พรรคประชาธิปไตยเกาหลีหรือ ดีพีเค (DemocraticParty of Korea : DPK) พรรครัฐบาลเกาหลีใต้ ใกล้บรรลุเป้าหมายผลักดันกฎหมายสื่อสารมวลชนฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายต่อสู้กับข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน ที่กำลังสร้างความปั่นป่วน ในทุกภาคส่วนสังคมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ร่างกฎหมาย Acton Press Arbitration and Remedies ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ของรัฐสภาเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือนก.ค. และผ่านขั้นกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 25ส.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าจะผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมรัฐสภา ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยสมบูรณ์ในอีกไม่นาน
กฎหมายสื่อฉบับใหม่กำหนดบทลงโทษปรับหนักขึ้น 5 เท่า สำหรับความผิดฐานตีพิมพ์เผยแพร่รายงาน ที่เป็นเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียหาย หรือทำให้เกิดภาวะบีบคั้นทางจิตใจ ไม่ว่าการเผยแพร่จะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้สำนักข่าวหรือองค์กรสื่อ รวมถึงเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ต้องแก้ไขความผิดพลาด หรือชี้แจงข้อเท็จจริงโดยระบุว่า เป็นการเผยแพร่โดยตั้งใจหรือ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ระบุชัดคำนิยามของ “ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน” นอกจากนั้น การกำหนดค่าเสียหายกฎหมายกำหนดให้ศาลพิจารณาจาก “อิทธิพลทางสังคม และยอดจำหน่าย” ขององค์กรสื่อ ซึ่งหมายความว่าหากเป็นหนังสือพิมพ์ สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ที่มียอดจำหน่าย หรือผู้ชม/ผู้อ่านสูง ค่าปรับก็จะสูงตามไปด้วย
เกาหลีใต้นับเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมข่าวเฟื่องฟูมาก สื่อมีเสรีภาพสูง การจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกประจำปีนี้ 2021 WorldPress Freedom Index โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (ReportersWithout Borders) เกาหลีใต้อยู่อันดับ 42 ในจำนวน 180 ประเทศทั่วโลกโดยเสรีภาพสื่อแดนโสมเกาหลีใต้สูงสุดมากกว่าทุกประเทศในเอเชีย
เกาหลีใต้เผชิญกับการแพร่ข้อมูลเท็จ และการระรานทางไซเบอร์ค่อนข้างหนักในระยะหลายปีล่าสุด และก็เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก ที่การเมืองของประเทศถูกกำหนดรูปแบบมากขึ้นโดยกลุ่มนักทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งเผยแพร่แนวคิดผ่านสื่อทุกช่องทางโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต
เกี่ยวกับข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ ในเกาหลีใต้เคยมีการวิจัยผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อปี 2560 โดยสถาบันวิจัยฮุนไดหรือ เอชอาร์ไ อ (HyundaiResearch Institute : HRI) ซึ่งพบว่าข่าวปลอมสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 30,000 ล้านวอนต่อปี และจนถึงปี 2558 รวมมูลค่าความเสียหาย 30.9 ล้านล้านวอน (ประมาณ862,657.5ล้านบาท) หรือประมาณ 1.9% ของจีดีพีประเทศ
รายงานสมุดปกขาวการตรวจสอบข่าวทางอินเทอร์เน็ตในปี 2559 โดยมูลนิธิสื่อมวลชนเกาหลี พบว่า ในแต่ละวันเกาหลีใต้มีข่าวออนไลน์ประมาณ 35,948 ชิ้น ประมาณ 1% ถูกระบุว่าเป็นเฟคนิวส์
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสื่อฉบับแก้ไขใหม่ นำโดยพรรคฝ่ายค้าน พลังประชาชนหรือ พีพีพี (PeoplePower Party) กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้เข็มนาฬิกาประชาธิปไตยเกาหลีใต้กระดิกถอยหลัง ด้วยข้ออ้างคุ้มครองเหยื่อข่าวปลอม
ริว เจ-ฮัว ทนายความผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสื่อสารมวลชนและคดีการเมือง กล่าวว่า ร่างกฎหมายใหม่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามจะปิดปากองค์กรสื่อ สำนักข่าวทั้งน้อยใหญ่จะไม่กล้ารายงาน ข่าวอ่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
นอกจากนั้น ในกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาของเกาหลีใต้ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทมาตราควบคุม ความผิดฐานใช้ข้อมูลเท็จและหมิ่นประมาทผ่านสื่ออยู่แล้ว โดยความผิดฐานหมิ่นประมาท กฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปีและจำคุกหลายปี ฐานเผยแพร่ข้อมูลอ่อนไหว
พรรคดีพีเคกล่าวว่า กฎหมายใหม่ยกเว้นตัวผู้สื่อข่าวจากการถูกเรียกค่าเสียหาย โดยกฎหมายกำหนดให้เรียกเอาจากองค์กรต้นส้งกัดนอกจากนั้น ยังห้ามผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ หรือระดับผู้บริหารของบริษัท เรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายฉบับนี้.
เครดิตภาพ : REUTERS
————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ (เลนซ์ซูม) / วันที่เผยแพร่ 30 ส.ค.2564
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/213198/