“ระบบจดจำใบหน้า” ความน่ากลัวกับการสูญเสียความเป็นส่วนตัว
ระบบจดจำใบหน้าถูกนำไปใช้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภาพจำนวนมหาศาลในหลายด้าน
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการมองเห็นของคอมพิวเตอร์ (Computer vision) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เอไอ” ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก สามารถวิเคราะห์ภาพต่างๆ ได้มากมายดังเช่น แยกแยะสิ่งต่างๆ ในรูปได้ว่าคืออะไร รวมทั้งยังสามารถจดจำใบหน้าคนได้ดีกว่าคนอีกด้วย
ทุกวันนี้เราสามารถใช้โปรแกรม Google len ในมือถือถ่ายภาพ แล้วค้นหาได้ว่ารูปนี้คืออะไร หรือแม้แต่ค้นหาแหล่งซื้อสินค้าและราคา ทำการแปลภาษาก็สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial recognition) โดยเฉพาะการใช้เพื่อระบุตัวตน เช่น การปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ การเข้าสถานที่ทำงาน เข้าที่อยู่อาศัย รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน
ความสามารถเทคโนโลยีในการมองเห็นทำงานได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีการในการคำนวณและประมวลผลที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญมากสุดคือ ทุกวันนี้มีฐานข้อมูลรูปภาพจำนวนมหาศาล ทำให้ระบบการมองเห็นนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อการค้นหาหรือแยกแยะรูปภาพต่างๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น ซึ่งในหลักการของเทคโนโลยีเอไอยิ่งมีข้อมูลมาก ความถูกต้องของการพยากรณ์ก็จะดียิ่งขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจหากเราค้นชื่อตัวเองใน Google แล้วสามารถแสดงรูปภาพที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตออกมาได้ เพราะคิดว่า Google ไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์หรือโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียที่เปิดเป็นสาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันเว็บไซต์ Yandex.com ก็สามารถค้นหาได้โดยใช้รูปภาพบุคคล เพื่อให้ได้รูปอื่นๆ ของคนนั้น รวมทั้งยังได้ชื่อของคนๆ นั้นด้วย ความสามารถดังกล่าวอาจทำให้เป็นกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวว่า ใครก็สามารถค้นหาชื่อเราจากรูปภาพได้
วันนี้มีแอพอยู่มากมายที่เราสามารถใช้ค้นหาชื่อคนจากรูปถ่าย และอาจรวมถึงได้ชื่อบัญชีในโซเชียลมีเดียของคนนั้นเพื่อการติดต่อ ซึ่งก็หมายความว่า หากใครพบเราตามที่สาธารณะแล้วต้องการรู้จักก็สามารถถ่ายรูปไปสืบค้นได้ ยิ่งหากเรามีรูปที่เปิดสาธารณะไว้ในโซเชียล มีเดียจำนวนมาก ก็ยิ่งง่ายต่อการค้นหา นำไปสู่การส่งข้อความติดต่อมายังเราผ่านโซเชียลมีเดียได้ด้วย
ระบบจดจำใบหน้า ถูกนำไปใช้ในการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภาพจำนวนมหาศาลในหลายด้าน โดยเฉพาะงานของตำรวจในหลายประเทศที่มีการใช้รูปถ่าย หรือภาพจากกล้องวิดีโอ เพื่อทำการค้นข้อมูลส่วนบุคคลผู้ต้องสงสัยได้ รวมถึงการนำไปใช้ในเรื่องความมั่นคงสืบหาผู้ก่อการร้าย ดังเช่นรัฐบาลจีนมีการเก็บข้อมูลรูปภาพจากฐานข้อมูลประชาชน รวมถึงภาพจากกล้อง CCTV ที่ติดอยู่ในที่สาธารณะจำนวนหลายร้อยล้านกล้อง และใช้เทคโนโลยีเอไอค้นหาข้อมูลบุคคล รวมถึงเชื่อมโยงไปในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ที่ใช้หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บริษัท Clearview.ai คือ อีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้ข้อมูลภาพจากอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียเพื่อสืบค้นบุคคลจากรูปภาพ โดยมีฐานข้อมูลถึงสามพันล้านภาพ ที่ทางบริษัทดึงมาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วนำระบบไปขายให้กับหน่วยงานรัฐต่างๆ แม้ทางบริษัทพยายามจะบอกว่าระบบนี้ไม่ได้เปิดให้ใช้สาธารณะ หรือจะไม่ขายให้รัฐบาลบางประเทศ แต่คนจำนวนหนึ่งเริ่มกังวลกับข้อมูลที่ควรเป็นส่วนตัว แต่กลับถูกนำไปใช้สาธารณะ
การจดจำใบหน้าดูเหมือน จะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของรูปใช้ในการระบุตัวตนเชิงดิจิทัล ที่อาจดีกว่าการใช้พาสเวิร์ดแบบเดิมๆ แต่หากนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในทางกลับกัน ก็สามารถระบุตัวตนผู้ใดก็ได้ แม้เจ้าของรูปจะไม่ยินยอม ดังนั้นปัจจุบันบางประเทศเริ่มจำกัดการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าในงานสาธารณะ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีบางเมืองอย่าง San Francisco, Oakland, San Diego, Boston Portland ที่ออกกฎหมายห้ามใช้ระบบนี้ในที่สาธารณะ และประเทศสวีเดนก็ได้ออกกฎหมายห้ามใช้ในโรงเรียน เช่นกัน
ความฉลาดของเทคโนโลยีมาพร้อมกับความน่ากลัวเรื่องของความสามารถในการค้นหาข้อมูลของเรา ยิ่งถ้าเราสะสมภาพต่างๆ จำนวนมากเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ระบบจดจำใบหน้าก็สามารถค้นหาภาพเราย้อนหลังกลับไปได้ทั้งหมดเพียงแค่ผู้ค้นนำรูปถ่ายในปัจจุบันของเรามาค้น อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ได้ว่าหน้าตาของเราเป็นอย่างไรในช่วงเยาว์วัย รวมถึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของเราได้มากมาย
ทุกวันนี้ เรากำลังเล่นโซเชียลมีเดียกันอย่างสนุกสนาน เราอัพโหลดภาพถ่ายตัวเอง ภาพคนในครอบครัวขึ้นสู่ระบบมากมาย ซึ่งก็ทำให้กลายเป็นแหล่งข้อมูลภาพมหาศาลที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศสามารถนำข้อมูลภาพของเราไปใช้ค้นหาข้อมูลส่วนตัวของเราได้ ซึ่งเราอาจระวังแต่ข้อมูลส่วนตัวที่เก็บอยู่ในหน่วยงาน หรือเว็บไซต์ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า กลับกลายเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ที่ทำให้ความเป็นส่วนตัวของเราหายไปนานแล้ว ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ และรอยเท้าดิจิทัลเหล่านี้อาจมีผลต่อเราในอนาคตก็เป็นได้
ผู้เขียน : ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute)
ภาพประกอบ : freepik.com
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 4 ก.ย.2564
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/653205