เฟคนิวส์ กับ สื่อดิจิตัล หรือสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ แล้วแต่จะเรียก ดูจะเป็นของคู่กัน ไม่ใช่ว่าสื่อยุคก่อนไม่มีเฟคนิวส์ จริงๆแล้วมีเช่นเดียวกัน แต่สื่อขณะนั้นเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ที่ไม่รวดเร็ว กว้างไกล แบบสื่อดิจิตัล และสื่อพวกนี้มีจรรยาบรรณที่ยึดถือ “ เสรีภาพพร้อมความรับผิดชอบ” แต่โลกสมัยใหม่ที่คนสื่อสารผ่านสื่อดิจิตัล คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว กว้างขวาง และง่ายขึ้น ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงสื่อดิจิตัล พร้อมเสรีภาพในการแสดงออก แต่ไม่เคยพูดถึงความรับผิดชอบ ปัจจุบัน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างก็มีโทรศัพท์มือถือที่ใช้ติดต่อถึงกันและรับข้อมูลข่าวสาร เฟคนิวส์จึงถูกใช้ผ่านสื่อนี้มากขึ้น
คำว่า “เฟค นิวส์” เราใช้เป็นคำรวมเรียกข่าวที่ไม่จริง ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอม ข่าวปล่อย ข่าวลวง ข่าวหลอก ข่าวลือ ฯลฯ สรุปแล้วคือข่าวที่ไม่จริงนั่นเอง หรือข่าวบิดเบือน หรือจริงบางส่วน เท็จบางส่วน คงไม่มีใครปล่อยข่าวเท็จทั้งหมดจนคนรู้ทัน คนที่ปล่อยเฟคนิวส์มีความมุ่งหมายที่จะทำให้คนเข้าใจผิดและกระทำการในสิ่งที่ตนต้องการ เช่น สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ก่อการจลาจล ต่อต้านรัฐบาล หลงด่ารัฐบาล หรือทำลายสถาบันหลักของชาติ ฯลฯ
สภาพสังคมไทยปัจจุบัน เด็กตั้งแต่เด็กเล็กที่พอรู้เรื่องถึงเด็กโตมีโทรศัพท์มือถือประจำตัว เพราะเดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือราคาไม่แพงนักที่คนทั่วไปสามารถจัดหาซื้อได้ หลายคนห่วงเด็กวัยรุ่นว่าจะตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการบันเทิงมากที่สุด เล่นเกมส์ ดูฟุตบอล ฯลฯ หรือใช้ถ่ายรูปผ่านแอพต่างๆ ส่งให้เพื่อนดู ติดต่อพูดคุยกับเพื่อน ส่งไลน์ถึงกัน ต่อมาคือใช้เพื่อค้นคว้าหาความรู้
ตามสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ ร้านอาหาร สถานบริการต่าง ๆ ระหว่างโดยสารรถสาธารณะ รอบริการต่าง ๆ ฯลฯ ที่เราเห็นคนเหล่านี้ โดยเฉพาะหนุ่มสาว วัยรุ่น ก้มหน้าก้มตามองโทรศัพท์มือถือนั้น ถามคนหนุ่มสาวแล้วได้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เช็คข่าวสารบ้านเมืองแต่อย่างใด แต่อยากรู้ว่ามีเพื่อนไลน์มาหรือไม่ ไลน์มาว่าอย่างไร พวกนี้มีความสามารถสูงในการใช้นิ้วมือกดคีย์ส่งข้อมูลได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์
หนุ่มสาวที่สนใจเรื่องการเมืองหรือชอบในการชุมนุมเป็นกลุ่มน้อย พวกนี้จะเช็คว่า วันนี้จะมีการชุมนุมที่ไหน เวลาเท่าไร หรือมีไลน์เฉพาะกลุ่มให้รู้ว่า จะมีกิจกรรมอะไร ที่ไหน เมื่อไร เพื่อจะไปร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมกับเขาด้วย และคนกลุ่มนี้ไม่เชื่อข่าวที่โพสต์โดยกลุ่มอื่น แต่จะฟังข่าวจากกลุ่มของตน เชื่อข่าวในกลุ่มของตน และรีบแชร์ส่งต่อในกลุ่มของตนเท่านั้น
คนหนุ่มสาว นักศึกษาและนักเรียนพวกนี้ไม่สนใจว่าข่าวนั้นจะเป็นเฟค ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม หรือไม่อย่างไร หากเป็นข่าวที่ถูกจริต เขาก็พร้อมที่จะกดไลค์ กดแชร์ทันที ใครมาพูดชี้แจงอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง ซ้ำยังหาว่าเป็นแผนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะทำลายพวกตนเสียอีก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนในวัยนี้คือ ยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะแยกแยะว่าอะไรคือข่าวจริง ข่าวหลอก แต่จะตัดสินใจบนความพอใจของตนต่อข่าวนั้น ๆ เป็นสำคัญ และแชร์ส่งต่อให้เพื่อน
เวลานี้เราพอจะรู้แล้วว่า เฟคนิวส์ถูกปล่อยออกมาจากคนกลุ่มหนึ่ง และมักเป็นหน้าเดิม ๆ ที่คลั่งลัทธิชังเจ้าชังชาติ และมีเครือข่ายสื่อมวลชน ทั้งโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ บางแห่งรับลูกไปขยายต่อ มีทีมงานกดไลค์ กดแชร์ เพิ่มยอดอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ทำให้ผู้หนีคดีที่ไปอยู่ต่างประเทศสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สื่อสารกับแฟนคลับของตนได้
คนพวกนี้ระยะหลังชักจะหนักข้อมากขึ้นทุกที ทั้งการด้อยค่าสถาบันสูงสุดแล้ว ยังทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศเสียชื่อเสียง พวกเขาอาจถือว่าตัวเองอยู่ต่างประเทศ ทางการไทยไม่มีทางทำอะไรพวกเขาได้
วัตถุประสงค์ของบทความในวันนี้ ไม่ได้ต้องการสื่อไปถึงคนวัยหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษาเพราะเขียนหรือพูดอะไรเขาคงไม่เชื่อ แต่ต้องการสื่อไปถึงกลุ่มคนที่รับเฟคนิวส์ทุกวัน คือ พวกผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป หรือพวกที่เกษียณอายุอยู่บ้าน โดยเฉพาะคนที่สนใจการบ้านการเมืองและเคยเข้าร่วมการชุมนุมขนาดใหญ่ของพันธมิตรฯ กปปส. หรือ นปช.มาแล้ว คนพวกนี้ใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่กับข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองผ่านสื่อออนไลน์ และชอบกดไลค์ กดแชร์ข้อมูลถึงเพื่อน คนพวกนี้ต่างหากที่สมควรจะรู้ว่า อะไรคือข่าวจริง อะไรคือเฟคนิวส์ อะไรควรกดไลค์ สิ่งใดควรแชร์ หรือไม่อย่างไร
คนพวกนี้เป็น “พลังเงียบ” ที่ไม่ยอมให้บ้านเมืองเสียหาย แม้จะแก่ แต่ใจยังสู้ และพร้อมจะออกมารักษาบ้านเมืองอีกครั้ง (หรือหลายครั้ง) จึงจำเป็นต้องรู้วิธีการตรวจสอบเฟคนิวส์ และอย่าเพิ่งใจร้อนกดไลค์ กดแชร์ ที่นิยมทำกันเป็นประจำ
หลายเดือนที่ผ่านมานี้ ท่ามกลางกระแสโควิดกระหน่ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รวบรวมข่าวเฟคนิวส์ และวิธีสังเกตว่าข่าวอะไรเป็นเฟคหรือไม่ มาให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แจ้งจับคนที่ปล่อยข่าวเฟคนิวส์ไปแล้วหลายคน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความห่วงใยต่อเฟคนิวส์ที่มีมากขึ้น และย้ำว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องรู้ทันโซเชียล อย่าไปหลงข่าวบิดเบือน เป็นที่น่าสังเกตว่า เฟคนิวส์หลายข่าวรุนแรงจาบจ้วงสถาบันและทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
ไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่เท่านั้นต้องรู้เท่าทันโซเชียล แต่รุ่นพี่ป้าน้ำอา ปู่ย่าตายายก็ต้องรู้เท่าทันโซเชียลเช่นกัน อ่านหรือเห็นข่าวอะไร ก่อนกดไลค์ กดแชร์ หยุดคิดสักนิด
รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีงานทำมากขึ้น นอกจากแจ้งความดำเนินคดีต่อคนหรือกลุ่มคนที่ปล่อยข่าวเฟคนิวส์แล้ว ยังต้องร้องขอให้เจ้าของแพลตฟอร์มสำคัญซึ่งอยู่ในต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นช่องทางที่คนปล่อยข่าวนิยมใช้ ช่วยบล็อกไม่ให้ข่าวพวกนี้ออกมาหลอกลวงประชาชนได้ ซึ่งยูทูป และทวิตเตอร์ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีตั้งแต่หลายปีมาแล้ว แต่ เฟซบุ๊ค มีท่าทีงอแงตลอดมา แม้กระทรวงฯ จะแสดงคำสั่งศาลไทยแล้วก็ตาม
เรามี “คาถา” สำหรับแยกแยะว่าอะไรเป็นเฟคนิวส์หรือไม่อย่างไร เป็นคาถาพื้นๆที่ใช้ในบรรดาคนทำงานด้านข่าวกรอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องลี้ลับอะไร คาถานี้อาจนำมาประยุกต์ใช้กับการพิจารณาแยกแยะว่า ข่าวอะไรน่าเชื่อว่าเป็นข่าวจริง และข่าวอะไรที่น่าเชื่อว่าเป๋นข่าวปลอม อย่างไรก็ดี ข่าวทั้งฉบับอาจมีบางส่วนเป็นข่าวจริง บางส่วนเป็นข่าวปลอม
ไม่ใช่ข่าวทั้งหมดจะเป็นเฟค แต่อาจมีบางส่วนเป็นข่าวจริง บางส่วนเป็นข่าวเฟค ขึ้นอยู่กับคนให้ข่าวหรือคนเขียนข่าวนั้นต้องการอะไร
รายงานข่าวโดยทั่วไปทั้งข่าวเปิดและปิด จะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะเป็น “ที่มาของข่าว” หรือที่เรานิยมเรียกว่า “แหล่งข่าว” ส่วนที่สองคือ “เนื้อหาของข่าว”
เราให้ความสำคัญต่อที่มาของข่าวเป็นอันดับหนึ่ง ที่ผู้รายงานข่าวจะต้องบรรยายอย่างละเอียดเกี่ยวกับแหล่งข่าวนั้น หากเป็น “สายลับ” หรือแหล่งข่าวประจำที่มีความสำคัญและต้องปกปิดตัวบุคคล อาจใช้ “รหัส” เป็นการเฉพาะก็ได้ การให้ความสำคัญต่อแหล่งข่าว ก็เพราะเราต้องการรู้ “ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว” ถ้าแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ เขาก็จะน่าจะให้ข่าวที่เป็นจริง แต่ถ้าแหล่งข่าวไม่น่าเชื่อถือ เขาก็อาจให้ข่าวที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง
ประการที่สองคือ “การเข้าถึงเป้าหมาย” ของแหล่งข่าว ว่าแหล่งข่าวนั้นได้ข่าวมาอย่างไร ได้มาโดยเห็นด้วยตนเอง ประสบด้วยตนเอง ทำด้วยตนเอง หรือได้มาจากคำบอกเล่าของคนอื่น ได้ข่าวมาจากแหล่งอื่น และคนที่เล่าให้ฟังนั้นเห็นด้วยตนเอง หรือได้ฟังมาอีกที เพราะตามหลักมีอยุ่ว่า หากฟังต่อมาหลายทอด ข่าวนั้นจะถูกบิดเบือนไปเรื่อย ๆ ความจริงก็จะน้อยลงๆ
ประการที่สาม คือ “ความเป็นไปได้ของข่าว” เพราะถ้าข่าวบอกว่าคนเอาหัวเดินต่างเท้า ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้เพราะผิดธรรมชาติ หรือแหล่งข่าวบรรยายสถานการณ์ได้รายละเอียดเหมือนตาเห็นทั้งที่มืดสนิท อย่างนี้ก็ไม่น่าเป็นไปได้ หรือแหล่งข่าวไม่รู้ภาษาถิ่น แต่รายงานเหมือนเข้าใจสำเนียงที่คนถิ่นหรือชาวต่างประเทศพูดกัน ฯลน อีกทั้งต้องดูประกอบและเปรียบเทียบกับข่าวที่ได้จากแหล่งอื่น ๆ ด้วย และดู “ข่าวเดิม” ที่มีมาก่อนด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการปล่อยข่าว “เฟคนิวส์” พยายามที่จะปล่อยเฟคนิวส์ให้ “ดูเหมือนจริง” มากที่สุด อาทิ ปล่อยข่าวจริงมาตลอดและมา “หักมุม” ตอนสุดท้าย เพื่อให้ผู้อ่าน หรือผู้บริโภคข่าว เข้าใจไปในทางที่ตนต้องการให้เข้าใจ
ในวงการข่าวกรอง จึงมีทั้ง “ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวปล่อย “ แล้วแต่วัตถุประสงค์ของคนที่ต้องการเผยแพร่ข่าวนั้น
แม้จะยุ่งยาก แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนผู้เสพย์ข่าวในปัจจุบัน ที่จะ “ไม่รีบร้อน” เชื่อข่าวที่เห็นหรืออ่านอย่างทันทีทันใด หรืออย่างน้อยไม่รีบร้อนที่จะกด “ไลค์” หรือ “แชร์” ไปให้คนอื่นได้ทราบหากสงสัยว่าข่าวนั้นจะเป็น “เฟคนิวส์” หรือไม่อย่างไร
ยกเว้นบางคนอยากให้เพื่อนรู้ว่า ตัวเองรู้ข่าวนี้ก่อนคนอื่น จึงตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์
สำคัญที่สุดคือ ผู้เสพข่าวต้องมี “สติ” และ “ปัญญา” ในการพิจารณาข่าวนั้น
ท่านผู้ว่างงานหรือผู้เกษียณอายุทั้งหลาย ซึ่งชีวิตไม่รีบร้อนอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนกดไลค์หรือแชร์ มิฉะนั้น ท่านจะตกเป็นเหยื่อของข่าวและผู้ปล่อยข่าว ส่วนผู้ใหญ่วัย 30 ปีขึ้นไป ที่ยังทำงานอยู่ก็ต้องพิจารณาข่าวที่ได้รับอย่างรอบคอบมากขึ้น
บรรดา “คนรุ่นใหม่” (รวมทั้งคนที่เพิ่งทำงานใหม่ๆ) จะใช้สูตรนี้ด้วยก็ไม่มีปัญหาอะไร จะได้ “รู้ทัน” และไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของเฟคนิวส์ ( จบ )
บทความโดย ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 3 มิ.ย.2564
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/654607