เปิดดูข้อมูลสถิติผลสำรวจการใช้ “โซเชียลมีเดีย” ของผู้คนในโลกจาก We are Social และ Hootsuite ซึ่งเป็นข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าทั่วโลกมีคนใช้โซเชียลมีเดีย 4.48 พันล้านคน คิดเป็น 56.8% ของประชากรโลก เพิ่มขึ้นถึง 13.1% จากปีก่อน
ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิดด้วย เมื่อออกนอกบ้านกันไม่สะดวก โลกออนไลน์จึงคือคำตอบ โดย 99% เป็นการเข้าใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และค่าเฉลี่ยของการเข้าใช้งานโซเชียลมีเดีย อยู่ที่ 2 ชั่วโมง 24 นาที ต่อวัน
ในบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆ ทั่วโลก Facebook ยังคงมีผู้ใช้งานเป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 2.853 พันล้านคน ตามมาด้วย YouTube ซึ่งมีผู้ใช้งานอยู่ที่ 2.291 พันล้านคน ข้อมูลที่น่าสนใจและออกจะน่าเป็นห่วงคือจากผลการสำรวจของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ประเทศไทยและไนจีเรียมีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 78% ที่รอง ๆ ลงมา เช่น เคนย่า แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โคลัมเบีย เปรู กรีซ ชิลี บัลกาเรีย เม็กซิโก อาร์เจนติน่า อินโดนีเซีย ฮังการี อินเดีย บราซิล ตุรกี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนเรา นอกจากคนไทยจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารแบบยืนหนึ่งในโลกแล้ว เรายัง “เชื่อ” เยอะเสียด้วย คือ เรามีคะแนนความเชื่อแหล่งข่าวจากแหล่งนี้เป็นอันดับ 2 ของโลก คือ 38% (รองจากเคนย่าที่เชื่อ 40%) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 24%
ข้อมูลนี้ จะไม่มีอะไรน่าห่วงนัก หากข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ที่อยู่ในโซเชียลมีเดียและเราเสพกันอย่างหนัก เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นประโยชน์ เต็มไปด้วยความจริง และสิ่งที่ผู้สร้างมีเจตนาดีในการสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสังคมเรา ประเทศเราให้ดีขึ้น และรวมถึงผู้ที่เป็น “ไทยมุงออนไลน์” ส่วนใหญ่แต่งแต้มทัศนคติด้วยวิจารณญาณ สติ ตรรกะ และวุฒิภาวะที่ดี ไม่มีอารมณ์โทสะ และถ้อยคำหยาบคาย เพียงแต่ในความจริง ทั้งหมดนี้ มีความตรงกันข้ามอยู่ค่อนข้างมาก
ณ วันนี้ เราเห็นภาวะ FOMO ที่ย่อมาจาก Fear Of Missing Out หรือความกลัวที่จะพลาดตกขบวนของเทรนด์ข่าวสาร กลัวไม่เป็นคนแรกๆ ที่บอกโลก ปรากฏอยู่ตั้งแต่ระดับของ “ผู้ตั้งต้นส่งสาร” จึงส่งผลให้เกิดข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ ไต่สวนทวนความให้ดีถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสมออกมาเผยแพร่อยู่เต็มไปหมด เพียงหวังเรทติ้ง ยอด engagement โดยอาจลืมไปว่า สิ่งนั้น ๆ ใช่คุณค่าที่คู่ควรจะปรุงออกมาเสิร์ฟสังคมหรือไม่ มีประโยชน์อะไร ประเทืองปัญญาหรืออารมณ์หรือไม่ ก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาใด ๆ หรือเปล่า เหนืออื่นใด ความไม่เช็กข้อมูลรอบด้านก่อนการเผยแพร่ ทำให้บ่อยครั้งเกิดการสื่อสารผิดข้อมูลพลาดอยู่บ่อยๆ กระสุนแห่งข่าวสารได้ปลิดชีวิตผู้ร้ายผิดตัวไปหลายครั้ง แต่ถึงกระนั้น แหล่งข่าวบางที่ก็ไม่มีการ “ประกาศแก้ข่าว” เพียงแค่ลบข้อมูลเก่า แล้วโพสต์ของใหม่ โดยข้อมูลเก่าที่ผิดพลาดนั้น ได้มีการสร้างความเข้าใจผิด แคปเจอร์ว่อนไลน์ไปแล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก การตีตราอย่างไม่ตรวจตรา เพียงหวังว่าขอให้เร็ว เป็นมหันตภัยบนโลกออนไลน์ที่น่ากลัวที่สุด
ผลสำรวจเมื่อต้นปี ประเทศเรามีประชากรอยู่ที่ 69.88 ล้านคน จำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมีถึง 55 ล้านคน คิดเป็น 78.7% ของจำนวนประชากร เพิ่มขึ้น 5.8% จากปีก่อน เป็นการใช้งานผ่านมือถือเป็นส่วนใหญ่คือ 99.3% ถ้าประชากรผู้เสพข่าวสารของเรา ได้รับข้อมูลที่ไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ถูก ไม่ควร และไม่นำไปสู่ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ใดๆ อยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยในวันนี้และวันหน้า จะก้าวไปในทิศทางไหน
ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง โดยมีสถานการณ์โควิดยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หลายคนพุ่งเป้าไปที่ความสามารถทางการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจในเวทีโลก แต่โลกใบใหญ่ในหน้าจอมือถือเล็ก ๆ ของเรา ก็ชวนทอดถอนใจ ด้วยความห่วงใยไม่แพ้กัน
By จันทร์เพ็ญ จันทนา
————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 16 ก.ย.2564
Link : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/960410