การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ต่างต้องพิจารณาทำแผนการทำงานที่บ้าน หรือ “เวิร์คฟรอมโฮม” เพื่อลดความแออัด การเดินทาง และความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผลสำรวจโดย “การ์ทเนอร์” เมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะยังคงอยู่ตลอดไป โดยมีผู้บริหารองค์กรจำนวนสูงถึง 82% วางแผนให้พนักงานทำงานจากระยะไกลในอนาคต
ฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน ประจำภูมิภาคอาเชียน บริษัท อินฟอร์ เปิดมุมมองว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่องค์กรพึงตระหนักถึงในการจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะยาว คือ “ต้องใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุมพร้อมประเมินความเป็นไปได้ระยะยาว” ซึ่งองค์กรต้องมองภาพรวมให้รอบคอบก่อนทำการตัดสินใจ
‘ทางเลือก‘ มากับ ’ความเสี่ยง’
เขากล่าวว่า ไม่มีใครทราบเลยว่า การแพร่ระบาดของโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และโลกของการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากเหตุการณ์นี้ แต่ที่แน่ๆ รับรู้ได้ถึงผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ได้ประสบในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา ทั้งยังพบว่าการทำงานเสมือนจริงไม่ว่าจะเป็นแบบไฮบริดที่ทำงานจากบ้านหรือจากที่ใดก็ตาม หรือเข้าออฟฟิศทุกวันเต็มเวลาจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน
อย่างไรก็ดี ในมุมหนึ่งโควิดให้โอกาสพิสูจน์แนวคิดเรื่องการทำงานจากที่บ้านว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ จากการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแสดงให้เห็นว่า พนักงานที่ได้รับอนุญาตให้เวิร์คฟอร์มโฮมมีความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น เทียบได้กับการทำงานเต็มวันในทุกสัปดาห์
ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจเพิ่มเติมจากรายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นว่า เวิร์คฟรอมโฮมทำให้การลาออกของพนักงานลดลง 50% และมีการลาป่วยน้อยลงอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ตอกย้ำข้อเท็จจริงนี้คือการลดพื้นที่สำนักงานได้ช่วยประหยัดเงินค่าเช่าลงได้อย่างมาก
ที่ผ่านมา กลยุทธ์และนโยบายการเวิร์คฟอร์มโฮมส่วนใหญ่เกิดจากการจัดการกับวิกฤติ ซึ่งข้อบ่งชี้ถึงการทำงานระยะยาวแบบนี้เห็นได้ชัดว่า จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุมทั้งผู้คน กระบวนการ ระบบ ตลอดจนโครงสร้างที่จำเป็น เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว มากกว่าเพื่อการวางแผนการทำงานในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่พึงตระหนักถึงในการจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะยาว คือ ทางเลือกนี้ไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงโดยสิ้นเชิง และเมื่อต้องประเมินกลยุทธ์ต่างๆ ที่เป็นไปได้ องค์กรต้องมองภาพรวมให้รอบคอบก่อนจะทำการตัดสินใจ
หมดไฟ-เสียสมดุลชีวิต
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา อันดับต้นๆ คือ “ด้านสุขภาพและความปลอดภัย” ภายใต้มาตรฐานคือ เน้นการจัดการสุขภาพจิตและความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิผล แรงกดดันที่มีมากเกินไป ความเป็นผู้นำที่ไม่ดี และวัฒนธรรมองค์กร
โดยมาตรฐานนี้ได้รับการแนะนำให้ใช้กันอย่างกว้างขวาง ด้วยตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แม้การทำงานระยะไกลจะมีความยืดหยุ่นก็ตาม แต่พนักงานที่ทำงานในออฟฟิศแบบดั้งเดิมจำนวนมากพบว่า ตนเองกำลังประสบกับภาวะหมดไฟจากการทำงานเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาระหน้าที่และความต้องการต่างๆ ภายในครอบครัว
สำหรับหลาย ๆ คนเส้นแบ่งระหว่างงานกับบ้านอาจเลือนลางจนทำให้การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวกลับตาลปัตร ไปเป็นการผสานชีวิตส่วนตัวและการทำงานเข้าด้วยกัน (work-life integration) ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจปรับตัวได้ง่าย แต่ไม่ใช่กับทุกคน
ลดเสี่ยง-ปูทางรับมือเศรษฐกิจผวน
นอกจากนี้ ที่สำคัญยังมี “การใช้แนวทางอย่างเป็นระบบ” โดยเริ่มต้นจาก บริหารจัดการทุนมนุษย์ (Human Capital Management: HCM) รวมไปถึง “การออกแบบแนวทางการทำงานแบบไฮบริด” เพื่อรองรับโปรไฟล์พนักงานที่หลากหลาย และเลือกใช้อย่างเหมาะสมเพื่อให้พนักงานได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่
กล่าวได้ว่า “อนาคตของการทำงานมาถึงแล้ว” และดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลแล้วว่า การทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลากำลังเหลือน้อยลงทุกขณะ
โดยสรุปแล้วไม่ว่ารูปแบบการทำงานแบบเวอร์ชวลหรือไฮบริดจะเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ จะต้องทำตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานแบบใหม่ คำนึงถึงการจัดการสุขภาพจิต ความปลอดภัย ตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบที่เหมาะสม ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงรักษาบุคลากรที่มีความสามารถที่องค์กรต้องการเอาไว้ เพื่อจะได้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนมากขึ้นในอนาคต
โดย โต๊ะข่าวไอที ดิจิทัล / ภาพ : CHRISTINA MORILLO
————————————————————
Link : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/955369
โดย : กรุงเทพธุรกิจ/ 18 สิงหาคม 2564