ผู้แทนพิเศษ ปธ.อาเซียน เรื่องเมียนมา เรื่องไม่ควรวุ่นที่ดูคล้ายวุ่นวาย ในการประชุม รมว.กต.อาเซียน 54
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 54 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 18 การประชุม ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่ที่ยืดยาวที่สุดในรอบปีของอาเซียนผ่านพ้นไปแล้ว หลังใช้เวลายาวนานตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันประเด็นแรกยังคงอยู่ที่การรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนและการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้มีการนำเงินจากกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) ซึ่งจัดขึ้นตามข้อริเริ่มของไทยไปจัดซื้อวัคซีนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เฉลี่ยประเทศละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างข้อตกลง โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อที่จะให้มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก โดยให้กองทุนเพื่อเด็ก แห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เป็นหน่วยงานที่ช่วยจัดซื้อและกระจายวัคซีนให้กับชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ซึ่งคิดว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าน่าจะดำเนินการได้ ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็เร่งดำเนินการให้ได้ข้อยุติโดยไว เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันน่าวิตกกังวลอย่างยิ่งยวด
ไทยในฐานะฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนในเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) เพื่อช่วยฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-19 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ในความพยายามช่วยเหลือเมียนมา เพื่อรับมือกับโควิด-19 ไทยก็ได้เสนอให้มีการประชุมประเทศผู้บริจาค ซึ่งบรูไนในฐานะประเทศอาเซียนน่าจะมีการจัดการในเรื่อง ดังกล่าวในเร็วๆ นี้ต่อไป
ประเด็นที่ดูจะได้รับความสนใจอย่างมากหนีไม่พ้นเรื่องการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งเป็นข้อสรุปจาก ที่ประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ ที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ร่วมกับการให้การรับรองฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนในครั้งนั้น ซึ่ง พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำการยึดอำนาจ ซึ่งกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมียนมา คนปัจจุบันเข้าร่วมหารือกับผู้นำอาเซียนด้วยตนเอง
ที่ผ่านมาแม้ประชาคมโลกจะยังมีการกดดัน คว่ำบาตร ไปจนถึงและเรียกร้องอะไรหลายอย่างให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการ แต่โลกก็ดูจะให้เวลากับอาเซียนในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีการประกาศฉันทามติ 5 ข้อออกมา กระนั้นก็ดีกระบวนการในการตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนก็ดูจะล่าช้า กระทั่ง 3 เดือนผ่านไปรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึงได้แสดงความยินดีที่ชื่อของ นายเอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไนคนที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานอาเซียนให้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่จับตานี้ื่ และบรูไนก็ลงมือทำงานทันทีโดยประสานงานกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ทั้งหม
ย้อนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจะเริ่มต้นขึ้น พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ได้กล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เพื่อประกาศท่าทีในหลายเรื่อง โดยหนึ่งในประเด็นที่พูดถึงคือเรื่องที่เมียนมาได้เลือก นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นผู้แทนพิเศษอาเซียน แต่ทราบว่าอาเซียนมีกระบวนการใหม่ ทำให้เรื่องผู้แทนพิเศษอาเซียนกลายเป็นที่จับตาทันทีว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไรในการประชุมเอเอ็มเอ็ม
หลังจากที่มีมติเกี่ยวกับการตั้งผู้แทนพิเศษในเดือนเมษายน บรูไนในฐานะประธานอาเซียนได้เวียนหนังสือแจ้งให้ชาติสมาชิกเสนอชื่อคนที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งรายชื่อที่มีการนำเสนอมี 3 คนประกอบด้วย นายฮัสซัน วิรายุดา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย นายวีระศักดิ์จากไทย และ นายราซาลี อิสมาอิล จากมาเลเซีย ซึ่งเคยเป็นผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติเรื่องเมียนมาที่ดูแลภารกิจในการสร้างความปรองดองในชาติและ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย
อันที่จริงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือกันในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียนที่นครฉงชิ่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้แทนพิเศษอาเซียนเป็น 3 คน แต่เมียนมาแจ้งว่าต้องกลับไปสอบถามกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ก่อน เพราะเดิมเมียนมาเข้าใจว่าผู้แทนพิเศษอาเซียนคือเลือกเพียง 1 คนจากชื่อที่แจ้งไป ต่อมาอาเซียน 9 ประเทศได้หารือกันและเห็นว่า หากเมียนมาต้องการให้มีผู้แทนพิเศษเพียง 1 คน บรูไนในฐานะประธานอาเซียนควรรับตำแหน่งดังกล่าวไป
ดังนั้นที่หลายฝ่ายคิดว่ากระบวนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษอาเซียนล่าช้า ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ความผิด หรือการดึงเรื่องจากฝ่าย เมียนมาทั้งหมด แต่มาจากกระบวนการหารือระหว่างกัน ซึ่งมีพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
กระนั้นก็ดีตลอดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ ดูเหมือนว่าผู้ที่จะออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าวมากที่สุดหนีไม่พ้น นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ที่ออกมากดดันให้เมียนมารับรองผู้แทนพิเศษของอาเซียนทันที รวมถึงการให้ข่าวจากแหล่งข่าวของฝ่ายอินโดนีเซียที่ว่า นางเร็ตโนได้คัดค้านอย่างรุนแรงต่อการเลือกนายวีระศักดิ์ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เพราะเห็นว่านายวีระศักดิ์มีความใกล้ชิดกับนายพลเมียนมา จึงมีโอกาสน้อยที่เขาจะทำให้การวางเส้นทางที่จะให้เมียนมากลับคืนสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยผ่านการเจรจากับ นาง ออง ซาน ซูจี และบุคคลอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ประสบความสำเร็จ
จะว่าไปการดำเนินการเช่นนี้ของฝ่ายอินโดนีเซียต้องบอกว่าแทบจะไร้มารยาททางการทูต ซ้ำยังย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ในที่ประชุม เอเอ็มเอ็ม ที่นางเร็ตโนไม่ได้พูดถึงนายวีระศักดิ์เสียด้วยซ้ำ มีเพียงเมียนมาที่พูดว่านายวีระศักดิ์คือผู้ที่ผู้นำเมียนมาเลือก แต่ที่ประชุม ก็ทราบดีว่าสถานการณ์ล่าสุดในการประชุมเอเอ็มเอ็มนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายวีระศักดิ์อีกต่อไป แต่เป็นประเด็นของการเสนอชื่อรัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนเป็นผู้แทนพิเศษอาเซียน
ไม่แปลกที่เมียนมาจะไม่สะดวกใจกับผู้แทนของอินโดนีเซียเมื่อคำนึงถึงท่าทีแข็งกร้าวที่ฝ่ายอินโดนีเซียมักจะใช้ในระยะหลัง เห็นได้จากการที่เมียนมาปฏิเสธที่จะให้นางเร็ตโนเดินทางเข้าประเทศมาแล้วหลายครั้ง กระทั่งเมื่อครั้งที่นางเร็ตโนบินมารอที่ไทยเพื่อจะเข้าเมียนมาแต่ถูกปฏิเสธ ก็เป็น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไม่อยากให้นางเร็ตโนเสียเที่ยว จึงได้เชิญ นายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา มาพบกับนางเร็ตโนที่สนามบินในกรุงเทพ
นั่นคือการทำงานการทูตเพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ ซึ่งต่างจากการที่อินโดนีเซียพยายามจะยกระดับบทบาทการทูตของตนเองในประเด็นเมียนมาด้วยการโจมตีประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ทั้งที่ความจริงเป็นอย่างไรและใครที่สร้างเงื่อนไขให้การหาข้อสรุปยืดยาวออกไป คนที่เกี่ยวข้องก็รู้ดีอยู่แก่ใจ
เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความไม่มีเสถียรภาพในเมียนมา ค่าที่เรามีพรมแดนติดกันกว่า 2,400 กิโลเมตร ไม่แปลกที่ไทยอยากจะเห็นสถานการณ์ในเมียนมากลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
จริงอยู่ที่กว่าเมียนมาจะก้าวไปถึงจุดนั้น เมื่อมองจากข้อเท็จจริงในวันนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่อย่างน้อยก็หวังว่า ก้าวแห่งการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียนจะช่วยให้เกิดความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมไม่มากก็น้อย
————————————————————