นานาชาติจับตาความร่วมมือทางการทหารครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดยทั้งสองชาติ ประกาศจะมอบเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้ ส่งผลให้ออสเตรเลียต้องฉีกสัญญาสร้างเรือดำน้ำที่ทำไว้ร่วมกับฝรั่งเศสสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้ฝรั่งเศส และล่าสุดสหรัฐฯ เผยยังคงเปิดรับทุกโอกาสที่จะสร้างความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกร่วมกับชาติยุโรป
ภาพการแถลงข่าวของสามผู้นำประเทศ ได้แก่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ, บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือที่จะสร้างความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในโครงการที่ชื่อว่า ออคัส ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะแบ่งปันเทคโนโลยีมากมาย ตั้งแต่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และระบบการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูงที่สุด นั่นคือ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
หลังการประกาศความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลียออกมามีหลายประเทศไม่พอใจ เช่น จีน ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่ที่น่าสนใจคือ มีพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ อย่างฝรั่งเศสออกมาแสดงความหงุดหงิดด้วย
ฟลอเรนส์ พาร์ลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสเปิดแถลงข่าวทันที ระบุว่า เหมือนถูกแทงข้างหลัง
เหตุใดฝรั่งเศสจึงไม่พอใจ เพราะก่อนหน้านี้ คื อเมื่อปี 2016 ออสเตรเลียตกลงและทำสัญญากับฝรั่งเศสไว้แล้ว ว่าจะให้ฝรั่งเศสสร้างเรือดำน้ำให้ 12 ลำ มูลค่าสัญญาสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท พอสหรัฐฯบอกว่าจะเป็นคนช่วยออสเตรเลีย นั่นแปลว่า ออสเตรเลียก็เลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส ไม่เคยมีใครคาดมาก่อนว่า สหรัฐฯ จะทำแบบนี้ เพราะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีชั้นความลับสูง สหรัฐฯเคยให้ความรู้นี้กับอังกฤษเพียงประเทศเดียวในปี 1958 เพื่อสู้กับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น
พอฝรั่งเศสแสดงความไม่พอใจ สหรัฐฯไม่อาจนิ่งเฉย เพราะฝรั่งเศส คือ ประเทศสมาชิกอียู พันธมิตรสำคัญที่สุดของตัวเอง
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ รีบออกมาเอาน้ำเย็นเข้าลูบทันที วิ่งไปไปพบกับตัวแทนฝรั่งเศส ก่อนประกาศว่า สหรัฐฯ ยินดีเปิดรับประเทศอียูให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือนี้ด้วย
ความร่วมมือ ออคัส กำลังเขย่าความสัมพันธ์ของชาติตะวันตกที่เคยเป็นพันธมิตรกัน และกำลังก่อให้เกิดความวิตกในภูมิภาค เพราะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็น ศักยภาพสูงสุดทางการทหาร เมื่อมีประเทศใดประเทศมีเทคโนโลยีประเภทนี้ ก็หมายความว่า ประเทศอื่น ๆ ก็ต้องพยายามแข่งขัน เพื่อสะสมอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง
ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศในโลกที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีฐานยิงขีปนาวุธด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อินเดีย และจีน
ทำไมเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จึงสำคัญด้านความมั่นคง
เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีศักยภาพสูงกว่าเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานดีเซลมาก พลังงานนิวเคลียร์ทำให้เรือดำน้ำอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นมาก ดำลงใต้น้ำได้ลึกขึ้นคือถึง 600 เมตร เคลื่อนที่ก็เร็วขึ้นคือประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงสามารถหลบหลีกการโจมตีจากทั้งเรือและอากาศยานได้ดี
เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
ประเภทแรกคือ เรือดำน้ำพิฆาต (Hunter-Killer subs / SSN) ใช้เพื่อโจมตีเรือหรือเรือดำน้ำของศัตรู โลกเคยเห็นปฏิบัติการของเรือประเภทนี้ครั้งเดียวคือ ในสงครามหมู่เกาะฟอร์คแลนด์ เมื่อเรือหลวง HMS Conqueror เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้น Churchill ของอังกฤษใช้เความเงียบ ความเร็ว และพลังงานที่มีอย่างล้นเหลือ ไล่ล่าเรือลาดตะเวนและสามารถจมเรือ General Balgrano ของอาเจนตินาได้ นำมาสู่ชัยชนะในสงครามครั้งนั้น
ประเภทสอง คือ เรือดำน้ำที่เป็นฐานยิงขีปนาวุธ (Ballistic Missile subs / SSBN) อาวุธลับขั้นสุดยอดของชาติมหาอำนาจ จนถึงปัจจุบัน SSBN ยังไม่เคยออกปฏิบัติการจริงเลย
เมื่อสหรัฐฯ ประกาศว่า จะช่วยให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อวานนี้ จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาบอกว่า ความร่วมมือนี้กำลังจะทำให้โลกหวนกลับไปสู่สงครามเย็นอีกครั้ง จีนบอกด้วยว่า นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เอเชียแปซิฟิกตึงเครียดขึ้น
และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ที่นี่มีจุดร้อนระอุหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี และอีกอย่างที่เปราะบางคือ ทะเลจีนใต้
วันนี้มีรายงานว่า กองทัพเรืออินโดนีเซียสั่งเพิ่มกองกำลังลาดตระเวนบริเวณรอบเกาะนาทูนา ในทะเลจีนใต้ โดยระบุเหตุผลว่า เกิดขึ้นจากการตรวจพบเรือของจีนและสหรัฐฯ ในบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะนาทูนา
อย่างไรก็ตามรายงานระบุว่า เรือของจีนและสหรัฐฯ นั้นไม่มีสัญญาณคุกคาม และยังคงอยู่ในพื้นที่น่านน้ำสากล
และล่าสุดในวันนี้ เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังคงออกมาประณามความร่วมมือของ 3 ชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง โดยเปรียบเทียบ CPTPP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กับความร่วมมือ ออคัส ล่าสุดว่า ในขณะที่จีนกำลังพยายามขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังนานาชาติ แต่สหรัฐฯ กลับพยายามขยายสงครามและการทำลายล้าง
ในขณะที่ 3 ชาติตะวันตกประกาศความร่วมมือ ด้านจีนเองก็มีความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจคือ จีนไปจับมือกับศัตรูลำดับต้น ๆ ของสหรัฐ นั่นคือ อิหร่าน หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเดินทางพบปะกับ ฮุสเซน อามีร์ อับดุลลาฮิยาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านที่กรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน หลังการพบกัน จีนไม่พูดอะไรมาก บอกแค่ว่า พร้อมสนับสนุนอิหร่านเต็มที่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 17 ก.ย.2564
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/156625