“ภาพยนตร์” อาจเป็นสื่อสารมวลชนที่ผู้รับสารเสพเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แต่หน้าที่ของภาพยนตร์ไปไกลกว่านั้นโดยเกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้วย
นักวิชาการหลายคนได้เสนอแนวคิดผ่านเวทีสัมมนาวิชาการระดับชาติ “ภาพยนตร์กับความมั่นคง” จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ อธิบายว่า ความมั่นคงหมายถึงภาวะปราศจากภัยคุกคาม หรือ ภาวะที่มีภัยคุกคามระดับต่ำจนแทบจะปลอดความกังวล ความมั่นคงแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือความมั่นคงตามนัยดั้งเดิม (traditional security) มองโลกผ่านแว่นตาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหลัก เน้นเอกภาพของประชากร และอำนาจในการปกครองตนเอง จึงให้ความสำคัญกับสถาบันที่รับผิดชอบการปกปักรักษาอธิปไตย ทำหน้าที่ป้องกันชาติให้พ้นจากภยันตราย เช่น ภัยรุกรานจากภายนอก การบ่อนทำลายจากภายใน งานก่อการร้าย การก่อกวนในรูปแบบต่างๆ อันจะส่งผลต่อความผาสุกของสังคม
อีกประเภทคือความมั่นคงใหม่ (non-traditional security) แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ การทหาร เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งความมั่นคงในมิตินี้สัมพันธ์กับภาพยนตร์มากกว่าความมั่นคงในมิติเดิม
“แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความมั่นคง ก็คือความปลอดภัย ภาพยนตร์กับความมั่นคงจึงมีความหมาย เกี่ยวกับบทบาทของสื่อภาพยนตร์ในการส่งเสริมความปลอดภัยทุกด้าน นอกจากนี้ภาพยนตร์กับความ มั่นคงยังหมายถึงความปลอดภัยของภาคอุตสาหกรรมเอง ครอบคลุมงานภาพเคลื่อนไหวทุกประเภท เช่น ซีรีส์/ละคร ภาพยนตร์สั้น แอนิเมชัน สารคดี คลิป ฯลฯ เนื่องจากงานเหล่านี้จัดเป็นสื่อ ภาพเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อความปลอดภัยไม่ต่างกัน”
เหตุที่ภาพยนตร์กลายเป็นเรื่องความมั่นคง ฐนยศอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะภาพยนตร์มีอิทธิพลทางความคิดสูง หลายเรื่องสามารถโน้มน้าวให้เกิดกระแสสังคมได้ในชั่วข้ามคืน ตัวอย่างเช่น ดาบพิฆาตอสูร ก่อให้เกิดกระแสเสื้อคลุมตามแบบตัวละคร พ่อค้าขายได้สองพันตัวต่อวัน จนโรงเรียนออกคำสั่ง
ห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนสวมเสื้อลักษณะดังกล่าวมาโรงเรียน หรือแว่นเรย์แบนด์ในภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ภาพยนตร์ดังออกฉายในปี 1986 (พ.ศ.2529) ดันยอดขายพุ่งหลายล้านอันทั่วโลก คนดังสหรัฐเริ่มสวมตาม ซึ่งนี่เป็นแค่อิทธิพลที่ภาพยนตร์มีต่อกระแสแฟชั่น ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องยังสามารถสร้างกระแสเร่งเร้าทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ อำนวยกิจการทหาร และยกระดับความสัมพันธ์ภาคประชาชนได้ด้วย ทั้งหมดถือเป็นปัจจัยด้านความมั่นคงทั้งสิ้น
“หากภาพยนตร์สร้างกระแสได้ถูกทาง จะทำให้สังคมพบกับความปลอดภัยในระยะยาว” ฐณยศกล่าวพร้อมยกตัวอย่างการใช้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเพื่อความมั่นคงของสหรัฐ ส่งเสริมประชาธิปไตย การรักษาบทบาททางทหารในต่างประเทศ การกระจายลัทธิตลาดเสรี เผยแพร่ความเป็นอเมริกัน เพิ่มเครือข่ายระหว่างประเทศ และการสื่อสารภาพของสหรัฐ ในฐานะชาติชั้นนำตามแนวคิด Exceptionalism ( อเมริกันเป็นชนชาติพิเศษ มีความเป็นเลิศเหนือชาติอื่นๆ เช่น ความเป็นเลิศในทางความรู้ การทหาร กิจการบันเทิง ศิลปะ กีฬา ฯลฯ) ทั้งหมดนี้เพื่อให้สหรัฐคงสถานะศูนย์กลางของโลกทุนนิยมอุตสาหกรรม
ภาพยนตร์อีกชาติหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือเกาหลีใต้ ฐนยศกล่าวว่า หากไม่นับข้อขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ความมั่นคงของเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคม ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้จำนวนมากพยายามสร้างคุณูปการด้วยการผูกภาพของประชากรกับความทันสมัยในงานทุกประเภทไม่เว้นกระทั่งงานย้อนยุค อิงแนวคิด 4S ได้แก่ Smart, Strong, Safe และ Sustainable
“เสรีภาพ วิทยาการ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจเสรี ความเท่าเทียม ฯลฯ คือแก่นการนำเสนอในงานภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง เพราะมันคือองค์ประกอบแห่งยุคสมัยที่ชาวเกาหลีใต้มุ่งหวังจะตามให้ทัน”
อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่วัฒนธรรมภาพยนตร์แข็งแกร่ง ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย อธิบายว่า อินเดียใช้ภาพยนตร์เผยแพร่วัฒนาธรรมมายาวนานมาก ผู้ชมมีทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ จึงขยายอิทธิพลไปกว้างไกล
“คนอินเดียไม่ได้ดูหนังเพื่อบันเทิงอย่างเดียว แต่เป็นวัฒนธรรม เป็น social activity มีเพาเวอร์สูงในการปลูกฝังคนในประเทศ การรับใช้ชาติ หลังได้เอกราชหนังเป็นตัวช่วยปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม”
หลายคนมักเรียกภาพยนตร์อินเดียว่าบอลลีวู้ด ซึ่งลักษณ์นัยน์ชี้แจงว่า บอลลีวู้ดไม่ได้หมายถึงภาพยนตร์อินเดียทั้งหมด เพราะอินเดียเป็นประเทศใหญ่มาก แต่ละรัฐมีการทำภาพยนตร์ของตนเอง ภาพยนตร์ท้องถิ่นก็เป็นที่นิยมในรัฐนั้นๆ บอลลีวู้ดสร้างจากนครมุมไบ (บอมเบย์) ภาพรวมภาพยนตร์อินเดียต้องมองทั้งประเทศ ซึ่งแต่ละปีสร้างภาพยนตร์ราว 2,000 เรื่อง ทำรายได้ 2.6 พันล้านดอลลาร์
ภาพยนตร์อินเดียแข็งแกร่งได้เพราะให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เริ่มต้นจากสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ให้ทุนสร้าง แจกรางวัล มีสถาบันการศึกษาสอนโดยเฉพาะ เช่น
Film and Television Institute of India (FTII) ที่ปูเน หรือ Satyajit Ray Films and Television Institute ที่โกลกาตา
การรวมตัวในระดับรัฐ จัดตั้งองค์กรสหภาพเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของแรงงานมีประสิทธิภาพโดยที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารและการกระจายเสียงกำกับดูแลอย่างหลวมๆ ภาครัฐก็ช่วยสนับสนุนเพราะเห็นความสำคัญของภาพยนตร์ มีการออกกฎหมายมาช่วย เช่น ลดหย่อนภาษี ธนาคารท้องถิ่นให้สินเชื่อ เปิดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเหนียวแน่นมาก เพราะภาพยนตร์ที่สร้างไม่ได้ขายแค่คนในรัฐเท่านั้น แต่ขายรัฐอื่นและต่างประเทศด้วย
“นอกจากนี้อินเดียยังมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากนับเป็นหมื่นโรง หลายระดับ ตั๋วถูก คนจนก็ดูได้ เด็กกำพร้ามีเงินเล็กน้อยก็เสพหนังเรื่องเดียวกับโรงมัลติเพล็กซ์ได้” และที่สำคัญคือ อินเดียมีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมากมาย เล่าเรื่องได้หลากหลาย
สำหรับผู้ชมภาพยนตร์อินเดียต้องยอมรับว่า สร้างได้ “ครบรส” ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “นวรส” ทั้งความรัก ขบขัน กล้าหาญ เต้น ร้องเพลง มีความสมจริงที่หลากหลาย ภาพยนตร์แต่ละเรื่องยาวราว 3 ชั่วโมงต้องพักครึ่งระหว่างฉาย แก่นเรื่องเน้นผลประโยชน์ของชาติ ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ การแทรกแซง การก่อการร้าย สังคมพหุวัฒนธรรม และภาพตัวแทนอินเดียในสายตาชาวโลก ตัวละครเป็นคนธรรมดา รากหญ้า แต่กล้าหาญสู้กับอำนาจที่กดขี่ สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว
นอกจากนี้อินเดียยังใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์ในทางอื่น เช่น ให้ภาพยนตร์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาเรื่องราวกับสิ่งต่างๆ อย่างเพลง หรือ การท่องเที่ยวจนส่งผลต่อธุรกิจต่อยอด หลายครั้งภาพยนตร์อินเดียถูกนำออกไปฉายยังประเทศใกล้เคียง ผู้สร้างชาวอินเดียจึงพยายามแต่งเนื้อหาให้มีภาพของชาติอันเป็นพี่ใหญ่ประจำภูมิภาค ถือได้ว่าภาพยนตร์อินเดียแฝงวาระทาง soft power ไม่น้อยไปกว่าชาติใด
โดย : กนกวรรณ เกิดผลานันท์
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 23 ก.ย.2564
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/961724