นักรบจีฮัดทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองหลังกลุ่มตาลีบันได้กลับขึ้นสู่อำนาจในอัฟกานิสถานอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือความเกรียงไกรของกองทัพตะวันตก
ทว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างหวั่นเกรงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดยุคใหม่ของอุดมการณ์จีฮัด หรือการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง
โดยภัยคุกคามใหญ่ที่สุดนั้นมาจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลไคดา หรือ อัลกออิดะห์ และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ที่อ่อนกำลังลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่
ในข้อตกลงที่ทำกับสหรัฐฯ ตาลีบันรับปากว่าจะไม่ให้ที่พักพิงแก่กลุ่มสุดโต่งที่มีเป้าหมายในการโจมตีชาติตะวันตก อย่างไรก็ตามสายสัมพันธ์ของตาลีบันกับกลุ่มอัลไคดายังคงแน่นแฟ้น
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ากลุ่มไอเอส ซึ่งเป็นคู่แข่งกับอัลไคดานั้น จะต้องเผชิญแรงกดดันที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขายังมีความสำคัญและอิทธิพลอยู่
ส่วนกลุ่มรัฐอิสลามแห่งจังหวัดโคราซัน หรือ ไอเอส-เค ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของไอเอสในอัฟกานิสถานนั้น ไม่รอช้า ก่อเหตุโจมตีพื้นที่รอบนอกสนามบินกรุงคาบูลเมื่อ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 170 คน ในจำนวนนี้ 13 คนเป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
แต่นอกไปจากอุดมการณ์พื้นฐานเรื่องการทำจีฮัดแล้ว กลุ่มติดอาวุธมุสลิม 3 กลุ่มหลักนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ดร.คอลิน คลาร์ก นักวิจัยและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากศูนย์ซูฟานในนครนิวยอร์ก ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีและสรุปเรื่องนี้ไว้ว่า
“ตาลีบันเป็นผู้เล่นสำคัญที่สุดในอัฟกานิสถาน อัลไคดาเป็นกลุ่มนักรบจีฮัดข้ามชาติที่กำลังฟื้นฟูเครือข่ายขึ้นอีกครั้ง กลุ่มไอเอสก็เช่นกัน แต่กลุ่มนี้จะต้องต่อสู้หนักมากกว่า เพราะเป็นศัตรูตัวฉกาจของทั้งอัลไคดาและตาลีบัน”
ต้นกำเนิด
อัลไคดาและตาลีบันเกิดขึ้นจากการต่อต้านการรุกรานของโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และจากสถานการณ์วุ่นวายภายในอัฟกานิสถานช่วงต้นทศวรรษที่ 1990
ขณะที่ไอเอสถือกำเนิดขึ้นในอีกหลายปีให้หลัง จากสมาชิกที่เหลืออยู่ของกลุ่มอัลไคดาในอิรัก (al-Qaeda in Iraq หรือ AQI) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของอัลไคดาที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับการรุกรานอิรักของสหรัฐฯ ในปี 2003
กลุ่มนี้หายไปเป็นเวลาหลายปีหลังจากสหรัฐฯ เพิ่มกำลังทหารประจำการในอิรักในปี 2007 แต่เริ่มกลับมาอีกครั้งในปี 2011
อัลไคดาก่อตั้งขึ้นโดยนายโอซามา บิน ลาเดน มหาเศรษฐีชาวซาอุดีอาระเบีย ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ชื่อของกลุ่มมีความหมายว่า “ฐานที่มั่น” หรือ “เครือข่าย” และได้ทำหน้าที่เป็นเครือข่ายส่งกำลังบำรุง และสนับสนุนด้านอาวุธให้ชาวมุสลิมที่ต่อสู้กับสหภาพโซเวียต
นายบิน ลาเดน ได้ดึงผู้คนจากทั่วโลกอิสลามมาเข้าร่วมกลุ่มอัลไคดา
ตาลีบัน หรือ “นักเรียน” ในภาษาปาทาน หรือ Pashto เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทางตอนเหนือของปากีสถาน หลังจากสหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
เชื่อกันว่า ขบวนการที่นำโดยชาวปาทานกลุ่มนี้ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย และสอนหลักคำสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่ง
คำมั่นสัญญาของกลุ่มตาลีบันคือ การฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ของอิสลามที่เคร่งครัดเมื่อกลุ่มได้ขึ้นสู่อำนาจ
ตาลีบันได้ขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็ว โดยในปี 1996 กลุ่มสามารถยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ และขับรัฐบาลของประธานาธิบดี บูร์ฮานุดดีน รับบานี ลงจากอำนาจ
ภายในปี 1998 ตาลีบันก็ควบคุมพื้นที่เกือบ 90% ของอัฟกานิสถาน
ในขณะเดียวกัน กลุ่มอัลไคดาได้เริ่มเคลื่อนไหวมากกว่าแค่เครือข่ายส่งกำลังบำรุง แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มนักรบจีฮัดที่มีเป้าหมายในระดับโลก และ ระบอบตาลีบันก็ได้อ้าแขนรับกลุ่มอัลไคดาให้เข้ามาอยู่ในอัฟกานิสถาน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน
แต่กลุ่มอัลไคดาในอิรักซึ่งได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในขบวนการต่อต้านการรุกรานของต่างชาติในอิรัก ก็มีความทะเยอทะยานในระดับโลกเช่นกัน อีกทั้งยังมีแนวคิดที่ต่างไปจากหลักการดั้งเดิมของกลุ่มอัลไคดา
ในปี 2006 อัลไคดาในอิรักได้รวมตัวกับกลุ่มสุดโต่งอื่น แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก (Islamic State of Iraq)
หลังจากปี 2011 ในขณะที่กลุ่มนี้ได้รุกคืบเข้าไปในซีเรียที่กำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและลิแวนต์” (Islamic State of Iraq and the Levant) พร้อมประกาศตั้งรัฐอิสลาม ที่เรียกว่า เคาะลีฟะฮ์ หรือกาหลิบ (Caliphate) แล้วแยกตัวจากกลุ่มอัลไคดาอย่างสิ้นเชิง
การตีความหลักอิสลาม
ลักษณะที่เหมือนกันระหว่างกลุ่มตาลีบัน, อัลไคดา และไอเอส คือแนวคิดของศาสนาอิสลามนิกายซุนนีแบบแข็งกร้าว
ดร.มิเชล กร็อปปี อาจารย์จากสถาบันคิงส์คอลเลจลอนดอน ระบุว่า “ทั้งสามกลุ่มเชื่อว่าชีวิตทางสังคมและการเมืองไม่สามารถแยกออกจากชีวิตทางศาสนาได้”
“พวกเขาเชื่อว่าความรุนแรงในนามของศาสนาเป็นสิ่งชอบธรรม และยังเป็นภาระหน้าที่ ผู้ที่ไม่สู้รบคือมุสลิมที่ไม่ดี” ดร. กร็อปปี อธิบายให้บีบีซีฟัง
เขาบอกว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการตีความตามตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ที่เขียนขึ้นในบริบทที่มีภัยคุกคามแตกต่างออกไป
แม้จะมีแนวคิดตรงกันในเรื่องนี้ แต่ตาลีบัน, อัลไคดา และไอเอส กลับมีความสุดโต่งที่แตกต่างกันเมื่อพิจารณาจากเป้าหมายของกลุ่ม ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านี่เป็นความแตกต่างที่สำคัญของสามกลุ่มนี้
เป้าหมาย
ในขณะที่ผลประโยชน์ของตาลีบันจำกัดอยู่ในอัฟกานิสถาน แต่อัลไคดา และไอเอส กลับมีเป้าหมายในระดับโลก
ตาลีบันได้บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ ในยุคเรืองอำนาจช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีข้อบังคับเข้มงวดสำหรับผู้หญิงและการใช้บทลงโทษรุนแรง เช่น การประหารชีวิตในที่สาธารณะ การเฆี่ยนตี และการตัดอวัยวะ
ชาวอัฟกันจำนวนมากกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย จึงพากันหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อตาลีบันกลับขึ้นสู่อำนาจครั้งล่าสุด
อย่างไรก็ตาม ดร.แดเนียล บายแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อการร้ายและตะวันออกกลางจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในสหรัฐฯ ระบุว่า หลักการของกลุ่มอัลไคดาและไอเอสมีความสุดโต่งยิ่งกว่า
เขาบอกกับบีบีซีว่า ในขณะที่ตาลีบันมุ่งเป้าฟื้นฟูอัฟกานิสถานให้กลับคืนสู่สังคมมุสลิมในอุดมคติแบบในอดีต แต่กลุ่มไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศอื่น
ดร. บายแมน อธิบายต่อว่า แม้ทั้งอัลไคดาและไอเอสจะมีเป้าหมายในการสร้างรัฐอิสลามไปทั่วโลก แต่ก็มีความคิดที่แตกต่างกัน
“ในขณะที่ไอเอสต้องการสร้างรัฐอิสลามในตอนนี้ แต่อัลไคดาคิดว่ายังเร็วเกินไป พวกเขาเชื่อว่ากลุ่มนักรบจีฮัดและสังคมมุสลิมยังไม่พร้อม และมันไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับแรกของพวกเขา”
ศัตรู
ตาลีบัน, อัลไคดา และไอเอส ต่างมีศัตรูห่าง ๆ และศัตรูที่สำคัญร่วมกัน
สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอยู่ในกลุ่มศัตรูอันดับหนึ่ง ส่วนศัตรูอื่น ๆ คือพันธมิตรของประเทศเหล่านี้ ที่มีแนวคิดเรื่องการแยกรัฐออกจากศาสนา
ดร. บายแมน ระบุว่า “ตั้งแต่ต้น ไอเอสมีความรุนแรงมากกว่าอัลไคดา” โดยนอกจากจะทำสงครามกับโลกตะวันตกแล้ว ยังทำสงครามกับชาวมุสลิมอื่นที่ไม่ได้มีอุดมการณ์เดียวกัน
อีกความแตกต่างที่สำคัญคือ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นศัตรูสำคัญของอัลไคดา แต่ไอเอสยังคงโจมตีชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในศาสนาอิสลามในภูมิภาคตะวันออกกลาง
“แม้ว่าอัลไคดามองว่าชาวชีอะห์เป็นผู้ละทิ้งศาสนา แต่ก็เชื่อว่าการเข่นฆ่าคนเหล่านี้เป็นเรื่องสุดโต่งเกินไป เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเป็นภัยต่อแผนการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์” ดร. บายแมน กล่าว
ดร. กร็อปปี จากสถาบันคิงส์คอลเลจลอนดอน บอกว่า การที่ตาลีบันกลับขึ้นสู่อำนาจได้ทำให้เกิดความเห็นต่างยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไอเอสมองว่าตาลีบันเป็น “ผู้ทรยศ” จากการยอมเจรจาแผนการถอนกำลังทหารกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ไอเอสก็ยังไม่ตัดขาดกับตาลีบันไปเสียทีเดียว
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กลุ่มไอเอส-เค ในอัฟกานิสถาน มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเครือข่าย “ฮัคคานี” (Haqqani) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ใกล้ชิดกับกลุ่มตาลีบัน
วิธีการ
อัลไคดาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปี 2001 ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในนามเหตุวินาศกรรม 9/11
อัลไคดาใช้วิธีการที่สร้างความเสียหายรุนแรงนี้เพื่อปลุกใจนักรบมุสลิมทั่วโลก และเพื่อขับไล่สหรัฐฯ ออกจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจากซาอุดีอาระเบีย และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ
การโฆษณาชวนเชื่อของอัลไคดามุ่งเน้นไปที่แนวคิดเรื่องการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกคน แต่กลุ่มเล็งเป้าหมายไปที่คนในท้องถิ่นเป็นหลัก
ดร. บายแมน จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ว่า ไอเอสก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน “แต่ใช้วิธีการที่รุนแรงมากกว่า”
“สำหรับไอเอส การก่อการร้ายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามปฏิวัติ ในดินแดนใต้การปกครองของพวกเขามีการสังหารหมู่ การตัดหัวในที่สาธารณะ และการข่มขืน พวกเขาหาวิธีข่มขวัญคนในท้องถิ่นเพื่อให้ยอมจำนน ส่วนอัลไคดา…มีวิธีการที่นุ่มนวลกว่า”
ระหว่างปี 2014 – 2017 ไอเอสได้แผ่ขยายเขตอิทธิพลไปอย่างกว้างขวางในซีเรียและอิรัก แต่หลังจากนั้นก็สูญเสียดินแดนให้กองทัพชาติตะวันตก และกองกำลังชาวเคิร์ด รวมทั้งกองทัพซีเรียที่รัสเซียให้การสนับสนุน
ในเดือน มี.ค. 2019 รัฐอิสลามได้ถูกประกาศให้ล่มสลายลง หลังจากสูญเสียดินแดนสุดท้ายในซีเรีย แต่ไอเอสได้เปลี่ยนไปอยู่ในรูปของเครือข่ายลับ และยังคงเป็นภัยคุกคามอยู่
ส่วนกลุ่มไอเอส-เค ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของไอเอสในอัฟกานิสถาน เพิ่งจะก่อเหตุโจมตีที่ด้านนอกสนามบินกรุงคาบูลไปเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 170 คน นอกจากนี้กลุ่มยังโจมตีชนกลุ่มน้อยในประเทศด้วย
ด้านตาลีบัน ใช้กลยุทธ์ในการทำสงครามและการโจมตีรัฐบาลอัฟกานิสถานและกองกำลังฝ่ายความมั่นคงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อยึดเมืองใหญ่ต่าง ๆ และกรุงคาบูลได้สำเร็จในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่กล่าวหาว่านักรบตาลีบันได้สังหารทหารอัฟกัน และใช้วิธีการลงโทษและควบคุมที่รุนแรง โดยเฉพาะต่อผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม ดร. กร็อปปี ระบุว่าตาลีบันยังเข้ายึดครองหลายพื้นที่ด้วยการโน้มน้าวใจชาวบ้านในท้องถิ่น “โดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งตาลีบันเป็นทางออกของปัญหามากมายของประเทศ โดยเฉพาะการทุจริต”
การหาคนเข้าร่วมกลุ่ม
ตาลีบัน, อัลไคดา และไอเอส ต่างสามารถหาสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มจากคนในท้องถิ่นมาร่วมต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของพวกเขา โดยอ้างว่าการทำจีฮัดจะช่วยพิทักษ์ และทำให้ศาสนาของพวกเขาบริสุทธิ์
ด้วยเป้าหมายระดับโลก กลุ่มอัลไคดา และไอเอส ต่างก็สามารถหาคนจากนอกภูมิภาคตะวันกลางเข้าร่วมกลุ่มได้ด้วย
ดร. กร็อปปี ระบุว่า “ไอเอสประสบความสำเร็จมากที่สุดในเรื่องนี้” โดยใช้พลังของอินเทอร์เน็ตในการดึงดูดผู้คนให้เดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มในดินแดนที่พวกเขายึดครองในอิรักและซีเรีย
ดร. บายแมน เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยชี้ว่า ความพยายามของไอเอสในการใช้โซเชียลมีเดียน่าทึ่งมาก และสามารถดึงดูดผู้คนจากชาติตะวันตกให้เข้าร่วมกับกลุ่มในซีเรียและอิรักได้ดีกว่า หรือวางแผนโจมตีในประเทศที่สมาชิกเหล่านี้อาศัยอยู่
หนึ่งในนั้นคือการก่อการร้ายที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งสมาชิกไอเอสได้สังหาผู้คนไปมากถึง 130 คน นับเป็นเหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของฝรั่งเศส
โฮเซ คาร์ลอส กูเอโต
บีบีซี นิวส์ มุนโด
——————————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 2 ก.ย.2564
Link : https://www.bbc.com/thai/international-58418849