ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ชี้แจ้งประเด็น ข้อมูลส่วนตัวของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาไทยรั่วไหล จำนวน 106 ล้านราย นั้นเป็นข่าวข่าวบิดเบือน ชี้ เป็นการรายงานซำ้ว่าเกิดขึ้นอีกครั้ง
หลังจากที่เป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ กับกรณี บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เผย ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติ เคยมาไทยรั่วไหลกว่า 106 ล้านราย ย้อนหลัง 10 ปี ยังไม่ทราบที่มาของข้อมูล เผยว่าข้อมูลเหล่านี้ประกอบไปด้วยชื่อ-สกุล, วันที่ที่เดินทางมายังไทย, เพศ, เลขที่พาสปอร์ต, สถานะการเข้าพักในไทย และประเภทของวีซ่า ซึ่งแม้แต่ตัวของ Diachenko ผู้รายงานเอง ก็มีชื่ออยู่ในข้อมูลชุดนี้เช่นกัน
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ทางเว็บไซต์ Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ชี้แจ้งประเด็นดังกล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวเรื่อง ข้อมูลส่วนตัวของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาไทยรั่วไหล จำนวน 106 ล้านราย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีการรายงานข่าวระบุว่า หลุดอีก! ข้อมูลส่วนตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เคยเดินทางเข้าไทยรั่วไหลกว่า 106 ล้านรายนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เป็นการนำเหตุการณ์ดังกล่าวมารายงานซ้ำว่าเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยใช้การพาดหัวข่าวทำให้เกิดความตื่นตระหนก
การรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ระหว่างเดือน เมษายน – กรกฎาคม 2564 ซึ่ง ศปช.สกมช. ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและระงับเหตุโดยเร็ว เมื่อตรวจพบภายในวันเกิดเหตุรวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่าไม่มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แบบไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ncsa.or.th/committee.html หรือโทร. 02 142 6888
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นการนำเหตุการณ์ดังกล่าวมารายงานซ้ำว่าเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ระหว่างเดือน เมษายน – กรกฎาคม 2564 ซึ่ง ศปช.สกมช. ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและระงับเหตุโดยเร็ว ซึ่งพบว่าไม่มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แบบไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
ข้อมูล – Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย
————————————————————————————————————–
ที่มา : BrightTV / วันที่เผยแพร่ 24 ก.ย.2564
Link : https://www.brighttv.co.th/news/social/antifakenews-tourist-information