แคสเปอร์สกี้ บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้เปิดเผยรายงานการตรวจพบและบล็อกภัยคุกคามโมบายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2021 พบปริมาณความพยายามโจมตีเพิ่มขึ้นสูงถึง 60% โดยการใช้โทรจันที่เป็นอันตราย
อาชญากรไซเบอร์จะใช้โทรจันโมบายแบ้งกิ้ง (mobile banking trojan) หรือเรียกว่า “แบงก์เกอร์” (banker) ในการขโมยเงินโดยตรงจากบัญชีธนาคารบนโมบายดีไวซ์ โปรแกรมที่เป็นอันตรายประเภทนี้มักจะมีหน้าตาที่ดูเหมือนแอปทางการเงินที่ถูกต้อง แต่เมื่อเหยื่อป้อนข้อมูลเพื่อเข้าใช้งานบัญชีธนาคาร ผู้โจมตีจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวนั้นได้
ตั้งแต่ต้นปี 2021 ผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้สามารถสกัดความพยายามโจมตีจำนวน 708 รายการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหกประเทศ ซึ่งคิดเป็น 50% ของจำนวนความพยายามโจมตีที่แคสเปอร์สกี้สกัดได้ในปี 2020 ทั้งปี ซึ่งก็คือ 1,408 รายการ อินโดนีเซียและเวียดนามมีตัวเลขสูงที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของภูมิภาคนี้ โดยอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 31 ส่วนเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก
ประเทศที่มีการตรวจจับโทรจันโมบายแบ้งกิ้งมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 ได้แก่ รัสเซีย ญี่ปุ่น ตุรกี เยอรมนี และฝรั่งเศส
จำนวนการบล็อกความพยายามโจมตีของโทรจันโมบายแบ้งกิ้งต่อผู้ใช้โซลูชั่นความปลอดภัยโมบายของแคสเปอร์สกี้
ถึงแม้จำนวนการโจมตีโทรจันโมบายแบ้งกิ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่สูงมาก แต่เมื่อเทียบความพยายามโจมตีทั้งหมด 367 รายการในไตรมาส 2 ปี 2021 (เมษายน – มิถุนายน 2021) ก็สูงขึ้นจากยอด 230 รายการในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ผู้บริหารจาก Kaspersky เปิดเผยว่าการระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่นี้เกือบจะเข้าสู่ปีที่สองแล้ว ส่งผลให้การใช้งานการชำระเงินผ่านโมบายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพนี้ การสำรวจของแคสเปอร์สกี้พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินทางออนไลน์ เช่น การช้อปปิ้ง (64%) และการธนาคาร (47%)”
การสำรวจเดียวกันนี้ยังเปิดเผยว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 7 ใน 10 คน (69%) กังวลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ และ 42% ยอมรับว่ากลัวว่าจะมีใครเข้าถึงรายละเอียดทางการเงินผ่านอุปกรณ์ของตน
นอกจากนี้ รายงานของแคสเปอร์สกี้อีกฉบับเรื่อง “Making Sense of Our Place in the Digital Reputation Economy” พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (76%) จาก 861 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยืนยันความตั้งใจที่จะเก็บข้อมูลการเงินของตนให้ห่างจากอินเทอร์เน็ต ในผู้ใช้จำนวนนี้เป็นกลุ่ม Baby Boomers (85%) รองลงมาคือ Gen X (81%) และ Millennials (75%)
เห็นได้ชัดว่าผู้ใช้มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามเมื่อทำธุรกรรมธนาคารและชำระเงินผ่านโมบายดีไวซ์ แต่ก็ยังมีช่องว่างระหว่างการรู้และการลงมือทำ แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับที่ใช้งานได้จริง และขอสนับสนุนให้ผู้ใช้ทุกคนพิจารณาการใช้โซลูชันการรักษาความปลอดภัยเพื่อครอบคลุมกรณีที่บังเอิญคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นธนาคารที่เป็นอันตราย”
คำแนะนำจากเคล็ดลับสำคัญบางข้อที่ให้เราสามารถทำได้เพื่อให้เงินปลอดภัยทางออนไลน์มากขึ้น
1. ทำบัตรเครดิตชั่วคราว
อาชญากรไซเบอร์ได้พัฒนาเทคนิคและมัลแวร์ที่ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งบางครั้งอาจขัดขวางความพยายามอย่างเต็มที่ในการซื้อสินค้าออนไลน์อย่างปลอดภัย ผู้ใช้สามารถใช้ “บัตรเครดิตชั่วคราว” เพื่อซื้อสินค้าออนไลน์แทนบัตรเครดิตปกติได้ เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยสำหรับการช็อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัยขึ้นอีกระดับ ลองสอบถามบริษัทบัตรเครดิตที่ใช้อยู่ว่าสามารถออกหมายเลขบัตรเครดิตชั่วคราวได้หรือไม่ หากไม่สามารถใช้บัตรเครดิตชั่วคราวได้ อีกทางเลือกคือใช้บัตรเครดิตที่มีวงเงินเครดิตต่ำ และควรหลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตชั่วคราวสำหรับการซื้อใดๆ ที่ต้องต่ออายุอัตโนมัติหรือชำระเงินเป็นประจำ
2. แยกคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานธนาคารและช้อปปิ้งออนไลน์
หากคุณมีคอมพิวเตอร์มากกว่าหนึ่งเครื่อง อาจเป็นการดีที่จะแยกหนึ่งเครื่องสำหรับใช้งานธนาคารและช้อปปิ้งออนไลน์เท่านั้น การหลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อท่องอินเทอร์เน็ต ดาวน์โหลด เช็คอีเมล โซเชียลเน็ตเวิร์ก และกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ จะทำให้คุณสร้างคอมพิวเตอร์ที่ ‘สะอาด’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากไวรัสคอมพิวเตอร์และมัลแวร์อื่นๆ แนะนำให้ติดตั้ง Google Chrome พร้อมบังคับใช้งาน HTTPS เพื่อเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยได้อีกขั้น
3. ใช้อีเมลแอดเดรสเฉพาะ
สร้างอีเมลแอดเดรสที่คุณจะใช้สำหรับช้อปปิ้งออนไลน์เท่านั้น จะช่วยจำกัดจำนวนข้อความสแปมที่จะได้รับอย่างมาก และลดความเสี่ยงในการเปิดอีเมลที่อาจเป็นอันตรายซึ่งปลอมแปลงเป็นอีเมลส่งเสริมการขายหรืออีเมลแจ้งเตือนอื่นๆ
4. จัดการและปกป้องรหัสผ่านออนไลน์
การใช้รหัสผ่านที่คาดเดายากและแตกต่างกันสำหรับบัญชีออนไลน์แต่ละบัญชี ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัย การจำรหัสผ่านที่แตกต่างกันจำนวนมากอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรหัสผ่านนั้นประกอบด้วยตัวอักษร ตัวเลข และอักขระพิเศษจำนวนมาก แต่คุณสามารถใช้ทูลจัดการรหัสผ่าน (password manager) เพื่อช่วยเก็บรหัสผ่านที่รัดกุมสำหรับหลายบัญชีได้
5. ใช้ VPN
หากจำเป็นต้องซื้อสินค้าออนไลน์ในขณะที่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ ก่อนอื่นให้ติดตั้ง VPN (virtual private network – เครือข่ายส่วนตัวเสมือน) VPN จะเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดที่ถ่ายโอนระหว่างคอมพิวเตอร์หรือโมบายดีไวซ์กับเซิร์ฟเวอร์ VPN เพื่อป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์ลักลอบใช้งานและดูข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่คุณพิมพ์
———————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : TechHub / วันที่เผยแพร่ 24 ก.ย.2564
Link : https://www.techhub.in.th/how-to-safety-online-shopping/