-
- FBI กับตำรวจออสเตรเลีย ร่วมมือผุดปฏิบัติการแอปแชตลับ ANOM อาชญากรในหลายสิบประเทศหลงกลใช้งาน สุดท้ายโดยจับทั่วโลกเกือบพันคน
-
- ปฏิบัติการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่พยายามแพร่กระจายแอปเข้าสู่เครือข่ายใต้ดิน จนอาชญากรเริ่มใช้งานอย่างแพร่หลายใน 100 ประเทศทั่วโลก
-
- เจ้าหน้าที่ยังได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากอาชญากรตัวเป้ง ซึ่งหลงกลตำรวจและนำแอปไปแนะนำต่อ จนมันกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น
เมื่อวันอังคารที่ 8 มิ.ย. 2564 หน่วยงานตำรวจในหลายประเทศทั่วโลก ประกาศข่าวการจับกุมตัวอาชญากรจำนวนกว่า 800 คน ซึ่งถูกหลอกให้ใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความเข้ารหัสที่ชื่อว่า ‘ANOM’ (อานอม) ซึ่งดูเหมือนจะปลอดภัย แต่แท้จริงแล้ว แอปนี้กลับถูกบริหารจัดการโดย FBI ของสหรัฐฯ
ปฏิบัติการที่ว่านี้เป็นความร่วมมือระหว่าง FBI กับตำรวจออสเตรเลีย โดยแพร่กระจายแอป ANOM ไปในหมู่แก๊งอาชญากรรมอย่างลับๆ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดักฟังข้อมูลต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็นแผนลักลอบขนยาเสพติด, การฟอกเงิน หรือแม้แต่แผนฆาตกรรม
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้รับความช่วยเหลือโดยไม่ตั้งใจจากอาชญากรตัวเอ้ ซึ่งหลบหนีการจับกุมมานานกว่า 10 ปี แต่กลับหลงกลตำรวจและนำแอปไปแนะนำต่อ จนนำไปสู่ความสำเร็จของปฏิบัติการที่เอฟบีไอระบุว่า ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถพลิกสถานการณ์การต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมได้เลยทีเดียว
แอป ANOM คืออะไร?
เบื้องหน้าของ ANOM ดูเหมือนเป็นแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความเข้ารหัส ทำให้สามารถใช้สื่อสารได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ติดตามสอดแนม มีฟังก์ชันการสื่อสารด้วยข้อความ, รูปภาพ และวิดีโอ คล้ายกับแอปทั่วไปอย่าง วอตส์แอป ที่ต่างกันคือ ANOM ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทำสิ่งผิดกฎหมาย
แต่เบื้องหลังแอปพลิเคชันที่ดูเหมือนจะปลอดภัยนี้ เป็นอุบายที่วางแผนโดยเจ้าหน้าที่ FBI กับตำรวจออสเตรเลียตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2561 พวกเขามี ‘มาสเตอร์คีย์’ สำหรับถอดรหัสข้อความได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว ซึ่ง FBI เรียกปฏิบัติการนี้ว่า ‘โทรจัน ชีลด์’ (Trojan Shield) ส่วนออสเตรเลียเรียกว่า ปฏิบัติการพิเศษ ‘ไอรอนไซด์’ (Ironside)
ปฏิบัติการแพร่กระจายแอปลับ
แนวคิวเรื่องปฏิบัติการ โทรจัน ชีลด์ เกิดขึ้นหลังจากบริการส่งข้อความเข้ารหัสเจ้าอื่นๆ เช่น EncroChat ถูกตำรวจสั่งปิด ทำให้แก๊งอาชญากรรมต้องหาช่องทางสื่อสารที่ปลอดภัยใหม่ ในขณะที่ตำรวจเข้าควบคุมบริษัท ANOM ได้เมื่อราว 3 ปีก่อน จากความช่วยเหลือของอาชญากรที่สัญญาจะร่วมมือ เพื่อแลกกับโทษที่เบาลง
ตำรวจออสเตรเลียอธิบายว่า ในโลกใต้ดิน อาชญากรใช้สมาร์ตโฟนดัดแปลง ไม่ให้โทร, ส่งอีเมล หรือระบุตำแหน่งได้ ต้องสื่อสารกับคนอื่นผ่านแพลตฟอร์มเดียวกันเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงใช้ “สายข่าว” ปล่อยโทรศัพท์ดัดแปลงที่ติดตั้งแอป ANOM เข้าไปในองค์กรอาชญากรรมอย่างลับๆ ก่อนที่ข่าวจะแพร่กระจายแบบปากต่อปาก โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยยุยงส่งเสริมด้วย
ในช่วงแรก การกระจายของแอปเป็นไปอย่างเชื่องช้า จนกระทั้งช่วงกลางปี 2562 อาชญากรเบอร์ใหญ่เริ่มใช้งาน ทำให้อาชญากรคนอื่นมั่นใจที่จะใช้แอป ANOM โทรศัพท์ติดตั้งแอปถูกยังถูกนำไปขายในตลาดมือ และการซื้อขายต้องได้รับอนุมัติจากผู้ใช้งานคนอื่นก่อน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกปลอดภัยขึ้นไปอีก
จนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่ติดตั้ง ANOM ถูกแพร่กระจายออกไปเกือบ 12,000 เครื่อง และมีใช้ในองค์กรอาชญากรรมกว่า 300 กลุ่มใน 100 ประเทศทั่วโลก
ความช่วยเหลือโดยไม่ตั้งใจ
เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียเปิดเผยอีกว่า ปฏิบัติการของตำรวจได้รับความช่วยเหลือย่างมากจากนาย ฮาคาร อายิค หนึ่งในอาชญากรที่ตำรวจแดนจิงโจ้ต้องการตัวมากที่สุด ซึ่งหนีออกนอกประเทศเมื่อทศวรรษก่อน และไปใช้ชีวิตอย่างหรูหราในตุรกี และกลายเป็นผู้ลักลอบขนยาเสพติดคนสำคัญ ที่คอยควบคุมการนำเข้ายานรกจากตุรกี
แต่นายอายิคกลับกลายเป็นผู้ที่แนะนำแอป ANOM เข้าสู่เครือข่ายของตัวเองโดยไม่รู้ตัว หลังจากเขาหลงกลเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ที่ให้เขาทดลองใช้แอป
จนถึงตอนนี้ นายอายิคยังไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม แต่นาย รีซ เคอร์ชอว์ ผู้บัญชาการตำรวจออสเตรเลียเตือนให้นายอายิครีบเข้ามอบตัว ก่อนที่ตัวเขาหรือครอบครัวจะตกเป็นเป้าของการแก้แค้น จากการที่เขามีส่วนร่วมในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม
อ่านข้อความแบบเรียลไทม์
นายเคอร์ชอว์ระบุว่า ตำรวจกว่า 9,000 นายทั่วโลก มีส่วนร่วมในปฏิบัติการไอรอนไซด์ โดยเจ้าหน้าที่สามารถอ่านข้อความนับล้านทันทีที่มีการส่ง และส่วนใหญ่คุยกันแต่เรื่องชั่วร้าย “พวกเขาคุยกันแต่เรื่อง ยาเสพติด, ความรุนแรง, หาเรื่องคนอื่น, ผู้บริสุทธิ์ที่กำลังจะถูกฆ่า และอื่นๆ” นายเคอร์ชอว์เผย
ด้านนาย คาลวิน ชิฟเวอร์ส จากแผนกสืบสวนคดีอาชญากรรมของ FBI กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้ทำให้องค์กรตำรวจสามารถพลิกสถานการณ์ในการต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรม ด้วยข่าวกรองที่รวบรวมได้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันการฆาตกรรมและอาชญากรรมอื่นๆ
จับคนร้ายเกือบพัน ของกลางอีกอื้อ
ปฏิบัติการที่กินเวลานานกว่า 3 ปีนี้ ทำให้ตำรวจสามารถจับกุมอาชญากรได้มากกว่า 800 คนใน 16 ประเทศทั่วโลก แต่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อของผู้ที่ถูกจับกุม
ที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศนำร่องของปฏิบัติการนี้ จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 224 คน รวมถึงแก๊งจักรยานยนต์ผิดกฎหมาย, กลุ่มมาเฟียอิตาลี, แก๊งอาชญากรรมชาวเอเชีย และองค์กรร้ายอื่นๆ พร้อมกับยึดยาเสพติดได้ 3 ตัน กับเงินสดและทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 45 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย นอกจากนี้ตำรวจยังตอบสนองต่อการขู่ฆ่าอีก 20 ครั้ง ช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้หลายคน
ส่วนที่นิวซีแลนด์ ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 35 คน และยึดทรัพย์สินมูลค่า 3.7 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ เยอมนีจับผู้ต้องสงสัย 70 คน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐ เฮ็สเซิน และตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยเป็นจุดขนยาเสพติดอีก 150 แห่ง ที่เนเธอร์แลนด์จับผู้ต้องสงสัยได้ 49 คน ยึดปืน 8 กระบอกและเงินอีก 2.3 ล้านยูโร และที่สวีเดน มีผู้ถูกจับกุมถึง 155 คน หลังได้รับเบาะแสจาก FBI
ส่วนสหรัฐอเมริกา FBI ยื่นหนังสือฟ้องร้องผู้ต้องสงสัย 17 ราย ในจำนวนนี้ถูกจับกุมแล้ว 8 คนส่วนที่เหลือยังหลบหนี.
ที่มา : Washingtonpost, BBC
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์
ผู้เขียน : H2O
วันที่เผยแพร่ 11 มิ.ย.2564
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2113190?utm_source=PANORAMA_TOPIC