กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 ซึ่งเป็นแผนแม่บทการจัดการสาธารณภัยฉบับใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงอย่างปลอดภัยและยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ และจะได้ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การจัดการสาธารณภัย ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์เป้าหมายการสร้างประเทศไทยให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใน ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้การจัดการสาธารณภัยตอบโจทย์การสร้างประเทศไทยปลอดภัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ ในปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) และหน่วยงานรับผิดชอบด้านการจัดทำแผนการจัดการสาธารณภัยของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ซึ่งเป็นแผนฉบับใหม่ที่ปรับปรุงจากแผนฉบับเดิมที่ใช้มาครบ 5 ปี เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการปฏิบัติให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่นในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างบูรณาการเป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “สังคมไทยสามารถลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงอย่างปลอดภัยและยั่งยืน”
โดยได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์หลักครอบคลุมการจัดการสาธารณภัยในทุกมิติ ทั้งในระยะการเตรียมความพร้อม การป้องกันและ ลดผลกระทบ การจัดการในภาวะฉุกเฉิน การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย การเป็นหุ้นส่วนการจัดการสาธารณภัยระหว่างประเทศ รวมถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ซึ่งคณะกรรมการ (กปภ.ช.) ได้เห็นชอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 และขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ซึ่งกรมป้องกัน บรรเทาสาธารณภัยจะได้ประสานหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและทุกระดับขับเคลื่อนการปฏิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม พร้อมประสานจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ รวมถึงกลไกกำกับ ติดตาม และประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์
สำหรับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ถือเป็นแผนแม่บท (Master Plan) ในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไทย ซึ่ง ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงและทบทวนแผนฯ โดยศึกษาวิเคราะห์ และค้นคว้าแนวทางการจัดการสาธารณภัยของประเทศต่าง ๆ กรอบการพัฒนาระดับโลกและระดับภูมิภาค แผนและนโยบายการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ รวมถึงการถอดบทเรียนในการจัดการสาธารณภัยของประเทศไทยที่ผ่านมา มาเป็นกรอบแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
โดยยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้แผน ปภ.ชาติ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 – 2570 แบ่งเป็น 2 ส่วน 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและมีการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อให้สังคมเกิดภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือและฟื้นกลับอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัย และยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
ส่วนที่ 2 การจัดการสาธารณภัยให้มีมาตรฐาน เป็นระบบและชัดเจนภายใต้ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ รวมทั้งการจัดการเมื่อเข้าสู่ระยะฟื้นฟู โดยใช้กระบวนการฟื้นสภาพ (Rehabilitation) และซ่อมสร้าง (Reconstruction) เพื่อการฟื้นฟูให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม ประกอบด้วย 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการสาธารณภัยของประเทศไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน และตอบโจทย์เป้าหมายการสร้างประเทศไทยให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 ก.ย.2564
Link : https://www.matichon.co.th/publicize/news_2924652