มีรายงานว่า นักรบฝ่ายต่อต้านกลุ่มตาลีบันหลายพันคนไปรวมตัวกันอยู่ในแถบหุบเขาปัญจ์ชีร์ ที่มีทางเข้าอันคับแคบ ห่างจากกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานไป 30 ไมล์เศษ (ราว 48 กม.)
หุบเขาปัญจ์ชีร์ ถือเป็นจุดสำคัญของความขัดแย้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน โดยเคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านกองทัพโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 1980 และฝ่ายต่อต้านกลุ่มติดอาวุธตาลีบันในช่วงทศวรรษที่ 1990
สำหรับกลุ่มนักรบที่ใช้หุบเขาปัญจ์ชีร์เป็นฐานที่มั่นในขณะนี้คือ กลุ่มแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน (National Resistance Front of Afghanistan หรือ NRF)
นายอาลี นาซารี หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ NRF ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “กองทัพแดง (ของโซเวียต) อันยิ่งใหญ่ ไม่สามารถเอาชนะเราได้…เช่นเดียวกับตาลีบันเมื่อ 25 ปีก่อน…พวกเขาพยายามเข้ายึดครองหุบเขาแห่งนี้และต้องพ่ายแพ้ไป พวกเขาเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ”
หุบเขาปัญจ์ชีร์ อยู่ทางตอนเหนือของกรุงคาบูล โดยทอดยาวตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 120 กม. และมียอดเขาสูงเป็นปราการธรรมชาติปกป้องผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น
การจะเดินทางเข้าสู่หุบเขาแห่งนี้มีเพียงทางเดียว คือผ่านถนนสายแคบ ๆ แห่งหนึ่งที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามแนวแม่น้ำปัญจ์ชีร์
ชาคิบ ชาริฟี ซึ่งเคยอาศัยอยู่ที่นั่นตอนเป็นเด็ก แต่เดินทางออกจากอัฟกานิสถานหลังจากตาลีบันยึดครอง เล่าว่า ภายในหุบเขาแห่งนี้ยังมีหุบเขารองขนาดเล็กกว่าอีกอย่างน้อย 21 แห่งที่เชื่อมต่อกัน”
รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศเอลิซาเบธ ของมหาวิทยาลัยลีดส์ เล่าว่า ที่นี่เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ยุคโบราณ อีกทั้งยังเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ ซึ่งรวมถึงอัญมณีมีค่าต่าง ๆ
ปัจจุบัน หุบเขาแห่งนี้มีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และทุ่งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังช่วยสร้างถนน และหอวิทยุเพื่อรับสัญญาณจากกรุงคาบูลด้วย ฐานทัพบากรัม อดีตฐานทัพของสหรัฐฯ ซึ่งเดิมทีโซเวียตสร้างขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1950 ก็อยู่ไม่ห่างจากปากทางเข้าหุบเขาแห่งนี้ด้วย
“คนกล้า”
มีรายงานว่าปัจจุบันมีคนอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้ราว 1.5 – 2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นคนพูดภาษาดารี หนึ่งในภาษาหลักของอัฟกานิสถาน และชนกลุ่มน้อยชาวทาจิก ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของประชากรอัฟกานิสถาน 38 ล้านคน
นายชาคิบ ชาริฟี อดีตอธิบดีฝ่ายวางแผนของกระทรวงเกษตรอัฟกานิสถาน เรียกชาวปัญจ์ชีร์ว่าเป็นผู้กล้าหาญ ซึ่งบางทีอาจเป็นผู้กล้าที่สุดในอัฟกานิสถาน
เขาบอกว่า ชาวบ้านในแถบนี้ไม่ยอมรับกลุ่มตาลีบัน และไม่กลัวที่จะทำสงคราม เพราะมีความฮึกเหิมมาจากชัยชนะในอดีตที่มีเหนือกองทัพอังกฤษ, โซเวียต และตาลีบัน
หลังจากกลุ่มตาลีบันถูกโค่นล้มในปี 2001 หุบเขาแห่งนี้ได้ถูกยกสถานะจากระดับอำเภอขึ้นเป็นจังหวัด ซึ่งถือเป็นจังหวัดเล็กที่สุดของอัฟกานิสถาน
ดร.อันโตนิโอ กิอุสตอซซี นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันรอยัล ยูไนเต็ด เพื่อการศึกษาด้านกลาโหมและความมั่นคง (Royal United Services Institute for Defence and Security Studies หรือ RUSI) ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “กลุ่มนักรบปัญจ์ชีร์ มีอิทธิพลมากในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 พวกเขาช่วยชิงกรุงคาบูลกลับคืนมา และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหมายเลขหนึ่ง”
กลุ่มผู้นำปัญจ์ชีร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาล และในกองทัพอัฟกานิสถาน หุบเขาแห่งนี้ได้กลายเป็นเขตปกครองตนเอง และเป็นจังหวัดเดียวในอัฟกานิสถานที่แต่งตั้งคนในท้องถิ่นขึ้นเป็นผู้ว่าการจังหวัด ไม่ใช่คนนอกพื้นที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลกลาง
ดร. กิอุสตอซซี ชี้ว่า ผู้ว่าการจังหวัดจะต้องมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อรัฐบาลกลางมากกว่าประชาชนในพื้นที่ แต่ปัญจ์ชีร์ถือเป็นกรณีพิเศษ
ความสำคัญทางยุทธศาสตร์
ดร. กิอุสตอซซี ระบุว่า สิ่งที่ทำให้หุบเขาปัญจ์ชีร์เป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มต่อต้านตาลีบันคือ มีที่ตั้งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่กรุงคาบูล
ขณะที่ นายชาริฟี กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้หุบเขาปัญจ์ชีร์มีความพิเศษมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งสภาพภูมิศาสตร์ที่ห้อมล้อมไปด้วยภูเขาสูงที่เอื้อให้ได้เปรียบในการสู้รบ และลักษณะเฉพาะตัวของคนในพื้นที่
Alamy
หุบเขาปัญจ์ถูกโอบล้อมไปด้วยหุบเขาสูง ดั่งปราการปกป้องคนที่อาศัยอยู่ภายใน
นอกจากนี้ ดร. กิอุสตอซซี ยังเชื่อว่า ที่นี่เป็นแหล่งสะสมอาวุธขนาดใหญ่ ทั้งที่หลงเหลือมาจากการสู้รบในอดีต รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แถบนี้ได้ขนย้ายอาวุธปืนมาเก็บไว้ที่นี่ เพราะไม่ไว้ใจประธานาธิบดีสองคนหลังยุคตาลีบันอย่าง นายฮามิด คาร์ไซ และนายอัชราฟ กานี
สำหรับผู้นำคนปัจจุบันของฝ่ายต่อต้านตาลีบันในหุบเขาปัญจ์ชีร์คือ นายอาห์หมัด มัสซูด วัย 32 ปี บุตรชายของนายอาห์หมัด ชาห์ มัสซูด อดีตผู้นำซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของกลุ่มในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990
นายมัสซูด ระบุว่า กลุ่มนักรบของเขาได้รับการสนับสนุนทางทหารจากสมาชิกในกองทัพอัฟกานิสถาน และกองกำลังพิเศษ
ในบทความแสดงความคิดเห็นที่เขาเขียนให้หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า “พวกเรามีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เราค่อย ๆ เก็บสะสมกันมาตั้งแต่สมัยพ่อของผม เพราะเรารู้ดีว่าวันนี้อาจมาถึง”
Getty Images
นายอาห์หมัด มัสซูด ปี 2019
บิดาของนายมัสซูด ซึ่งมีฉายาว่า “ราชสีห์แห่งปัญจ์ชีร์” เคยเป็นผู้บัญชาการขบวนการมูจาฮีดีนที่เคยเอาชนะกองทัพโซเวียต และตาลีบันมาแล้ว ขณะที่ชื่อ “ปัญจ์ชีร์” แปลว่า “ราชสีห์ 5 ตัว”
นายอาห์หมัด ชาห์ มัสซูด เป็นบุตรชายของนายพลชาวอัฟกันคนหนึ่ง เขาเกิดในหุบเขาแห่งนี้ และแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังคงสามารถพบเห็นรูปของเขาได้ในหลายแห่งทั้งในจังหวัดปัญจ์ชีร์ และกรุงคาบูล
เขาคือบุคคลที่ทำให้ปัญจ์ชีร์กลายเป็นศูนย์กลางการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเขาก็เป็นสัญลักษณ์ของ “สงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถาน”
ดร. กิอุสตอซซี ระบุว่า นายอาห์หมัด ชาห์ มัสซูด ต่างจากผู้นำกลุ่มกบฏคนอื่น ๆ เพราะเขาเป็นคนมีการศึกษา อีกทั้งยังพูดภาษาฝรั่งเศสได้
เขาถูกกลุ่มก่อการร้ายอัลไคดาลอบสังหารในปี 2001 เพียง 2 วันก่อนการก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 ในนครนิวยอร์ก ตอนนั้นอดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ได้ประกาศยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษของชาติ
อย่างไรก็ตาม บางคนชี้ว่า ผู้นำมูจาฮีดีนรายนี้เป็นอาชญากรสงคราม โดยการสอบสวนของฮิวแมนไรท์วอทช์ ในปี 2005 ระบุว่า นายอาห์หมัด ชาห์ มัสซูด ถูกพาดพิงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณีที่กระทำโดยกองกำลังภายใต้การบัญชาการของเขาในช่วงสงครามในอัฟกานิสถาน
Alamy
ภาพของนายอาห์หมัด ชาห์ มัสซูด ในหุบเขาปัญจ์ชีร์ ปี 2009
ทายาทผู้สืบทอดอำนาจ
นายอาห์หมัด มัสซูด มีอายุ 12 ปี ตอนที่พ่อของเขาเสียชีวิต เขาเคยศึกษาในกรุงลอนดอน และเคยฝึกที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ ของอังกฤษ เป็นเวลา 1 ปี
ดร.กิอุสตอซซี ระบุ แม้นายอาห์หมัด มัสซูด จะมีเสน่ห์เหมือนผู้เป็นพ่อ แต่เขายังไม่เคยผ่านบททดสอบในฐานะผู้นำทหาร นอกจากนี้เขายังต้องเพิ่มทักษะด้านการเจรจาข้อตกลงเรื่องการแบ่งสรรปันอำนาจในระดับชาติที่อาจเกิดขึ้นได้
Getty Images
กลุ่มนักรบต่อต้านตาลีบันในจังหวัดปัญจ์ชีร์
ขณะที่ ตัวนายอาห์หมัด มัสซูด ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ
ในบทความที่เขาเขียนในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ระบุว่า “หากผู้นำตาลีบันเปิดการโจมตี พวกเขาก็จะเผชิญการต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากพวกเรา…แต่พวกเราทราบดีว่ากองกำลังทหารและทรัพยากรของเราคงไม่เพียงพอ”
“มันจะหมดลงอย่างรวดเร็ว เว้นเสียแต่เพื่อนในโลกตะวันตกของพวกเราจะหาหนทางส่งความช่วยเหลือมาให้โดยไม่รีรอ”
————————————————————————————————————————
โดย : ข่าวสดออนไลน์ / 28 สิงหาคม 2564