ฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า การสร้างเขื่อนนี้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้คนเกือบ 5,000 คน ต้องอพยพย้ายถิ่น
องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยแพร่รายงานเรื่องผลกระทบของการดำเนินโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนในกัมพูชาโดยระบุว่า เขื่อนขนาดใหญ่ที่จีนลงทุนสร้างเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาได้ทำลายชีวิตและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยหลายพันชีวิต
เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 (Lower Sesan 2) ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2018 ตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำเซซานและเซรย์ปก มาบรรจบกัน โดยเป็นแม่น้ำย่อยสองสายที่จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงอีกที
รายงานยาว 137 หน้า ที่เผยแพร่ในวันนี้ (10 ส.ค.) ระบุว่า การสร้างเขื่อนนี้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้คนเกือบ 5,000 คน ซึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณนั้นมาหลายชั่วอายุคนต้องอพยพย้ายถิ่น
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังชี้ด้วยว่าเจ้าหน้าที่กัมพูชาและเจ้าหน้าที่ของบริษัทไชน่า หัวเหนิง กรุ๊ป (China Huaneng Group) ผู้สร้างและดำเนินการเขื่อน ไม่ได้พูดคุยรับฟังความเห็นและความกังวลของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพียงพอ ก่อนที่จะลงมือสร้าง
จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ได้ “พัดทำลาย” วิถีการทำมาหากินของชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นที่อาศัยอยู่ร่วมกันและพึ่งตัวเองได้ด้วยการตกปลา หาของป่า และทำการเกษตรกรรม
“ทางการกัมพูชาต้องรีบกลับไปพิจารณาเรื่องการชดเชยและการย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากโครงการนี้ รวมถึงวิธีฟื้นฟูวิถีการทำมาหากิน และทำให้แน่ใจว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่มีการละเมิดลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอีก”
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ตามสัมภาษณ์คนกว่า 60 คน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกชุมชน ผู้นำกลุ่มประชาสังคม นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และคนอื่น ๆ ที่เคยค้นคว้าเกี่ยวกับโครงการนี้ นอกจากนี้ยังได้ศึกษางานวิชาการ ประวัติการดำเนินการทางธุรกิจต่าง ๆ งานค้นคว้าที่ทำโดยองค์กรที่ไม่ได้สังกัดรัฐบาล และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วย
บริษัทไชน่า หัวเหนิง กรุ๊ป เป็นบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าของทางการจีนซึ่งสร้างและดำเนินการเขื่อนนี้ โดยนี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า ได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนและกัมพูชา รวมถึงบริษัทไชน่า หัวเหนิง เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2020 และเดือน พ.ค. และ ก.ค. ปี 2021 เพื่อขอความคิดเห็นเรื่องรายงานชิ้นนี้ แต่ยังไม่มีการตอบกลับ
ไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์วิจัยสติมสัน และผู้เขียนหนังสือ Last Days of the Mighty Mekong บอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า เขื่อนขนาดใหญ่กว่า 400 แห่ง ที่สร้างบริเวณแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำโขงได้ทำลายวิถีการทำประมงในแม่น้ำสายใหญ่นี้เพราะเขื่อนได้ไปขวางเส้นทางว่ายน้ำอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลของปลา และกำลังทำให้ทั้งภูมิภาคใกล้เผชิญวิกฤตด้านอาหาร
“แม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก – คิดเป็น 20% ของปลาน้ำจืดที่จับได้ทั้งโลก – ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนหลายสิบล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการได้รับโปรตีนในแต่ละวัน”
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในทำนองเดียวกันว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงและระบบนิเวศบอกว่าเขื่อนแห่งนี้ส่งผลกระทบต่อการประมงของทั้งภูมิภาคที่เชื่อมโยงด้วยแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งพึ่งพิงทั้งด้านอาหารและการหารายได้ของงชาวกัมพูชา เวียดนาม ไทย และลาว
ฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า ตั้งแต่ปี 2011 จนสร้างเขื่อนเสร็จในปี 2018 สมาชิกชุมชนในพื้นที่ได้พยายามเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังบริษัท เจ้าหน้าที่รัฐบาล รวมถึงสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ทางการก็ปฏิเสธที่จะรับฟัง และต่อต้านการเจรจาหาทางเลือกอื่น และมีผู้ต่อต้านบางคนที่ถูกข่มขู่และถูกจำคุกด้วย
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ได้พยายามทั้งโทรและอีเมลสอบถามไปยังบริษัทไชน่า หัวเหนิง เช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ปีนี้ ไชน่า หัวเหนิง ระบุว่า “โครงการเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกัมพูชา และบริษัทก็ทำตามข้อตกลงในการพัฒนาโครงการและก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้อย่างเคร่งครัด”
เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 เป็นหนึ่งในโครงการอีกจำนวนหนึ่งที่จีนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียจะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี จากรายงายของบีบีซีไทยเมื่อปีที่แล้ว จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในพื้นที่ประเทศตัวเองไปแล้ว 11 แห่ง โดยจีนถือว่าเป็นสายน้ำในประเทศของตนเองชื่อแม่น้ำล้านช้าง
การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนถูกพูดถึงกันมาอย่างยาวนานว่าทำให้เกิดผลกระทบให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงในไทยที่ จ.เชียงราย ชายแดนไทย – ลาว ที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำโขงขึ้นลงผันผวนผิดธรรมชาติ