จีนรับรู้ถึงข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ ที่สำคัญบางประการของโดรนต่อสู้ล่องหน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาของสหรัฐฯ ชี้ศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
จุดอ่อนของโดรนสหรัฐฯ ผ่านสายตาแดนมังกร
วิศวกรการบินชาวจีน พบว่า XQ-58A Valkyrie อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับที่สหรัฐฯ กำลังพัฒนา ต่อสู้ทางอากาศได้ไม่ดีนัก โดยเป็นผลการประเมินจากภาพถ่ายและข้อมูลที่เปิดเผย รวมถึงการใช้วิธีตรวจสอบเชิงวิศวกรรมย้อนกลับ
ตัวอย่างเช่น เมื่อทำการเลี้ยวเป็นรูปตัว “U” หรือยูเทิร์น โดรนสหรัฐฯ สามารถทนต่อแรงดึงได้เพียง 1.7 เท่าของแรงโน้มถ่วง ซึ่งในการต่อสู้แบบอุตลุด เครื่องบินขับไล่ส่วนใหญ่ต้องเบรกต้านแรงดึงดูดได้เจ็ดเท่าหรือสูงกว่านั้น
นักวิจัยกล่าวว่า นี่คือจุดอ่อน แต่ถึงอย่างนั้นการออกแบบที่ผิดปกติ ยังส่งสัญญาณถึงปัญหาใหญ่ในกองทัพสหรัฐฯ ด้วย
วิศวกรอาวุโส ลู่ หยวนเจี๋ย และคณะทำงานที่สถาบันออกแบบและวิจัยอากาศยานเสิ่นหยาง ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Aircraft Design ว่า
“จากการผกผันของกระบวนการออกแบบ XQ-58A จะเห็นได้ว่า ด้วยความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีการส่งข้อมูลเครือข่าย ‘loyal wingman’ ของ XQ-58A จะค่อย ๆ กลายเป็นกำลังหลักในสนามรบ และกลายเป็นชุมพลังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการต่อสู้ ที่ประสานระหว่างคนกับเครื่องจักร”
ยานต่อสู้ไร้คนขับสู่แกนหลักในกองทัพ
เมื่อเดือนที่แล้ว กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทำสัญญา มูลค่า 13.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 440 ล้านบาท) กับผู้รับเหมาก่อสร้าง Kratos เพื่อเตรียม XQ-58A ให้พร้อมสำหรับการใช้งานภายในปี 2023 ขณะที่บริษัทกล่าวในเดือนพฤษภาคมว่า จะส่งมอบหน่วยการผลิตชุดแรกภายในปีนี้
นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2019 โดรนรุ่นนี้ได้ทำการบินทดสอบไปแล้ว 6 ครั้ง และประสบอุบัติเหตุถึง 2 ครั้ง ในการลงจอดและบินขึ้น ทั้งนี้ ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเพียง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (66 ล้านบาท) ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการผลิตและใช้งานโดรนรุ่นนี้อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม XQ-58A เป็นองค์ประกอบหลักในโครงการ Skyborg ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โดรนเป็นผู้นำฝูงบิน ให้กับเครื่องบินไอพ่น F-22 และ F-35 ในภารกิจต่อสู้หรือเฝ้าระวัง
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
รัฐบาลจีนกังวลเรื่องโดรนเหล่านี้ เนื่องจากในกรณีที่เกิดสงคราม โดรนจะทำให้จีนคาดเดาสถานการณ์ได้ยากขึ้น อีกทั้ง การศึกษาทางทหารของจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เตือนว่า สหรัฐฯ สามารถส่งโดรน XQ-58A จำนวนมาก ไปยังเกาะหรือเรือทางตะวันออกของไต้หวันได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายที่จีนไม่คาดคิด
หากเกิดความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน โดรนเหล่านี้สามารถรวมกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังสามารถโจมตีเป้าหมายในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีการพรางตัว รวมถึงเคลียร์เส้นทางสำหรับฝูงบิน F-22 หรือ F-35 ได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์ กั๋ว เจิ้ง และคณะ กล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ใน National Defense Technology เดือนกุมภาพันธ์ ไว้ว่า “แม้ว่า XQ-58A จะยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและตรวจสอบในระยะสั้น แต่กลับส่งผลต่อรูปแบบพื้นฐานของการรบทางอากาศในอนาคต จีนจึงควรให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างเต็มที่”
ส่วนคณะทำงานของลู่ หยวนเจี๋ย กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของจีนในการศึกษาครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อทำซ้ำ XQ-58A แต่เพื่อค้นหาแรงจูงใจที่ซ่อนเร้นของกองทัพสหรัฐฯ
หนทางป้องกันและตอบโต้ของกองทัพจีน
นักวิจัยชาวจีน พบว่า นักออกแบบของสหรัฐฯ พยายามบรรจุอุปกรณ์และเชื้อเพลิง ลงในโดรนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยรักษาปีก เครื่องยนต์ และขนาดโดยรวมให้เล็กที่สุด ทั้งนี้ ลำดับความสำคัญของการออกแบบอาจบ่งชี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ เน้นไปที่การบรรจุอาวุธ และความสามารถในการเฝ้าระวัง รวมถึงระยะทำการ มาก่อนความคล่องตัวของโดรน
ตามรายงานของลู่ หยวนเจี๋ย มีการโฆษณาว่า XQ-58A เป็นโดรนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วได้รับการออกแบบและสร้างขึ้น เพื่อขยายขอบเขตของฝูงบิน สำหรับปฏิบัติภารกิจปลิดชีพ
“สิ่งนี้จะช่วยให้อากาศยานไร้คนขับสามารถสั่งการนอกเขตป้องกัน รวมถึงเข้าสู่พื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง เพื่อทำภารกิจโจมตีที่มีความเสี่ยงสูงให้ลุล่วงด้วยดี” เขากล่าว
จากการศึกษาของกั๋ว กองทัพจีนมีหลายวิธีในการตอบโต้ XQ-58A และเครื่องบินที่คล้ายคลึงกัน โดยจีนได้สร้างสถานีเรดาร์ความถี่ต่ำจำนวนมาก ในขณะที่กำลังพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีใหม่ เช่น เรดาร์ควอนตัม เพื่อตรวจจับเครื่องบินล่องหน
“ภายใต้สมมติฐานของการตรวจจับที่มีประสิทธิภาพ การที่ XQ-58A มีความคล่องแคล่วที่น้อยกว่า อาจทำให้โดนโจมตีด้วยปืนต่อต้านอากาศพิสัยกลางภาคพื้นดิน รวมถึงขีปนาวุธข้ามขอบฟ้าแบบใช้อากาศ หรือการต่อสู้ระยะประชิดโดยเครื่องบินขับไล่” กั๋ว กล่าว
สงครามแสดงแสนยานุภาพของสองชาติ
ทั้งนี้ อุปกรณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์ สามารถตัดการสื่อสารระหว่างโดรนกับคำสั่งของมนุษย์ หรือโจมตีกลุ่มโดรนด้วยการยิงเพียงนัดเดียว จากอาวุธคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันทรงพลัง ขณะที่กั๋วกล่าวว่า การใช้โดรนปะทะโดรนยังคงเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอยู่
“ฝ่ายป้องกันสามารถใช้โดรนเพื่อหลอกล่อ และบีบบังคับทิศทางการบินของศัตรูได้” กั๋วและคณะ กล่าว
ข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า ความเร็วสูงสุดของ XQ-58A คือ 0.95 มัค ขณะที่จีนกำลังพัฒนาโดรนไฮเปอร์โซนิก ที่สามารถบินได้เร็วกว่าเสียงถึงห้าเท่าหรือเร็วกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยของกองทัพอากาศจีน ชี้ให้เห็นว่า โดรนที่มีความเร็วเหนือเสียง สามารถจับตำแหน่งของ F-22 ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยิงขีปนาวุธหรือปืนใหญ่จากด้านหลังได้ด้วย
————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : TNN / วันที่เผยแพร่ 21 ก.ย.2564
Link : https://www.tnnthailand.com/news/world/91593/