วันที่ 12 กันยายน 2021 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น สั่งให้สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา และไทย ออกประกาศแจ้งเตือนชาวญี่ปุ่นระวังระเบิดฆ่าตัวตาย โจมตีสถานที่ที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ขนส่งสาธารณะ ตลาด สถานที่ท่องเที่ยว ศาสนสถาน โดยขอให้ชาวญี่ปุ่นในประเทศนั้นๆ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน
หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นจริงๆ และเป็นเหตุระเบิดหรือระเบิดฆ่าตัวตายในเมืองใดก็ตาม กลุ่มที่จะถูกพุ่งเป้าเป็นลำดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น เจไอ และเจเอดี อย่างแน่นอน
ไทยรัฐพลัสจึงอยากชวนทำความรู้จักกับกลุ่มก่อการร้ายทั้งสองกลุ่ม ว่ามีที่มาเริ่มต้นจากไหน มีแนวคิดทางการเมืองแบบใด ก่อนหน้านี้เคยก่อเหตุร้ายแรงที่ไหนบ้าง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์และไอเอสที่โด่งดังในโลกอาหรับมากน้อยเพียงใด
เจมาห์ อิสลามิยาห์
เจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiyah) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ‘เจไอ’ มีความหมายว่า ‘ชุมชนอิสลาม’ ก่อตั้งขึ้นวันที่ 1 มกราคม 1993 โดย อับดุลลาห์ ซุงกาห์ (Abdullah Sungkar) และ อาบู บาการ์ บาร์ชีห์ (Abu Bakar Ba’asyir) ในประเทศมาเลเซีย โดยมีไอเดียตั้งกลุ่มต่อยอดจากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย
เจไอถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ (AI-Qaida) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวางระเบิดครั้งใหญ่ใจกลางย่านท่องเที่ยวบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2002 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย บาดเจ็บ 209 ราย
หลังเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในบาหลี กลุ่มเจไอยังคงก่อเหตุวางระเบิดต่อเนื่องหลายแห่ง สถานที่ราชการ สถานทูตชาติตะวันตกหลายแห่ง และโรงแรมใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติพักอยู่จำนวนมากในปี 2003 จนมีผู้เสียชีวิต 213 ราย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตรงกันว่า ผู้นำกลุ่มในช่วงเวลานั้น คือ นูร์จามาน ริดวน อิซามุดดิน (Nurjaman Riduan Isamuddin) ฉายา ‘ฮัมบาลี’ หรือบางคนเรียกกันว่าเป็น ‘บิน ลาเดน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ผู้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ โอซามา บิน ลาเดน และเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มย่อยของอัลกออิดะห์ โดยจะดูแลฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป้าหมายสูงสุดของพวกเขาเป็นไปตามชื่อกลุ่ม คือความพยายามสร้างชุมนุมอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
เจมาอาห์ อันชารุต เดาเลาะห์
เจมาอาห์ อันชารุต เดาเลาะห์ (Jamaah Ansharut Daulah) หรือ ‘เจเอดี’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 มีฐานที่มั่นอยู่ที่อินโดนีเซีย เชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ อีกกว่า 20 กลุ่มในประเทศ ที่ส่วนใหญ่มีกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ‘ไอเอส’ เป็นต้นแบบ มีหัวหน้ากลุ่มคือ อามัน อับดูร์ราห์มาน (Aman Abdurrahman)
ในเดือนมกราคม 2016 เจเอดีใช้ระเบิดฆ่าตัวตายกลางห้างสรรพสินค้าในเมืองจาการ์ตา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 25 ราย ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2017 จู่โจมพื้นที่ชุมชนในจาการ์ตาอีก 2 ครั้ง ด้วยวิธีการเดิม จนมีตำรวจเสียชีวิต 3 นาย ก่อนเดือนพฤษภาคม 2018 ระเบิดฆ่าตัวตายอีกครั้งในเมืองสุราบายา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 40 ราย เสียชีวิตอย่างน้อย 13 ราย
นอกจากนี้ยังมีการยืนยันว่า เจเอดีมีส่วนร่วมกับเหตุระเบิดมหาวิหารโจโล ประเทศฟิลิปปินส์ วันที่ 27 มกราคม 2019 มีผู้บาดเจ็บ 102 ราย และเสียชีวิต 20 ราย จึงสามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเจเอดี มีความสัมพันธ์อันดีกับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร ที่พยายามแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์
ในปี 2017 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ขึ้นทะเบียนเจเอดีเป็นองค์กรก่อการร้าย ก่อนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะใส่ชื่อของเจเอดีในบัญชีรายชื่อองค์กรก่อการร้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2020
วันที่ 31 กรกฎาคม 2018 ศาลแขวงในกรุงจาการ์ตา มีคำตัดสินของคดีหมายเลข 809 / Pid.Sus / 2018 / PN JKT.SEL วินิจฉัยว่ากลุ่มเจเอดี ทำผิดกฎหมายขององค์กร มีพฤติกรรมก่อการร้าย เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ สามารถจับกุมสมาชิกและผู้จัดงานทั้งหมดได้
เหตุร้ายและการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในอาเซียน
หลังมีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะการวางระเบิดและระเบิดฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเจไอและเจเอดี ในที่สุด ริดวน อิซามุดดิน ผู้นำกลุ่มเจไอ ถูกจับกุมตัวได้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย ช่วงกลางปี 2003 ในปี 2006 เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา ส่วนทางอินโดนีเซียประกาศให้เจไอเป็นองค์กรผิดกฎหมายในปี 2008
ระหว่างถูกคุมขัง ไม่มีใครตั้งข้อหาเพิ่ม ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการพิจารณาคดี คล้ายกับว่าขังลืมอิซามุดดินนานหลายปี จนกระทั่งเดือนมกราคม 2021 รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ได้เริ่มเปิดรื้อคดีเพื่อฟ้องร้อง เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน 2001 ส่วนทางอิซามุดดิน เหมือนจะมีการฟ้องกลับเช่นกัน เพราะเขาอ้างว่าระหว่างถูกคุมขัง เคยถูกทหารสหรัฐฯ ซ้อมทรมาน
แม้สมาชิกระดับสูงพากันถูกจับกุมคุมขัง แต่การเผยแผ่ความคิดของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากเหตุการณ์หนึ่งในสิงคโปร์ ช่วงเดือนกันยายน 2019 เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์จับกุมแรงงานหญิงชาวอินโดนีเซียที่บริจาคเงินสนับสนุนกลุ่มไอเอส หลังดูสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น วิดีโอการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย และคลิปตัดศีรษะ
กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์แถลงการณ์ว่า แรงงานทั้งสามคน บริจาคเงินให้กับนิติบุคคลต่างชาติที่สนับสนุนให้เกิดการก่อการร้าย สนับสนุนกิจกรรมของไอเอสและเจเอดี พวกเธอจะถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายในสิงคโปร์ ที่อนุญาตให้คุมขังโดยไม่ต้องไต่สวนเป็นเวลาสูงสุด 2 ปี
ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2021 อินโดนีเซียเผชิญกับเหตุวุ่นวายในเวลาไล่เลี่ยกันใน 11 จังหวัด มีการก่อเหตุป่วนเมือง มีระเบิดตามสถานที่ต่างๆ คาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มเจไอและเจเอดี ทำให้รัฐบาลต้องเร่งส่งกำลังกวาดล้าง เนื่องจากมีรายงานว่า สมาชิกระดับสูงหลายคนของเจไอ ผู้กรำศึกจากการต่อสู้ในอัฟกานิสถาน เดินทางมารวมตัวกันยังอินโดนีเซีย เพื่อระดมสมาชิกเพิ่ม และฝึกสอนสมาชิกใหม่
งานปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษป้องกันการก่อการร้ายชั้นยอด Densus 88 (เด็นซัส 88) ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และออสเตรเลีย คอยติดตามทิศทางของกลุ่มก่อการร้ายอย่างใกล้ชิด
วันที่ 19 สิงหาคม 2021 สำนักข่าว AP รายงานความเคลื่อนไหวว่าหน่วยเด็นซัส 88 ทำการจับกุมสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายได้ 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มเจไอและบางส่วนเป็นสมาชิกเจเอดี และเชื่อมโยงไปยังผลการจับกุมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่สามารถจับกุมตัว อุสมาน บิน ซาฟ (Usman bin Saf) ฉายา ‘ฟาฮิม’ หนึ่งในหัวหน้าระดับสูงของเจไอ
การจับกุมสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซีย ตัดสินใจยกระดับมาตรการป้องกันเครือข่ายกลุ่มก่อการร้าย หลังกรณีของกลุ่มตาลีบันยึดครองกรุงคาบูล และจัดตั้งรัฐบาลอัฟกานิสถานใหม่
ตาลีบันอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศแถบอาเซียนโดยตรง แต่รายงานจากหน่วยข่าวกรองหลายประเทศยืนยันตรงกันว่า ตาลีบันมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์มาอย่างยาวนาน และกลุ่มเจไอก็เป็นหนึ่งในสังกัดของอัลกออิดะห์ จึงจำเป็นต้องยกระดับการเฝ้าระวังไว้ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญซ้ำอีก
วันที่ 13 กันยายน เกิดความเคลื่อนไหวอีกครั้งในอินโดนีเซีย เว็บไซต์ South China Morining Post (SCMP) รายงานว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวว่าจับกุมผู้ต้องสงสัยได้อีก 4 คน หนึ่งในนั้นคือ อาบู รุสดาน (Abu Rusdan) วัย 61 ปี ผู้มีความเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นกับกลุ่มเจไอ และเคยถูกจับกุมคุมขังในข้อหา ให้ความช่วยเหลือและให้ที่พักพิงแก่ อาลี กูฟรอน (Ali Ghufron) ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2002 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย บาดเจ็บ 209 ราย
คำเตือนของญี่ปุ่น อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเจไอและเจเอดีก็ได้ทั้งนั้น
หลังกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ออกประกาศแจ้งเตือนชาวญี่ปุ่นระวังระเบิดฆ่าตัวตาย รัฐบาลหลายประเทศในอาเซียน ต่างออกมาบอกยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือบ่งชี้ว่าจะมีการก่อเหตุ และไม่ได้รับรายละเอียดเพิ่มเติมจากญี่ปุ่นถึงที่มาของข้อมูล
พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นการแจ้งเตือนตามวงรอบ ไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีการก่อการร้าย แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง สืบสวนหาข่าว พร้อมเพิ่มมาตรการในการดูแลความปลอดภัยบุคคลและสถานที่สำคัญ เพิ่มความเข้มการตรวจบุคคลผ่านเข้า-ออกประเทศของกลุ่มบุคคลผู้มีรายชื่อเฝ้าระวัง พร้อมประสานข้อมูลข่าวสารกับประเทศสมาชิกขององค์การตำรวจสากล ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวลและใช้ชีวิตตามปกติ
หากพบเห็นเบาะแสหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เรื่องดังกล่าวเงียบไปประมาณ 3-4 วัน จนช่วงเช้าของวันที่ 16 กันยายน การเตือนของญี่ปุ่นถูกผู้ใช้งานทวิตเตอร์พูดถึงเป็นจำนวนมาก จนแฮชแท็ก #การก่อการร้ายแบบพลีชีพ ขึ้นเทรนด์ยอดนิยมนานหลายชั่วโมง โดยเสียงส่วนใหญ่ต่างสงสัยว่า รัฐบาลไทยและสื่อมวลชนไทย ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวเท่าที่ควรหรือไม่ การกระทำของรัฐ เข้าขั้นเรียกได้ว่านิ่งนอนใจเกินไปหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกลุ่มเจไอและเจเอดีบ้างประปราย เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานา ว่ากลุ่มเหล่านี้จะใช่ผู้อาจก่อเหตุตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งเตือนหรือไม่
เสียงของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแตกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรกคือกลุ่มที่ตื่นตระหนกและไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบหายไป อยากให้ทั้งภาครัฐและประชาชน ระแวดระวังมากขึ้นในช่วงนี้ ส่วนอีกกลุ่มคือคนที่ไม่ปักใจเชื่อคำเตือนของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ที่จะโต้ตอบกับคนกลุ่มแรกว่าอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ ท่ามกลางเสียงเตือนที่แว่วมาเป็นช่วงๆ ว่า ถึงจะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมีอัตราเกิดเหตุรุนแรงที่ต่ำมาก แต่ที่ผ่านมา คำเตือนลักษณะนี้เคยช่วยชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากมาแล้วหลายครั้ง
ไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อไปยัง ดร.บัณฑิต อารอมัน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว ได้คำตอบว่า ญี่ปุ่นมีหน่วยงานข่าวกรองระดับชาติ การออกมาเตือนให้ระวังการก่อการร้ายในอาเซียน เป็นสิ่งไม่ควรประมาท เพราะเดือนนี้เป็นห้วงแห่งการรำลึกเหตุ 9/11 และสถานการณ์โควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังฟื้นตัว จึงมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มไอเอสหรือกลุ่มต่างๆ จะกลับมาแสดงตัวตนหรือแสดงสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับเหตุ 9/11
“ควรระมัดระวัง หากไม่ระวัง และเกิดเหตุขึ้นมาจริง ทางหน่วยงานข่าวกรอง ต้องออกมารับผิดชอบ เพราะยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก และประเทศไทยจะเปิดประเทศได้อย่างไร ยิ่งเกิดผลเสียตามมา”
“ในส่วนประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ขัดแย้งโดยตรงกับสถานการณ์การก่อการร้าย ในการแสดงบทบาทการปราบปรามมากนัก และไม่ได้รับผลกระทบสูง แต่อย่าประมาท ส่วนฟิลิปปินส์ มีกลุ่มอาบูไซยาฟ และอินโดนีเซีย มีกลุ่มติดอาวุธอิสลามในอาเจะห์ รวมถึงในมาเลเซีย ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส ควรระมัดระวังให้มากขึ้น ตราบใดที่ความขัดแย้งในโลกไม่หยุด และอุดมการณ์สุดโต่งนี้ยังมีอยู่”
“แม้ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มก่อการร้ายแสดงตัวออกมาชัดเจน แต่ไม่ควรประมาท ไม่ว่าจะกลุ่มใด อัลกออิดะห์ ไอเอสเค เครือข่ายย่อยของกลุ่มไอเอสที่เคลื่อนไหวในอัฟกานิสถาน ถือเป็นภัยข้ามชาติ ภัยร้ายสร้างความเสียหายต่อประชาคมโลก คิดว่าไทยคงเฝ้าระวังระดับหนึ่ง และมีข้อมูลพอสมควร เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในอาเซียน”
ในตอนนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหน่วยข่าวกรองได้รับข้อมูลใดมา มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายจากปัจจัยหรือเหตุผลใด เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายที่มีฐานอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ และรู้แค่เพียงว่า กงสุลญี่ปุ่นแจ้งต่อชาวญี่ปุ่นในหลายประเทศ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เนื่องจากได้รับข่าวกรองมาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อการร้ายขึ้นเพียงเท่านั้น
โดย : ตรีนุช อิงคุทานนท์
อ้างอิง
un.org
scmp.com
voi.id/en/
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Thairath Online / วันที่เผยแพร่ 17 ก.ย.2564
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100480