เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เกาหลีเหนือประกาศว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบการปล่อยขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลที่มีขีดความสามารถในการโจมตีพื้นที่ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นได้
ขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) ต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) มันสามารถเปลี่ยนทิศทางและหักเลี้ยวได้ระหว่างการเดินทาง ทำให้โจมตีเป้าหมายได้จากมุมที่คาดเดาไม่ได้
การทดสอบนี้แสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือยังคงพยายามที่จะพัฒนาวิธีการที่ซับซ้อนและหลากหลายต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ได้
เป็นที่ชัดเจนว่าในช่วงการระบาดใหญ่ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง และความยากลำบากของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ แทบไม่เป็นอุปสรรคต่อเกาหลีเหนือในป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเกาหลีเหนือให้ความสำคัญอย่างมากได้เลย
การทดสอบที่ประสบความสำเร็จครั้งล่าสุด ทำให้เกิดคำถามหลายข้อขึ้นว่า ทำไมเกาหลีเหนือจึงทำการทดสอบในช่วงนี้ การทดสอบนี้มีความสำคัญอย่างไร และมันบอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของเกาหลีเหนือ
รัฐบาลเกาหลีเหนือยังไม่เปลี่ยนเป้าหมาย
เกาหลีเหนือกำลังพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของประเทศ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ นับตั้งแต่ มี.ค. 2019
นับตั้งแต่กลับจากการประชุมสุดยอดที่ล้มเหลวในเดือน ก.พ. 2019 กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในกรุงฮานอยของเวียดนาม คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ก็ได้แสดงความแน่วแน่ในการลงทุนด้านการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือต่อไป และเดินหน้ายุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติ “พึ่งพาตัวเอง”
แต่ทำไมเกาหลีเหนือเลือกที่จะทำเช่นนี้ ทั้งที่ก็เผชิญกับการขาดแคลนอาหารและวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง
มันตอบสนองต่อเป้าหมายหลายอย่างของเกาหลีเหนือ
ภายในประเทศ การทดสอบเหล่านี้ช่วยสนับสนุนสิ่งที่นายคิมบอกว่า พยายามที่จะพึ่งพาตัวเองในการป้องกันประเทศและเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจด้วย
ในทางปฏิบัติ ขีดความสามารถใหม่ของขีปนาวุธร่อนเหล่านี้ ทำให้การวางแผนของศัตรูเกาหลีเหนือยุ่งยากขึ้น เพราะต้องต่อกรกับขีดความสามารถใหม่เหล่านี้
ต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัว ขีปนาวุธร่อนสามารถบในระดับต่ำและเข้าโจมตีเป้าหมายอย่างช้า ๆ
ขีปนาวุธร่อนที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อไม่นานนี้ เดินทางเป็นระยะราว 1,500 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงเศษ
ในการเดินทางในระยะทางเดียวกัน ขีปนาวุธทิ้งตัวจะใช้เวลาเป็นหลักนาทีเท่านั้น แต่การที่เกาหลีเหนือสนใจในขีปนาวุธร่อนอาจจะเป็นเพราะ จะเพิ่มความยากให้ศัตรูในการตรวจจับการปล่อยและการสกัดขีปนาวุธชนิดนี้
การทดสอบเหล่านี้เผยให้เห็นว่า แม้ว่าจะยอมรับอย่างเปิดเผยถึงความยากลำบากของประเทศ นายคิม ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเขาก็ต่อ
หากเกาหลีเหนือไม่เปลี่ยนแปลงภารกิจที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หรือสหรัฐฯ ไม่สามารถดำเนินการทางการทูตได้อย่างประสบความสำเร็จ คาดว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือก็น่าจะยังคงพัฒนาขีดความสามารถนี้ต่อไป
การที่เกาหลีเหนือทดสอบระบบอาวุธนี้ในช่วงเวลานี้ มีอะไรที่เป็นข้อน่าสังเกตหรือไม่
การเปิดตัวระบบอาวุธนี้ และการทดสอบน่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายใด โดยเฉพาะของรัฐบาลโจ ไบเดน หรือการครบรอบ 20 ปี เหตุโจมตีสหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2001 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการทดสอบครั้งล่าสุด
ขีดความสามารถในการบรรทุกนิวเคลียร์
ในบรรดาความกังวลสำคัญของเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และประชาคมโลกคือ การที่สื่อเกาหลีเหนือเรียกขีปนาวุธที่ถูกทดสอบใหม่ว่า “อาวุธยุทธศาสตร์”
คำนี้มักหมายความว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือหวังว่า จะติดหัวรบนิวเคลียร์กับอาวุธนี้
ไม่มีระบบขีปนาวุธร่อนใด ๆ ก่อนหน้านี้ในเกาหลีเหนือที่ถูกบอกเป็นนัยว่า จะใช้ติดหัวรบนิวเคลียร์มาก่อน
แต่การพัฒนาขีปนาวุธหล่าเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ
นายคิม เคยประกาศในเดือน ม.ค. 2021 ว่า กำลังพัฒนาระบบขีปนาวุธดังกล่าวอยู่
เขายังบอกเป็นนัยด้วยว่า ระบบขีปนาวุธนี้อาจถูกใช้ในอนาคต ซึ่งอาจมีความสามารถในการส่งหัวรบนิวเคลียร์ได้
เรารู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับขีปนาวุธเหล่านี้
ขีปนาวุธร่อนทำหน้าหน้าที่ต่างไปจากขีปนาวุธทิ้งตัว ซึ่งเกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบในอีก 2 วันต่อจากนั้น
มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ห้ามเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัว แต่ไม่ได้ห้ามขีปนาวุธร่อน
นี่เป็นเพราะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเห็นว่า มันมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะมันสามารถบรรทุกวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าและทรงพลังกว่า มีพิสัยไกลกว่าและบินได้เร็วกว่าขีปนาวุธร่อน
แต่ต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัว ซึ่งมีข้อจำกัดในการดำเนินการขั้นสุดท้ายของการเดินทาง สิ่งที่บรรทุกอยู่ในขีปนาวุธทิ้งตัวจะร่วงลงสู่ผิวโลก แต่ขีปนาวุธร่อนสามารถเปลี่ยนทิศทางและหักเลี้ยวได้ ทำให้สามารถโจมตีเป้าหมายจากมุมที่คาดเดาไม่ได้
ขณะที่การบินในระดับต่ำของขีปนาวุธร่อน ทำให้ระบบเรดาร์ภาคพื้นดิน มักจะตรวจจับขีปนาวุธเหล่านี้ได้เฉพาะในช่วงสุดท้ายของการบิน ซึ่งขีปนาวุธได้ร่อนลงต่ำมาก และพยายามที่จะสกัดขีปนาวุธในช่วงนั้นให้สำเร็จ
ขีปนาวุธร่อนไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ของเกาหลีเหนือ เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เกาหลีเหนือได้ทดสอบและพัฒนาขีปนาวุธร่อนโจมตีเรือที่มีต้นแบบมาจากโซเวียต
อย่างไรก็ตาม ขีปนาวุธที่ถูกทดสอบเมื่อไม่นานนี้ มีพิสัยไกลกว่าขีปนาวุธร่อนรุ่นเก่า
ขีปนาวุธร่อนเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามของเกาหลีเหนือเท่านั้น
ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency—IAEA) ประเมินเมื่อไม่นานนี้ว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือได้กลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยองบยอน ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า จะมีการผลิตแร่พลูโตเนียมสำหรับใช้ในอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง
การทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวในอีกไม่กี่วันหลังจากการทดสอบขีปนาวุธร่อน เป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือได้กลับมาดำเนินการพัฒนาขีปนาวุธต่อ มีการทดสอบและประเมินผลต่อไป
อันคิต พันดา เป็นนักวิจัยอาวุโสโครงการนโยบายนิวเคลียร์ที่มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace)
———————————————————————————————————————————-
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 18 ก.ย.2564
Link : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6626713