มีบทเรียนใดบ้างที่ได้เรียนรู้ในช่วง 20 ปีของการต่อสู้ต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก อะไรที่ได้ผลและอะไรที่ไม่ได้ผล ปัจจุบัน ขณะที่อัฟกานิสถานกลับมาถูกปกครองโดยขบวนการที่ให้ที่พักพิงแก่กลุ่มอัลไคดาอีกครั้ง เราฉลาดขึ้นกว่าเมื่อเช้าวันที่ 11 ก.ย. 2001 หรือไม่
สำหรับอเมริกาซึ่งเผชิญกับการโจมตีก่อการร้ายที่เลวร้ายที่สุดในแผ่นดินสหรัฐฯ คนบางส่วนได้มองโลกต่างไปจากเดิม มีการแบ่งแยกระหว่างคนดีกับคนร้าย “แต่ละชาติ แต่ละภูมิภาค” ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศเมื่อ 9 วันหลังจากเกิดการโจมตี 9/11 “ตอนนี้ต้องตัดสินใจว่า คุณจะอยู่กับฝ่ายเราหรือกับฝ่ายผู้ก่อการร้าย”
ได้มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “สงครามต่อต้านก่อการร้าย” ขึ้น ทำให้เกิดการบุกอัฟกานิสถานในเวลาต่อมา จากนั้นก็บุกอิรัก ไปจนถึงการผงาดขึ้นมาของกลุ่มรัฐอิสลาม และการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสมาชิกกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนทั่วตะวันออกกลาง มีทหารเสียชีวิตหลายพันนาย และพลเรือนอีกจำนวนมาก
การก่อการร้ายไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดไป ประเทศขนาดใหญ่ในยุโรปทุกแห่งต่างเผชิญกับการโจมตีครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความสำเร็จหลายอย่างเกิดขึ้นเช่นกัน จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการโจมตีขนาดใกล้เคียงกับการโจมตี 9/11 เกิดขึ้นอีก ฐานทัพของอัลไคดาในอัฟกานิสถานถูกทำลาย มีการตามล่าตัวผู้นำของกลุ่มในปากีสถาน รัฐอิสลามที่ประกาศตั้งตัวเองขึ้นมาและได้ก่อการร้ายในหลายพื้นที่ของซีเรียและอิรัก ก็ได้ถูกทำลายแล้ว
บทเรียนข้างล่างนี้ไม่ได้ครอบคลุมทุกเรื่อง และแน่นอนว่ายังมีการถกเถียงกันอยู่ แต่เป็นการเขียนขึ้นมาจากข้อสังเกตส่วนตัวของผมจากการทำข่าวด้านนี้ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน กรุงวอชิงตัน และอ่าวกวนตานาโม
1.แลกเปลี่ยนข่าวกรองสำคัญ
มีเบาะแสหลายอย่าง แต่ไม่มีใครนำเบาะแสเหล่านั้นมาเรียงต่อกันได้ทันเวลา ในช่วงหลายเดือนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 9/11 หน่วยข่าวกรองหลักสองแห่งของสหรัฐฯ คือ สำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation–FBI) และสำนักงานข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency–CIA) ต่างก็รู้ว่า กำลังมีการวางแผนการลับบางอย่างอยู่
แต่การแข่งขันกันในการรวบรวมข่าวกรองจากต่างประเทศและในประเทศ ทำให้พวกเขาไม่เปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน หลังจากเกิดเหตุ รายงานคณะกรรมการ 9/11 ได้พยายามหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และได้มีความก้าวหน้าสำคัญในหลายเรื่อง
ในการเยี่ยมชมศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (National Counter Terrorism Centre–NCTC) ของสหรัฐฯ ในรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อปี 2006 ผมได้พบว่า ปัจจุบันสำนักงานของสหรัฐฯ 17 แห่ง แบ่งปันข่าวกรองกันเป็นรายวัน
อังกฤษได้ก่อตั้งศูนย์ที่มีการรวมหน่วยงานหลายหน่วยขึ้นมาของตัวเองเรียกว่า ศูนย์วิเคราะห์การก่อการร้ายร่วม (Joint Terrorism Analysis Centre–JTAC) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลายสิบคนจากหน่วยงาน MI5 (สำนักงานข่าวกรอง), MI6 (หน่วยสืบราชการลับ), กลาโหม, ขนส่ง, สาธารณสุข และอีกหลายหน่วยงาน มาทำงานร่วมกันภายในอาคารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในย่านเอมแบงก์เมนต์ของกรุงลอนดอน เพื่อจะได้มีการประเมินภัยคุกคามก่อการร้ายที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนสหราชอาณาจักรทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ระบบนี้ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ 2 ปีต่อมาหลังจากมีการก่อตั้ง JTAC อัลไคดาได้ก่อเหตุระเบิดกลางกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 7/7 โดยใช้ชาวอังกฤษเป็นคนลงมือ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 คน ในปีต่อมาได้มีการทลายแผนการในการวางระเบิดเครื่องบินของสายการบินหลายแห่งขณะทำการบินกลางอากาศ โดยได้รับความร่วมมือจากปากีสถาน แต่อังกฤษก็ยังคงเผชิญกับการโจมตีหลายครั้งในปี 2017 รวมถึงการวางระเบิดในเมืองแมนเชสเตอร์ด้วย
ดังนั้นแม้ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนและรวบรวมข่าวกรองเป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่สามารถป้องกันการโจมตีได้ ถ้ามีการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการจัดลำดับความสำคัญของงานต่าง ๆ
เหตุโจมตีบาตาคล็องในกรุงปารีสในปี 2015 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน และยังคงมีการไต่สวนคดีนี้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวของทางการยุโรปในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองข้ามพรมแดนได้อย่างทันท่วงที
2. กำหนดภารกิจให้ชัดเจน และอย่าไขว้เขว
ในบรรดาหลายเหตุผลที่ตาลีบันกลับมาปกครองอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง หนึ่งเหตุผลสำคัญคือ การบุกอิรักที่นำโดยสหรัฐฯ ในปี 2003 การตัดสินใจที่ลงเอยด้วยความเลวร้ายนี้ กลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจครั้งใหญ่ต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน
กองกำลังพิเศษของอังกฤษและสหรัฐฯ หลายกองกำลัง ซึ่งประสบความสำเร็จในการตามล่าปฏิบัติการของอัลไคดาและกำลังร่วมมือกับพันธมิตรชาวอัฟกันในการจัดการกับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน ถูกถอนกำลังออกมาและส่งเข้าไปในอิรักแทน
การทำเช่นนี้เปิดโอกาสให้ตาลีบันและกลุ่มอื่น ๆ กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และแข็งแกร่งมากกว่าเดิม ในเดือน พ.ย. 2003 ตอนที่ผมเดินทางไปยังค่ายทหารราบของสหรัฐฯ ในจังหวัดพากทิกา ชาวอเมริกันก็เรียกภารกิจของพวกเขาที่นั่นว่า “ปฏิบัติการที่ถูกลืม” แล้ว
เป็นการง่ายที่จะลืมว่า ภารกิจเริ่มแรกในอัฟกานิสถานนั้นชัดเจนและจัดการได้ดีมาก หลังจากที่ผู้ปกครองตาลีบันปฏิเสธที่จะส่งมอบตัวคนร้าย สหรัฐฯ ก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance) ซึ่งเป็นชาวอัฟกันที่ต่อต้านตาลีบัน ในการผลักดันตาลีบันและอัลไคดาออกไปจนสำเร็จ
แต่ในช่วงหลายปีต่อมา ภารกิจก็เริ่มเบี่ยงเบนออกไปหลายทิศทาง
ชาวอัฟกันส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานั้น แต่เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการ “สร้างชาติ” หมดไปกับการทุจริตและการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย
3. เลือกพันธมิตรอย่างรอบคอบ
การร่วมมือกับสหรัฐฯ พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอังกฤษในการบุกอิรักในปี 2003 ทำให้สหราชอาณาจักรได้มีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อยในเกือบทุกการตัดสินใจที่สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการยึดครองอิรัก
การร้องขอฉุกเฉินไม่ให้ยุบกองทัพอิรัก หรือห้ามสมาชิกพรรคบาธทุกคนดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้รับการสนใจ หรือถูกปฏิเสธ ผลก็คือ ทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างทหารและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอิรักที่ตกงานและโกรธแค้นกับนักรบจีฮัดที่บ้าคลั่งจนทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง กลุ่มนี้ได้กลายเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม
ความตื่นตระหนักที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ทำให้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ และอังกฤษ ยุติการร่วมมือกับรัฐบาลบางแห่งที่มีประวัติไม่ดีด้านสิทธิมนุษยชน และการทำเช่นนี้ได้ทำให้เกิดผลเสียตามมา
ยกตัวอย่าง หลังจากมีการโค่นล้มการปกครองที่โหดเหี้ยมของพันเอกกัดดาฟีในลิเบียเมื่อปี 2011 นักข่าวหลายคนได้พบจดหมายของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของ MI6 ส่งไปยังหน่วยสืบราชการลับของลิเบีย โดยมีการหารือกันเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ที่แข็งข้อชาวอิสลามเพื่อให้มีการจับกุมและทารุณ
ปัจจุบัน การทำจีฮัดได้ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้งในหลายพื้นที่ในแอฟริกาที่ไม่มีการควบคุมจากรัฐบาล หรือมีการควบคุมที่ไม่ดีพอ ทำให้เกิดปัญหากับชาติที่ชาติตะวันตกควรจะร่วมมือด้วย
4.เคารพสิทธิมนุษยชนและไม่รักษาศีลธรรม
ผู้คนในตะวันออกกลางได้บอกกับผมหลายครั้งว่า “เราอาจจะไม่ได้ชอบนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แต่เราเคารพหลักนิติรัฐของสหรัฐฯ เสมอมา จนกระทั่งเกิดเรื่องอ่าวกวนตานาโมขึ้น”
การจับตัวผู้ต้องสงสัยหลายคน “จากสมรภูมิรบ” รวมถึงในบางกรณีก็มีพลเรือนที่บริสุทธิ์อยู่ด้วย จากนั้นก็ใช้ผ้าผูกพวกเขาไว้ ปิดหูปิดตา ส่งพวกเขาข้ามโลกไปยังศูนย์ควบคุมตัวของทหารเรือสหรัฐฯ ในคิวบา ได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อชาติตะวันตกและอเมริกาอย่างมาก
การควบคุมตัวโดยไม่มีการไต่สวนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการหลายแห่ง อาหรับไม่คาดคิดว่าจะเกิดเรื่องนี้กับสหรัฐฯ
สิ่งที่แย่กว่านั้นที่เกิดขึ้นตามมาคือ มีการเปิดเผยถึง “การสอบปากคำโดยใช้ความรุนแรง” ทั้งการจับกดน้ำและการทารุณอื่น ๆ ตามสถานที่ลับของซีไอเอหลายแห่ง ซึ่งผู้ก่อการร้ายต้องสงสัยได้หายตัวไปอย่างง่ายดาย รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ยุติการกระทำเช่นนี้ แต่ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
5. มีแผนในการถอยออกมา
เมื่อเปรียบเทียบการแทรกแซงของชาติตะวันตกก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ 9/11 ค่อนข้างมีความรวดเร็วและไม่ซับซ้อน ปฏิบัติการในเซียร์ราลีโอน และโคโซโว และแม้แต่ปฏิบัติการพายุทะเลทรายในปี 1991 ต่างก็มีวันสิ้นสุด
แต่การบุกอัฟกานิสถานที่นำโดยสหรัฐฯ จากนั้นก็บุกอิรัก ได้ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น” ไม่มีชาติที่เข้าร่วมในปี 2001 และ 2003 ชาติไหน จะนึกว่าพวกเขาจะยังคงอยู่ที่นั่นในอีก 20 ปีต่อมา พูดง่าย ๆ คือ ชาติตะวันตกไม่เข้าใจว่ากำลังทำอะไร และไม่มีแผนการที่จะถอยออกมาอย่างแท้จริง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าชาติตะวันตกไม่โจมตีตาลีบันและอัลไคดาในอัฟกานิสถานในปี 2001 ก็คงจะเกิดการโจมตีเกิดขึ้นตามมาหลายครั้ง ภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศนั้นไม่ใช่ความล้มเหลว แต่ภารกิจสร้างชาติไม่สามารถทำได้สำเร็จ
ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่คงจะจดจำไปอีกนานก็คือ ภาพที่ชาวอัฟกันสิ้นหวังจำนวนมากวิ่งตามเครื่องบิน C-17 ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะบินจากไป พยายามที่จะหนีออกจากประเทศที่ชาติตะวันตกทิ้งไปอย่างไม่ใยดี
ที่มา : BBC
——————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 ก.ย.2564
Link : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6614383