ไอ.เอ.กับ เอส.ไอ.เอส. แต่บางเรื่องก็ไว้ใจกันไม่ได้ มีการขบเหลี่ยมกันเพราะผลประโยชน์บางอย่างขัดกัน เมื่อสหรัฐส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไปสังหารนายอูซามะ บิน ลาเดน ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในตอนเหนือของปากีสถาน โดยวอชิงตันไม่ยอมบอกให้หน่วยข่าวและรัฐบาลปากีสถานทราบก่อนปฏิบัติการเสร็จ เพราะรู้ดีว่า เอส.ไอ.เอส.น่าจะมีส่วนรู้เห็นและยอมให้นายอูซามะ บิน ลาเดนมาซ่อนตัวอยู่ในปากีสถาน หากบอกก่อน นายอูซามะก็ต้องรู้และหนีไปได้อีก
ในวงการนี้มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย ที่แทบจะไม้ใจกันไม่ได้ เพราะแต่ละหน่วยข่าวกรองก็ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นสำคัญ
ข้อเขียนวันนี้เป็นเพียง “น้ำจิ้ม” สัปดาห์หน้าจะว่าด้วยหน่วยข่าวโลกระดับพระกาฬ อาทิ ซี.ไอ.เอ.ที่ใครๆก็รู้จักกันดี หน่วย เอ็น.เอส.เอ.ที่เที่ยวไปดักฟังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ล่าสุดคือดักฟังนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนปัจจุบันและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แต่คนที่ถูกดักฟังก็ตอบโต้เอาเจ็บเหมือนกัน
เอ็น.เอส.เอ เองก็โดนลูกน้องเก่า โรเบิร์ต สโนเดน เปิดโปงเอกสารลับมากมายทำให้หน่วยข่าวอเมริกันปวดหัวจนถึงขณะนี้ เพราะเที่ยวไปล้วงตับมิตรประเทศไปหมด
หากถามว่า ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยข่าวใดในโลกที่เด่นที่สุด ผู้เขียนขอเชียร์ “มอสสาด” ของอิสราเอล ด้วยเหตุผลอะไร เอาไว้สัปดาห์หน้าจะเล่าให้ฟังว่าทำไม และอย่าถามว่าหน่วยข่าวกรองของไทยอยู่ในลำดับไหน เราอาจอยู่ในลำดับท้าย ๆ เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก มีผลประโยชน์จำกัด และเน้นการป้องกันตนเองเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบกันภายในกลุ่มอาเซียนก็พอไหว
สัปดาห์หน้า จะเล่าถึงสงครามจารกรรมระหว่างหน่วยข่าวอเมริกันจับมือกับอังกฤษสู้กับรัสเซียในช่วงสงครามเย็น และเรื่องราวปัจจุบันที่หน่วย เอ็น.เอส.เอ.ของอเมริกาดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำเยอรมนีและอังกฤษ จริงๆแล้ว หน่วยนี้คงเที่ยวไปดักฟังโทรศัพท์ของคนอื่นเขาไปทั่วโลก ทั้มิตรและสัตรู ขึ้นอยู่จะจับได้ไล่ทันหรือไม่เท่านั้นเอง ไทยเราก็เคยโดนเพื่อนหักหลังจนกระอักเลือดไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นบทเรียนสอนว่า ในงานประเภทนี้ เราไว้ใจใครไม่ได้แม้แต่มิตร เวทีนี้ไม่เคยมีมิตรและสัตรูที่ถาวร (จบ)
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
ผู้เขียน : ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
วันที่เผยแพร่ 10 มิ.ย.2564
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/655191