ตามที่เคยเสนอบทความเรียนรู้ รปภ.จากภาพยนต์ ซึ่งเป็น series เกาหลี/ปี 2562 ชื่อ Search : WWW หรือ Geomsaegeoreul Imnyeokaseyo WWW เนื้อเรื่องเป็นแนว romantic comedy +social network+จิตวิทยาสังคม แต่มีความน่าสนใจอยู่ที่การแสวงประโยชน์จากพื้นฐานสังคมและความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างอิทธิพลกับครอบงำบริษัทธุรกิจ Web Portal ชั้นนำของประเทศ 2 แห่ง คือ บริษัท UNICON และบริษัท BARRO ถึงแม้ทั้ง 2 บริษัทจะเป็นคู่แข่งและแย่งชิงความเป็นผู้นำการใช้ keyword 1 เพื่อทำให้เว็บไซต์ติดอันดับอย่างเว็บ search engine แต่เพื่อปกป้องความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ จึงนำมาสู่ความร่วมมือเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐบาล ด้วยเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Web Portal ระหว่างภาคเอกชนกับรัฐ อิทธิพลแฝงของการ searching ในออนไลน์ การแสวงประโยชน์จาก keyword ใน search engine2 หรือการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงธุรกิจบริษัท Web Portal ซึ่งจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน (User) เช่นนี้ที่นำไปสู่ข้อพิจารณาด้านการแสวงประโยชน์ข้อมูลข่าวสาร
Web Portal คือ เว็บไซต์ที่ออกแบบสำหรับให้ผู้ใช้งาน เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร/บริการต่างๆ เป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว ทั้งที่เป็นข้อมูลใน Web Portal และที่เชื่อมต่อกับเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร/บริการตามคำสั่งสืบค้นจากผู้ใช้งาน เพื่อนำไปใช้ตามความต้องการ จึงเท่ากับว่าผู้ใช้งาน เท่านั้นเป็นศูนย์กลางของทุก Web Portal ข้อมูลข่าวสาร/บริการต่างๆ ต้องเกี่ยวข้องกับหรือเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ใช้งาน Web Portal จึงแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 แบบ คือ 1) การให้บริการทั่วไป เช่น เว็บ Search engine ของบริษัท Google หรือ บริษัท Yahoo กับแบบให้บริการเฉพาะ เช่น Health Portal เป็นเว็บไซต์เฉพาะข้อมูลข่าวสารสุขภาพ หรือ Pet Portal เป็น เว็บไซต์ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เนื่องจากหน้าที่หลักของ Web Portal คือการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้งานร่วมกับบุคคลอื่น/ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล รวมถึงทำการรักษาความลับข้อมูลข่าวสาร หรือของผู้ใช้งาน หน้าที่ของ Web Portal บางส่วนจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่เอื้อต่อการนำไปแสวงประโยชน์ทั้งด้านบวกและลบ หรือต่อการสร้างอิทธิพลแฝงและเข้าแทรกแซงความเป็นสาธารณะบนโลกออนไลน์
สำหรับเนื้อหาทุกตอนของ series เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ในโลกออนไลน์ อย่างน่าสนใจ แต่บทความนี้จะขอยกตัวอย่างข้อพิจารณาจากเพียงตอนที่ 1 เพราะเป็นตอนที่เริ่มกล่าวถึง search3 and navigation4 ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักด้านสืบค้นข้อมูลข่าวสาร/บริการต่างๆ บน Web Portal โดยเฉลี่ยแล้วเกิดการ search/navigation ขึ้นมากกว่า 430 ล้านครั้งต่อวัน มิได้ระบุว่าเกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้หรือทั่วโลก จึงเท่ากับว่า ข้อมูลข่าวสาร/บริการต่างๆผ่าน Web Portal เกิดขึ้นอย่างไร้ข้อจำกัดในด้านเวลา สถานที่ หรือจำนวนครั้งของการเรียกใช้ การ search/navigation ในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ในโลกอย่างไร้พรมแดน ด้วยเหตุนี้การรวบรวม keyword ทุกประเภทและจำนวนครั้งที่มาจากการทำการ search/navigation ช่วยให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวจากทุกทิศทางในสังคม โดยเฉพาะความสนใจจากผู้ใช้บนโลกสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และเพื่อให้รองรับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแต่ละบริษัท Web Portal ต่างรวบรวม จัดเรียงลำดับ และปรับลำดับ keyword ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งทำการปรับลำดับในแบบทันท่วงที (realtime5 ) เพื่อรองรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสังคม online ที่สามารถกระทำได้นับแต่จุดเริ่มต้น เวลา สถานที่ และผลกระทบที่เกิดหรือจะเกิดขึ้น ฉะนั้นสถิติการใช้คำ keyword จากบริษัท Web Portal จึงเป็นข้อมูลชี้นำประเภทหนึ่งที่ดีต่อ Social Listening6 เพื่อการประเมิน คาดการณ์ และเตรียมความพร้อมรับความเคลื่อนไหวและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะจากสังคมออนไลน์
ต่อข้อพิจารณาที่น่าสนใจจากเนื้อหาตอนที่ 1 แบ่งได้ 3 ประเด็น
โดยประเด็นแรกมาจากเหตุต้องสงสัยต่อกลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซงลำดับคำ keyword ใน search engine ของบริษัท UNICON ซึ่งเป็นบริษัท web portal ที่มีอิทธิพลต่อสังคม online เป็นอันดับ 1 ของประเทศ สาเหตุมาจากช่วงระยะ 6 เดือนก่อนกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปรากฎว่า keyword สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีรายหนึ่งหายไปจากลำดับ keyword ของบริษัท UNICON ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัครฯ ดังกล่าว เนื่องจากจะไม่ปรากฎในสถิติ keyword ที่ใช้สืบค้น จะมีผลให้ประชาชนลดความสนใจลง โดยเฉพาะต่อข้อมูลในด้านลบของผู้สมัครฯ ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการปิดกั้นการได้รับรู้ของประชาชนและตั้งคณะกรรมการไต่สวนในแง่ที่ว่ามีการปรับแก้อันดับ real-time keyword ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครฯ ดังกล่าว ซึ่งอาจเชื่อมโยงถึงบริษัท UNICON คณะกรรมการไต่สวนฯ จึงเรียกร้องให้บริษัท UNICON ส่งผู้แทนมาร่วมการไต่สวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง จากเนื้อหาส่วนนี้จะเห็นว่า ฝ่ายรัฐมีนโยบายเฝ้าสังเกตและติดตามความเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละบริษัท web portal และหากพบข้อผิดสังเกต ก็ใช้อำนาจตรวจประเมินการทำงานของบริษัทเอกชนนั้นทันที ซึ่งเท่ากับมีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐตามจับผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารใน network และเข้าแทรกแซงสังคม online ของเอกชนอย่างเต็มที่ จากเหตุนี้นำมาเทียบกับกฎหมายหรือระเบียบราชการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของไทยจะเห็นว่า ไม่รองรับและไม่มีอำนาจควบคุมข้อมูลข่าวสารของเอกชน เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ใช้เฉพาะกับข้อมูลข่าวสารในครอบครองของทางราชการ การดำเนินการใดๆ ต่อข้อมูลข่าวสารในครอบครองของภาคเอกชนต้องอาศัยผ่านกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน7 ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 8 ไม่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะพระราชบัญญัตินี้เป็นการควบคุมเชิงสังคมและพาณิชย์ ไม่รองรับการกระทำโดยรัฐต่อเอกชน ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการนำใช้กฎหมายฉบับนี้ระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างไม่สอดคล้องตามเป้าหมายเดิม
ประเด็นต่อมาสืบเนื่องกับประเด็นแรก คือการที่ผู้แทนบริษัท UNICON ยอมรับว่า บริษัททำการลบ real-time keyword บางส่วนจริง และส่งผลให้อันดับ keyword ของบริษัท UNICON ไม่เป็นไปตามจริง แต่เหตุผลที่กระทำการเช่นนั้นเพื่อดูแลมิให้ผู้ใช้งาน นำคำที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะคำที่ให้นัยทางละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือหยาบคาย หรือขัดศีลธรรม จริยธรรมของสังคม เช่น ใช้คำ keyword ค้นหาข้อมูลเพศสัมพันธ์ของบุคคลสาธารณะ เป็นต้น อีกประการหนึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์ด้าน Personalization ระหว่างบริษัทกับทุกคนที่ผ่านเข้ามาใช้ Web Portal ของบริษัท เพราะคำ keyword ที่ไม่เหมาะสมอาจสร้างข้อขัดแย้ง โดยเฉพาะการหมิ่นประมาทตัวบุคคล เนื่องจากคำ keyword ที่ระบุตัวตนบุคคลนับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์9 (Evidence) ประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปรับอันดับ keyword ไปจากความเป็นจริง ต้องจัดทำผ่านผู้ควบคุมระบบ เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะใช้ปรับข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้คัดกรองจะถูกกำหนดให้เทียบเคียงข้อมูลกับแหล่งข้อมูลที่ได้รับการรับรองมาแล้วเท่านั้น และหากบริษัท Web Portal ใดถูกเปิดเผยว่าจงใจดำเนินการยับยั้ง/ปิดบังข้อเท็จจริงที่ถูกเรียกใช้ผ่าน search engine ของบริษัท ย่อมสร้างผลเสียด้านความเชื่อมั่นในสังคมทันที สำหรับกรณีที่รัฐทำการจับผิดบริษัท UNICON เช่นนี้ ประเมินว่า ไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ฝ่ายใด ถึงแม้สภาพการ search /navigation จะเกิดขึ้นอยู่เสมอจนทำให้รู้สึกเสมือนเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะในสังคม online ที่ยินยอมให้ฝ่ายรัฐเข้าตรวจสอบได้ก็ตาม แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การ search /navigation เป็น privacy และเป็นการดำเนินการเฉพาะระหว่างบริษัท web portal กับประชาชนที่ผ่านเข้ามา/ใช้บริการในฐานะ user เท่านั้น การใช้อำนาจรัฐเช่นนั้นอาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ และอาจเกี่ยวเนื่องถึงกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชนอีกด้วย
ข้อพิจารณาประเด็นสุดท้ายแสดงถึงการคงอยู่ของข้อมูลบนเครือข่าย ที่สามารถสืบค้นและนำกลับมาได้อีก กล่าวคือ เมื่อบริษัท UNICON ยอมรับว่าทำการปรับคำ keyword ใน search engine จริง ผู้แทนบริษัทได้แสดงให้เห็นว่า การปรับคำดังกล่าวไม่ได้ทำให้ข้อมูล เหล่านั้นสูญหาย เพราะทุกข้อมูลบนโลกออนไลน์ ยังคงอยู่เสมอ และ keyword คือ ข้อมูลและหากทำการค้นหาโดยเฉพาะผ่านรหัสประจำตัวของผู้เคยเข้ามาใช้บริการ Web Portal ยอมพบและกู้คืนได้ โดยรหัสประจำตัวนั้นเป็นสิ่งยืนยันตัวตนของผู้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย ผู้แทนบริษัท UNICON ได้แสดงตัวอย่างถึงการสืบค้นด้วยรหัสประจำตัวของกรรมการจากคณะกรรมการไต่สวนฯ ที่เคยเข้ามาใช้งานผ่าน Web Portal ของบริษัท UNICON และพบข้อมูลสืบเนื่องย้อนหลังเป็นเวลาหลายปีของกรรมการฯ ผู้นั้นว่า เคยมีพฤติกรรมซื้อบริการทางเพศจากผู้เยาว์ ซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์ปัจจุบันที่ต่อต้านการค้าประเวณี และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของกรรมการฯ ผู้นั้นทันที ต่อการไม่สูญหายของข้อมูล บนโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวังในการนำมาแสวงประโยชน์เฉพาะฝ่ายอย่างยิ่ง
แม้ว่าการสร้างข้อมูลเท็จ/ข่าวสารปลอมตาม page ต่างๆ มักทำเพื่อกระตุ้นกระแสความเคลื่อนไหวในสังคม แต่โดยปกติข้อมูลเช่นนั้นจะได้รับความสนใจในระยะสั้นๆ และในทางกลับกันมักเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายตรงข้าม เพราะอาจเป็นช่องทางสำหรับการสืบค้นต่อเนื่อง หรือนำไปใช้โจมตีกลับ หรือกระตุ้นให้เกิดการรวม/เคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีทัศนคติเดียวกัน เช่น การติด “# ” hashtag10 on Twitter ซึ่งสำคัญที่สำหรับการค้นหา สื่อสาร และติดต่อระหว่างกลุ่มผู้ใช้คำสืบค้นเช่นเดียวกัน ที่อาจกลายเป็นกระแสนำไปสู่การเข้าร่วมกลุ่มคนที่มาจากสภาพหลากหลายจนกลายสู่วิกฤตได้ไม่ยาก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถรวบรวมข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เป็นข้อเท็จจริงได้อย่างชัดเจน แม้บางส่วนเป็นข้อมูลที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับ เช่น การ post บทความ การแสดงความคิดเห็น ข้อความ รูปภาพ หรืออื่นใดในอดีตของผู้ใช้งาน รวมถึงติดตามหรือค้นหาข้อมูลย้อนหลังของผู้นั้นได้ว่า เป็นเพศใดโพสข้อความเวลาใด และที่ไหน เช่นนี้ข้อมูลข่าวสารผ่านบริการ Web Portal นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ social listening เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่ได้ทราบถึงความเป็นไปในโลกออนไลน์เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประเมิน และประมาณการณ์ได้ทั้งหมดในฐานะ real-time data base ที่มีขนาดใหญ่มหาศาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ถึงแม้สภาพพัฒนาการใช้งานจะยังไม่ก้าวหน้าสู่การแทรกเข้าไปแสวงประโยชน์จาก web portal ก็ตาม แต่ก็เริ่มมีความตระหนักถึงการเข้าควบคุม Web page ที่สามารถนำมาใช้สร้างอำนาจต่อรองหรือทำการโฆษณาชวนเชื่อ แต่กระนั้นก็ยังขาดความตระหนักว่า ข้อมูลข่าวสารปลอมที่นำมาลงอาจทำลายความน่าเชื่อถือของประชาชนต่อเว็บไซต์
—————————————————————————————————————————————————————————————————————-
- 1 เป็นคำสำหรับใช้ในการสืบค้น หรือใช้อธิบายรูปลักษณะของสิ่งที่ต้องการสืบค้น
- 2 โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลบน internet ซึ่งครอบคลุมทั้งข้อความ ข้อมูลบุคคล กลุ่มข่าว รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว ซอฟต์แวร์ แผนที่ และอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปแล้วแต่โปรแกรมหรือผู้ให้บริการแต่ละราย search engine ส่วนใหญ่จะสืบค้นข้อมูลจาก keyword ที่ user ป้อนเข้าไป จากนั้นจะแสดงรายการผลลัพธ์ที่ประเมินว่า user น่าจะต้องการขึ้นมา
กล่าวคือ search engine ทำหน้าที่ตรวจค้นข้อมูลใน web page ต่างๆ รวบรวมข้อมูลที่ได้ทำการตรวจค้นไว้ในฐานข้อมูล และแสดงผลการสืบค้นข้อมูล ตัวอย่างเช่น google จะบันทึกประวัติการสืบค้นและการเลือกผลลัพธ์ของ user ไว้ด้วย และจะนำประวัติที่บันทึกนั้น มาช่วยกรองผลลัพธ์ในการสืบค้นครั้งต่อๆ ไป - 3 เป็นการสืบค้นหรือการค้นหาสังกัดของแฟ้มข้อมูล หรือแฟ้มเอกสารใดๆ ที่ต้องการ
- 4 เป็นระบบนำทาง user ไปยังหน้าต่างๆ ของ web site และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร/บริการต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และทราบถึงตำแหน่งที่อยู่ของตนเองใน web site นอกจากนี้ยังใช้กำหนดบทบาทของผู้ใช้ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ โดยผู้ใช้แต่ละกลุ่มจะสามารถเข้าถึงหน้า web page ได้อย่างมีขอบเขต ตามสิทธิที่วางไว้เท่านั้น
- 5 การประมวลผลตอบสนองแบบทันทีหรือในช่วงเวลาที่เร็วเพียงพอที่จะยอมรับได้ หลังจากได้รับคำสำหรับใช้ในการค้นหา
- 6 การรับทราบความเป็นไปที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนตลอดเวลาในโลกออนไลน์ ในฐานะพื้นที่สาธารณะที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ง่ายขึ้น เช่น ในสังคมให้ความสนใจ นำเสนอ สนับสนุนหรือต่อต้านสิ่งใด
- 7 ประเด็นที่น่าสนใจของกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน
1. วัตถุประสงค์ของกฎหมายมหาชน คือ การวางระเบียบบังคับความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับเอกชน
วัตถุประสงค์ของกฎหมายเอกชน คือ การวางระเบียบบังคับความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งมีความเท่าเทียมกัน จึงมีอำนาจในการต่อรอง จนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายก่อนที่จะเข้ามามีความสัมพันธ์กันโดยกฎหมายจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวจนกว่าบุคคลที่เข้ามาผูกพันกันด้วยความสมัครใจนั้นเกิดปัญหาไม่สามารถตกลงกันได้ และแสดงความจำนงของให้รัฐช่วยตัดสินให้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
2. กฎหมายมหาชน รัฐมีฐานะสูงกว่าเอกชน รัฐจึงมีอำนาจบังคับเอกชนได้ในขอบเขตของกฎหมาย อำนาจบังคับของรัฐอาจเกิดขึ้นโดยไม่ต้องฟ้องศาล หรือเกิดขึ้นโดยเอกชนร้องขอ
กฎหมายเอกชน มีฐานะทางกฎหมายทัดเทียมกัน ในบางกรณีรัฐอาจมีความสัมพันธ์กับเอกชนโดยลดฐานะให้อยู่ในลำดับเดียวกับเอกชน ในกรณีนี้ก็ต้องใช้กฎหมายเอกชนบังคับแก่รัฐ
3. กฎหมายมหาชน เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์ การตีความกฎหมายนี้จึงต้องเคร่งครัด
กฎหมายเอกชน มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น เช่น ยอมให้ผู้เกี่ยวข้องทำความตกลงยกเว้นกฎหมายได้ - 8 สรุปสาระสำคัญ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่มา ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ : https://www.marketingoops.com/news/viral-update/computer-law/
1. การฝากร้านใน Facebook, IG ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
2. การส่ง SMS โฆษณา โดยไม่รับความยินยอม ให้ผู้รับสามารถปฏิเสธข้อมูลนั้นได้ ไม่เช่นนั้นถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท3. การส่ง Email ขายของ ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
4. การกด Like ได้ไม่ผิด ยกเว้นการกดไลค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน เสี่ยงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม
5. การกด Share ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิด โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3
6. เมื่อพบข้อมูลผิดกฎหมายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของคอมพิวเตอร์กระทำเอง สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ หากแจ้งแล้วลบข้อมูลออก เจ้าของก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ความเห็นในเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึง Facebook ที่ให้แสดงความคิดเห็น หากพบว่าการแสดงความเห็นผิดกฎหมาย เมื่อแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อลบได้ทันที เจ้าของระบบเว็บไซต์จะไม่มีความผิด
7. สำหรับแอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น เมื่อพบข้อความที่ผิดพระราชบัญญัตินี้ เมื่อลบออกจากพื้นที่ที่ตนดูแลแล้ว จะถือเป็นผู้พ้นผิด
8. ไม่โพสต์สิ่งลามกอนาจาร ที่ทำให้เกิดการเผยแพร่สู่ประชาชนได้
9. การโพสเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ต้องปิดบังใบหน้า ยกเว้นเมื่อเป็นการเชิดชู ชื่นชม อย่างให้เกียรติ
10. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ต้องไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียเชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ญาติสามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
11. การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น ไม่มีข้อมูลจริง หรือถูกตัดต่อ ผู้ถูกกล่าวหาเอาผิดผู้โพสต์ได้ และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท อนึ่ง กรณีเช่นนี้มีกฏหมายอาญาคุ้มครองอยู่แล้ว
12. ไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ใด ไม่ว่าข้อความ เพลง รูปภาพ หรือวิดีโอ
13. ส่งรูปภาพแชร์ของผู้อื่น เช่น สวัสดี อวยพร ไม่ผิด ถ้าไม่เอาภาพไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หารายได้ - 9 ความจริงที่เป็นอยู่ ความรู้ หรือข้อมูล ที่มาจากทั้งความคิดเห็น ประสบการณ์ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ งานวิจัยหรือไม่ใช่งานวิจัย
- 10 คำหรือประโยคที่มีเครื่องหมาย “#” นำหน้าคำหรือประโยคนั้นๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ Metadata Tag ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายใน Social Media ต่างๆ โดยเริ่มต้นใช้ใน Twitter เป็นแห่งแรกโดยนาย Chris Messina และความนิยมจึงค่อยๆ แพร่หลายไปยัง Social Media อื่น เช่น Facebook Instagram หรือ Pinterest
————————————————————————————————————————————————————————————
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร / วันที่เผยแพร่ ๔ สิงหาคม 2564
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน