เอเอฟพี – รัฐบาลทหารของพม่าปฏิเสธระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคที่มีความขัดแย้ง โดยกล่าวโทษปัญหาสัญญาณขาดหายกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารที่ทำลายเสาสื่อสารของกองทัพ
พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพเข้าโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีในเดือนก.พ. ที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่ทำให้กองกำลังความมั่นคงดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง
ผู้ชุมนุมบางส่วนในขบวนการต่อต้านการรัฐประหารได้จัดตั้งกองกำลังปกป้องประชาชนขึ้นในพื้นที่ของตนเองเพื่อตอบโต้ และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาได้ทำลายเสาสื่อสารหลายต้นที่เป็นของบริษัท Mytel ของกองทัพในรัฐชิน ทางภาคตะวันตกของประเทศ
รายงานเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตและข้อมูลล่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่กองกำลังปกป้องท้องถิ่นและกองทัพกำลังต่อสู้กัน เกิดขึ้นหลังจากการปะทะเพียงไม่นาน
กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารปฏิเสธว่าสภาบริหารแห่งรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ
“ที่จริงแล้ว การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากการกระทำก่อการร้าย เช่น การทำลายเสาสื่อสารโดยกลุ่มก่อการร้าย กระทรวงขอให้คณะผู้แทนต่างประเทศในย่างกุ้งตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนออกคำแถลง” กระทรวงการต่างประเทศ ระบุ
สัญญาณอินเทอร์เน็ตล่มไม่ใช่เรื่องแปลกในพม่าช่วงหลังการรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลทหารเคยสั่งระงับอินเทอร์เน็ตในช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 ก.พ. ที่ทหารเข้าจับกุมตัวซูจี และนักการเมืองระดับสูงคนอื่นๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังสั่งระงับสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศในช่วงเวลากลางคืนในช่วงหลายสัปดาห์หลังจากการยึดอำนาจ
ในวันอาทิตย์ (26) นักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารกล่าวกับเอเอฟพีว่าบริการโทรคมนาคมในเมืองปินแลบู กอลิน และวันโท ของเขตสะกาย ที่เกิดเหตุปะทะกับกองทัพอย่างรุนแรง ไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงเช้าตรู่ของวัน
“เราไม่สามารถใช้งานอินเทอร์และโทรศัพท์ได้ตั้งแต่เวลา 2.00 น.” นักสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ที่หลบหนีออกจากเมืองกอลิน กล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่ากองกำลังความมั่นคงกำลังระดมกำลังเข้ามาในพื้นที่
“ผู้คนต่างกังวลว่ารัฐบาลทหารจะดำเนินการปฏิบัติการครั้งใหญ่” นักสู้ของฝ่ายต่อต้าน กล่าว
ส่วนสมาชิกของกองกำลังท้องถิ่นอีกรายหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถติดต่อนักสู้ของพวกเขาที่อยู่ในเมืองปินแลบูได้
การโจมตีของนักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารเกิดบ่อยครั้งขึ้นหลังรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเรียกร้องให้พลเมืองมุ่งเป้าโจมตีทรัพย์สินของทหารในพื้นที่ของพวกเขา
ผู้สังเกตการณ์ท้องถิ่นระบุว่า มีพลเรือนถูกสังหารมากกว่า 1,100 คน และอีกราว 8,000 คน ถูกจับกุมตัว นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
รัฐบาลทหารได้ปกป้องการยึดอำนาจของพวกเขาโดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตขนานใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งในปลายปี 2563 ที่พรรคของซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย.
—————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ก.ย.2564
Link : https://mgronline.com/indochina/detail/9640000095420