GETTY IMAGES
ขณะกองกำลังร่วมของชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกากำลังถอนทัพ ประเทศอื่น ๆ อย่างจีน รัสเซีย ปากีสถาน และอิหร่าน ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วย
ประเทศเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ จะได้หรือเสียประโยชน์อย่างไรในวันที่อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน
ปากีสถาน
ด้วยความที่มีชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานยาวถึง 2,400 กิโลเมตร แน่นอนว่าปากีสถานกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีผู้อพยพชาวอัฟกันที่ลงทะเบียนอยู่ในปากีสถานถึง 1.4 ล้านคน และคาดว่ายังมีที่ไม่ได้ลงทะเบียนอยู่อีกเท่าตัว
กลุ่ม “ตาลีบัน” หรือแปลว่า “นักเรียน” ในภาษาพัชโต (Pashto) เริ่มปรากฏตัวในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทางตอนเหนือของปากีสถาน โดยชาวอัฟกันหลายคนที่เข้าร่วมกลุ่มนี้เคยเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาในปากีสถาน
แม้ว่าจะปฏิเสธว่าไม่ได้ช่วยตาลีบัน ปากีสถานเป็นหนึ่งในสามประเทศ พร้อมด้วยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ยอมรับในตัวตนของกลุ่มตาลีบันตอนพวกเขาขึ้นสู่อำนาจในทศวรรษ 1990 และก็เป็นประเทศสุดท้ายที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับตาลีบันด้วย
EPA มีผู้อพยพชาวอัฟกันที่ลงทะเบียนอยู่ในปากีสถานถึง 1.4 ล้านคน และคาดว่ามีที่ไม่ได้ลงทะเบียนอยู่อีกเท่าตัว
แม้ว่าช่วงหลังมาความสัมพันธ์ของสองฝ่ายจะไม่ลงรอยกันนัก อูเมอร์ คาริม จากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส (RUSI) ในกรุงลอนดอน บอกว่า ผู้กำหนดนโยบายในปากีสถานรู้สึกร่วมกันว่านี่ถือเป็นเรื่องที่ดี
เขาอธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หมายความว่าอินเดียจะไม่มีอิทธิพลในอัฟกานิสถานเท่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้ปากีสถานไม่ชอบใจนักที่มีสถานกงสุลอินเดียตามชายแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถานในเมืองต่าง ๆ อาทิ กันดาฮาร์ และจาลาลาบัด โดยปากีสถานกล่าวหาว่าเป็นศูนย์ให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านปากีสถานต่าง ๆ ทั้งทางตอนเหนือและใต้
คาริมบอกว่า เมื่อตาลีบันขึ้นสู่อำนาจ ปากีสถานหวังว่าจะกลับมามีอิทธิพลมากขึ้น และการค้าส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานก็ต้องทำผ่านปากีสถาน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ แป้ง ข้าว ผัก ซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิสรายนี้บอกอีกว่า ปากีสถานต้องการสร้าง “สะพานทางเศรษฐกิจ” กับชาติในภูมิภาคเอเชียกลางอื่น ๆ ด้วยโดยผ่านอัฟกานิสถาน และการที่อัฟกานิสถานต้องพึ่งปากีสถานอาจเชื้อชวนให้ตาลีบันให้ความร่วมมือกับปากีสถานในเรื่องอื่น ๆ ด้วย อาทิ ด้านความมั่นคง
รัสเซีย
รัสเซียยังจำสงครามที่สหภาพโซเวียตสู้รบระหว่างปี 1979 ถึง 1989 ที่จบด้วยการพ่ายแพ้ต่อกองกำลังต่อต้านของชาวอัฟกันได้ดี
แม้ตอนนี้รัสเซียเองจะไม่มีผลประโยชน์จากความเป็นไปของอัฟกานิสถานโดยตรง แต่การไร้เสถียรภาพในอัฟกานิสถานอาจส่งผลต่อประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตซึ่งอยู่ทางเหนือซึ่งรัสเซียยังมีความสัมพันธ์อยู่อย่างใกล้ชิด
รัสเซียเกรงว่าอัฟกานิสถานจะกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักรบจีฮัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส ซึ่งเป็นศัตรูทั้งกับรัสเซียและกลุ่มตาลีบันเอง
รัสเซียออกตัวยอมรับอำนาจของตาลีบันอย่างรวดเร็วตั้งแต่กองกำลังร่วมของชาติตะวันตกยังถอนทัพออกไปยังไม่เสร็จ
ฟิโอดอร์ ลุคยานอส บรรณาธิการวารสารรัสเซียในกิจการระหว่างประเทศ (Russia in Global Affairs) บอกกับบีบีซีว่า รัสเซียจะดำเนินนโยบายแบบคู่ขนานต่อไป โดยมุมหนึ่งจะพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับตาลีบันเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเมือง แต่อีกมุมหนึ่งก็เพิ่มจำนวนทหารในทาจิกิสถาน และเพิ่มความร่วมมือกับอัฟกานิสถานเพื่อป้องกันไม่ให้มีกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งออกมาจากดินแดนอัฟกัน
โดยรวมแล้ว การถอนทัพของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้น้อยลง อาร์คาดี ดุบนอฟ นักวิเคราะห์การเมืองในกรุงมอสโก บอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า “อะไรดีสำหรับเราถือว่าแย่สำหรับอเมริกา อะไรที่แย่สำหรับเราถือว่าดีสำหรับอเมริกา”
จีน
EPA ทั้งจีนและรัสเซียต่างก็กังวัลว่าอัฟกานิสถานอาจกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งในภูมิภาคนี้
จีนมีผลประโยชน์ในอัฟกานิสถานทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง เมื่อสหรัฐฯ ถอนทัพออกไป บริษัทจีนก็มีโอกาสที่จะเข้าไปทำธุรกิจขุดเหมืองแร่ในประเทศ อย่างกลุ่มแร่หายากที่ใช้ในการผลิตไมโครชิปและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อื่น ๆ
ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันประเมินว่าปริมาณสำรองแร่ของอัฟกานิสถานมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทางการอัฟกันบอกว่ามีมากกว่านั้นถึง 3 เท่า
แต่หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ฉบับเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ระบุว่า บริษัทจีนยังชั่งน้ำหนักเรื่องความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคงอยู่ และบอกว่าจะเข้าไปดำเนินการในอัฟกานิสถานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าชาติตะวันตกจะใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างไรกับอัฟกานิสถาน
ถ้าว่ากันในเชิงยุทธศาสตร์ มีเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลจีนจะพยายามเข้าไปมีบทบาทในประเทศนี้เพราะอัฟกานิสถานเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน ซึ่งเข้าไปลงทุนด้านการค้าและโครงสร้างพื้นฐานทั้งในอิหร่านและปากีสถาน
แต่ก็เช่นเดียวกับรัสเซีย จีนมีความกังวลว่าอัฟกานิสถานอาจกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งในภูมิภาคนี้
โจนาธาน มาร์คัส นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า จีนมีพรมแดนร่วมสั้น ๆ กับอัฟกานิสถาน และด้วยความที่จีนทำการประหัตประหารชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศอยู่ตลอด จึงมีความกังวลแน่นอนว่ากลุ่มก่อการร้ายมุสลิมที่ต่อต้านจีนจะไปใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการ
“ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายการทูตจีนพยายามจะเชื่อมสัมพันธ์กับตาลีบัน” อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าว
อิหร่าน
EPA คาริมบอกว่าการที่อัฟกานิสถานถูกนานาชาติโดดเดี่ยวจะทำให้อิหร่านมีอิทธิพลในประเทศมากขึ้น
อูเมอร์ คาริม จากสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส (RUSI) บอกว่า อิหร่านได้มีปฏิสัมพันธ์กับตาลีบันมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps)
คาริมบอกว่า อิหร่านให้การต้อนรับผู้นำตาลีบันในประเทศ และก็ให้การสนับสนุนเรื่องเงินและอาวุธด้วย “และเพื่อเป็นการตอบแทน กลุ่มตาลีบันก็อดทนอดกลั้นต่อชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฮาซารามากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าเหตุใดถิ่นของชาวฮาซาราทางตอนกลางของประเทศตกอยู่ในการควบคุมของตาลีบันโดยไม่มีการลั่นกระสุนเลยสักนัด”
คาริมบอกว่าการที่อัฟกานิสถานถูกนานาชาติโดดเดี่ยวจะทำให้อิหร่านมีอิทธิพลในประเทศมากขึ้น และการทำให้อัฟกานิสถานมีเสถียรภาพก็จะช่วยลดผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่จะเข้ามายังอิหร่านด้วย ซึ่งตอนนี้มีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันถึง 7.8 แสนคนแล้ว
ชาติตะวันตก
REUTERS กองกำลังร่วมของชาติตะวันตกต้องทำการอพยพชาวอัฟกันระลอกใหญ่ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 31 ส.ค.
แม้ว่าผู้นำชาติตะวันตกจะพยายามวาดภาพว่านี่เป็นชัยชนะ แต่กลุ่มตาลีบันเชื่อว่าชัยชนะเป็นของพวกเขา
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวต่อรัฐสภาเยอรมนีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ว่า การถอนทัพไม่ได้แปลว่าจะหยุดความพยายามในการช่วยปกป้องชาวอัฟกันที่เคยช่วยเหลือกองกำลังร่วมและชาวอัฟกันที่กำลังตกอยู่ในอันตรายเพราะการขึ้นครองอำนาจของตาลีบัน
นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวหลังการประชุมออนไลน์กับชาติสมาชิกกลุ่ม G7 ว่า ยังเร็วเกินไปกว่าจะตอบได้ว่าสหภาพยุโรปจะมีความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานอย่างไร โดยจะขึ้นอยู่กับ “การกระทำและทัศนคติของคณะผู้ปกครองใหม่ …ทั้งเรื่องการรักษาความสำเร็จด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของพลเมืองชาวอัฟกัน และสิทธิมนุษยชนของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของผู้หญิง เด็กผู้หญิง และชนกลุ่มน้อย”
นอกจากพยายามป้องกันไม่ให้อัฟกานิสถานไม่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะของกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งแล้ว ชาติตะวันตกยังให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้มีคลื่นผู้ลี้ภัยใหม่อพยพเข้ามายังประเทศของตัวเองด้วย
กลุ่มติดอาวุธอิสลาม
การโจมตีที่สนามบินกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 26 ส.ค. โดยกลุ่มไอซิส-เค ซึ่งมีชื่อเต็มว่ากลุ่มอิสลามแห่งจังหวัดโคราซัน (ISKP) ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ก็เริ่มเคลื่อนไหวตอบโต้การเปลี่ยนผ่านอำนาจในครั้งนี้ด้วย
ในแง่มุมหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าจะมีการรวมตัวของกลุ่มอัลเคดา ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่นำไปสู่การบุกเข้าอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ ในปี 2001 ขึ้นมาใหม่
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ซานา จัฟฟรีย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะนโยบายสำหรับความขัดแย้ง (Institute for Policy Analysis of Conflict) ที่กรุงจาการ์ตาบอกว่า ตอนนี้กลุ่มจีฮัดซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส กำลังเผชิญแรงกดดันว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขายังมีความสำคัญอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
กลุ่มที่สนับสนุนไอเอสบางกลุ่มประณามชัยชนะของตาลีบันโดยบอกว่ามาจากการทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ไม่ใช่การทำสงครามจีฮัดที่แท้จริง
อย่างไรก็ดี จัฟฟรีย์บอกว่านี่เป็นข่าวดีที่สุดที่กลุ่มต่าง ๆ ของอัลเคดา ไม่ได้รับมานานแล้ว
จัฟฟรีย์วิเคราะห์ด้วยว่า ในช่องทางโซเชียลมีเดียซึ่งดำเนินโดยกลุ่มผู้มีความคิดสุดโต่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อหาใจความหลัก ๆ ที่สมาชิกได้จากการขึ้นสู่อำนาจของตาลีบันคือ การยืนกรานจะนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด “และไม่มีข้อสงสัยเลยว่านี่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้มีความคิดสุดโต่งอีกหลายกลุ่มในภูมิภาค”
————————————————————————————————————————
โดย : BBC NEWS / 30 สิงหาคม 2564