รายงานการศึกษาใหม่พบว่า เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียปลอมมากกว่า 350 บัญชี กำลังส่งเสริมเนื้อหาที่สนับสนุนจีน และพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐบาลจีน
รายงานของศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล (Centre for Information Resilience – CIR) ระบุว่าเป้าหมายของเครือข่ายนี้คือ การทำให้ชาติตะวันตกไร้ความชอบธรรม และส่งเสริมอิทธิพลและภาพลักษณ์ของจีนในต่างประเทศ
รายงานการศึกษาที่เผยแพร่ให้กับบีบีซีนี้ พบว่า เครือข่ายผู้ใช้งานบัญชีปลอมจะช่วยกันส่งภาพการ์ตูนที่ทำขึ้นมาหลายภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพของ กวอ เหวินกุ้ย เศรษฐีจีนที่ลี้ภัยอยู่ซึ่งเป็นผู้ที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีน
ส่วนบุคคลที่มีผู้คนพูดถึงกันมากและปรากฏในการ์ตูนด้วยรวมถึง เยี่ยน ลี่เมิ่ง นักวิทยาศาสตร์ “ผู้ออกมาเปิดโปง” และสตีฟ แบนนอน อดีตนักกลยุทธ์การเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์
คนเหล่านี้ต่างถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงข้อมูลปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ด้วย
บัญชีบางส่วนทั้งทางทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และยูทิวบ์ ใช้ภาพโปรไฟล์ปลอมที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ สร้างขึ้น ขณะที่อีกหลายบัญชี ดูเหมือนจะถูกขโมยมาใช้งาน เพราะมีการโพสต์เป็นภาษาอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น
ขณะนี้ไม่มีหลักฐานว่าเครือข่ายนี้มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน แต่ CIR ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านการต่อต้านข้อมูลไม่ถูกต้องระบุว่า เครือข่ายนี้คล้ายคลึงกับเครือข่ายสนับสนุนจีนที่ถูกทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กลบทิ้งก่อนหน้านี้
เครือข่ายเหล่านี้จะส่งต่อข้อความที่สนับสนุนรัฐบาลจีนคล้ายกับผู้แทนทางการจีนและสื่อทางการ
เนื้อหาจำนวนมากที่ทางเครือข่ายส่งต่อ มุ่งเน้นไปที่สหัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่สร้างความแตกแยกอย่างเรื่องกฎหมายปืนและเรื่องการเมืองที่ เกี่ยวกับเชื้อชาติ
หนึ่งในเนื้อหาที่ทางเครือข่ายส่งต่อได้ระบุว่า สหรัฐฯ มีประวัติเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ โพสต์จากบัญชีปลอมได้อ้างถึงการฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์ เป็นตัวอย่างหนึ่งจากหลายตัวอย่าง รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อชาวเอเชียด้วย
บัญชีบางบัญชีได้ปฏิเสธการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จีนได้ควบคุมตัวชาวมุสลิมอย่างน้อย 1 ล้านคนโดย ไม่เต็มใจ บัญชีเหล่านี้ได้เรียกข้อกล่าวหานี้ว่า “คำโกหกที่สหรัฐฯ และโลกตะวันตกสร้างขึ้น”
เบนจามิน สตริ๊ก ผู้เขียนรายงานของ CIR ระบุว่า “เป้าหมายของเครือข่ายนี้ดูเหมือนจะต้องการทำลายความชอบธรรมของชาติตะวันตกด้วยการ เผยแพร่เนื้อหาที่สนับสนุนจีน”
มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างเครือข่ายนี้และเครือข่ายโฆษณาชวนเชื่อ “มังกรสแปมมูฟลาจ” (Spamouflage Dragon) ที่กราฟิกา (Graphika) บริษัทวิเคราะห์โซเชียลเป็นผู้ตรวจพบ
อิรา ฮูเบิร์ต นักวิเคราะห์สืบสวนสอบสวนอาวุโสที่กราฟิกา ได้แสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาใหม่ว่า ไม่มีช่วง “น้ำผึ้งพระจันทร์” ในช่วงเดือนแรก ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน
“ทางเครือข่ายได้เผยแพร่เนื้อหาต่อต้านสหรัฐฯ หลายอย่างอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง การบอกว่า สหรัฐฯ ‘พ่ายแพ้’ ในช่วงก่อนหน้าที่จะถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน และป้ายสีสหรัฐฯ ว่า เป็นพันธมิตรที่แย่ของอินเดีย เพราะความช่วยเหลือที่มอบให้ไม่เพียงพอในช่วงที่อินเดียเผชิญกับการต่อสู้กับโควิดอย่างหนักหนาสาหัสหลายเดือน”
เครือข่ายนี้ถูกค้นพบได้อย่างไร
CIR ได้ติดตามแฮชแท็กที่เครือข่ายที่ถูกตรวจพบก่อนหน้านี้เครือข่ายอื่น ๆ ชอบใช้ ทำให้พบบัญชีผู้ใช้งานที่มีสัญญาณว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจูงใจ
สัญญาณที่บ่งชี้มีหลายอย่างรวมถึงการโพสต์เนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อหลายครั้ง และใช้แฮชแท็กเดิม ๆ บัญชีที่สร้างขึ้นมาใหม่หลายบัญชี บัญชีที่ดูเหมือนว่ามีการสร้างชื่อผู้ใช้งานขึ้นมามั่ว ๆ และบัญชีที่มีผู้ติดตามน้อยคือสัญญาณที่บ่งชัด
โปรไฟล์บางส่วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโพสต์เนื้อหาเป็นครั้งแรก ขณะที่บัญชีอื่น ๆ จะเข้ามาส่งต่อ กดไลก์ และแสดงความคิดเห็นบนโพสต์แรกเหล่านั้น เพื่อช่วยให้มีการกระจายไปถึงผู้อ่านกว้างขวางมากขึ้น
กิจกรรมประเภทนี้มักจะถูกเรียกว่า “แอสโตรเทิร์ฟฟิง” (astroturfing) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า การปูหญ้าเทียม ในที่นี้หมายถึงการทำให้คนอื่นเข้าใจว่ามีคนจำนวนมากในระดับรากหญ้าให้การสนับสนุน
คนปลอม
โปรไฟล์ปลอมจำนวนมากใช้ภาพคนที่เอไอสร้างขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ค่อนข้างใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพคนที่ดูเหมือนจริง แต่ไม่ได้มีคนคนนั้นอยู่จริง กรณีนี้ต่างจากการขโมยภาพของคนที่มีอยู่จริงมาใช้งาน ภาพที่เอไอสร้างขึ้นซึ่งมาจากวิธีการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า StyleGAN ไม่สามารถถูกแกะรอยโดยการใช้การค้นหาแหล่งที่มาของภาพ (reverse image search) ได้
การใช้ภาพโปรไฟล์ปลอมในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเท็จกำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น เพราะผู้ใช้งานและช่องทางต่าง ๆ มีความระมัดระวังบัญชีต้องสงสัยเพิ่มมากขึ้น
CIR ใช้เทคนิคหลายอย่างในการตรวจสอบภาพโปรไฟล์ปลอมในเครือข่าย ภาพที่สร้างขึ้นมักจะวางดวงตาในตำแหน่งเดียวกัน ดังนั้นการนำภาพ เหล่านี้มาจัดเรียงกันก็อาจช่วยตรวจสอบหาภาพโปรไฟล์ปลอมได้
ปกติแล้ว การสุ่มตรวจหาโปรไฟล์เหล่านี้จะมีการจัดวางเรียงดวงตาและการคร็อปรูปที่หลากหลาย
สัญญาณอื่น ๆ รวมถึง ภาพที่เบลอบริเวณแนวขอบผม ภาพฟันในมุมแปลก ๆ และภาพที่ไม่ชัดเจนบริเวณรอบใบหน้า
บัญชีเฟซบุ๊กหลายบัญชีที่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้ ดูเหมือนจะใช้ชื่อภาษาตุรกี บัญชีเหล่านี้อาจจะเคยเป็นของคนที่มีอยู่จริง แต่ต่อมาถูกขโมยหรือขาย และมีการใช้รูปโปรไฟล์ใหม่
บัญชีที่ถูกขโมยมาหลายบัญชียังเผยแพร่เนื้อหาสนับสนุนจีนของทางเครือข่ายลงทางยูทิวบ์ด้วย หลายบัญชีที่ก่อนหน้านี้โพสต์เป็นภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน และไม่เคลื่อนไหวมานานหลายปี แต่จู่ ๆ ก็กลับมาโพสต์เนื้อหาภาษาจีนที่มาจากสถานีโทรทัศน์ของทางการจีน
CIR ได้เผยแพร่งานวิจัยนี้แก่โซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องด้วย ส่งผลให้ เฟซบุ๊ก ได้ลบบัญชีที่ผลการศึกษานี้พูดถึงออกจากระบบ
“เมื่อ ก.ย. 2019 เราได้ลบเครือข่ายกิจกรรมสแปมที่ล่อลวงให้คนคลิกเกี่ยวกับการเมืองและการใช้ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน เครือข่ายนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มของเราเลย เรายังคงร่วมมือกับนักวิจัยและบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมของเรา เพื่อตรวจหาและปิดกั้นความพยายามกลับมาของพวกเขา อย่างบัญชีเหล่านี้ที่มีการระบุถึงในรายงาน” โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าว
ยูทิวบ์ได้ยุติการใช้งานบัญชีจำนวนหนึ่งในเครือข่ายฐานละเมิดแนวทางปฏิบัติของชุมชนผู้ใช้ยูทิวบ์
ด้านทวิตเตอร์ ระบุว่า ได้ลบบัญชีเกือบทั้งหมดที่ CIR ตรวจพบแล้ว รวมถึงบัญชีอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน และระบุว่า กำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่
“เมื่อเราตรวจพบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เราเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ไม่ว่าจะโดยคนในประเทศหรือต่างประเทศ เราจะเปิดเผยปฏิบัติการเหล่านี้แก่คลังข้อมูลสาธารณะของเรา”
แคร์รี อัลเลน นักวิเคราะห์สื่อจีน บีบีซี มอนิเตอริง ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในการสนับสนุนการทำให้จีนปรากฏอยู่ในช่องทางของต่างชาติหลายแห่งเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ “การทูตนักรบหมาป่า” โดยเจ้าหน้าที่ทางการจีนจะใช้บัญชีทวิตเตอร์ในการเผยแพร่ข้อความของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้จีนมีภาพลักษณ์ของการเป็นมิตรกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ไม่ใช่ชาติที่กดขี่และเป็นเผด็จการ
อัลเลน ระบุว่า การที่จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 พันล้านคน จีนจึงมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางโซเชียลมีเดียขนานใหญ่อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังโจมตีสิ่งที่จีนเห็นว่าเป็นความเห็นที่ต่อต้านจีนด้วยการเข้าไปกระหน่ำแสดงความเห็นคัดค้านได้ แต่ด้วยทักษะภาษาอังกฤษที่จำกัดของคนจีน สัญญาณที่บ่งชัดว่า “เกรียนคีย์บอร์ด” ชาวจีนอยู่เบื้องหลังบัญชีเหล่านั้นก็คือการใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นแปลมาจากโปรแกรมอัตโนมัติ ทำให้ข้อความประเภทนั้นมีโครงสร้างไวยากรณ์ที่ประหลาดและมีการพิมพ์ผิด
————————————————————