ผ่านไปแล้วหลายเดือน แต่ยังลืมไม่ได้ สำหรับกรณีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ในซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในทางกลับกันยิ่งต้องจดจำเพื่อนำมาเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ เพราะสร้างความเสียหายต่อชุมชนอย่างแสนสาหัส รวมถึงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) 1 นาย ต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้า
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เล่าว่า ตนและทีม ‘เพื่อนชัชชาติ’ สนใจเหตุการณ์นี้ เพราะถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันได้เห็นถึงความไม่พร้อมในการแก้ไขวิกฤต รวมถึงความไม่เข้มงวดของกฎหมายผังเมืองที่ปล่อยให้โรงงานเก็บสารเคมีอันตรายสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในระยะอันใกล้โดยปราศจากมาตรการควบคุม อีกทั้งไม่เห็นถึงมาตรการเยียวยาและการบรรเทาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีที่ดินประเภทอุตสาหกรรม หรือโซนสีม่วงอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 2.ชายทะเลบางขุนเทียน และ 3.เอกชัย-บางบอน กลุ่มเพื่อนชัชชาติจึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นแนวทาง ได้แก่ 3 พร้อม 5 กำแพง+1 เยียวยา
พร้อมที่ 1 คือ ก่อนเกิดเหตุ มี 2 กำแพงที่ควรคำนึงถึง คือ กำแพงที่ 1 การพิจารณาเรื่องผังเมืองและการจัดการพื้นที่ กำแพงที่ 2 คือ การจัดเก็บวัตถุอันตราย
พร้อมที่ 2 คือ ช่วงเกิดเหตุ มี 3 กำแพงที่จำเป็นต้องพิจารณา คือ การระงับเหตุด้วยตนเอง เป็นกำแพงที่ 3 กำแพงที่ 4 คือ การระงับเหตุจากหน่วยงานรัฐ และกำแพงที่ 5 คือ การอพยพ
ส่วนพร้อมที่ 3 คือ หลังเกิดเหตุ สิ่งต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ มาตรการการเยียวยา โดยวิเคราะห์จากนโยบายของแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2563 และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2563
“เรื่องผังเมืองและการจัดการพื้นที่นั้น เราพบว่ามีการอนุญาตให้โรงงานหมิงตี้ขยายพื้นที่และกำลังในการผลิตซึ่งขัดกับผังเมือง อีกทั้งยังไม่พบการเผยแพร่การประเมินหรือแผนที่ความเสี่ยงรอบโรงงาน ทำให้ขาดการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสุขลักษณะและความปลอดภัยของประชาชนโดยรอบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามจำแนกประเภท การดำเนินการที่ถูกต้องนั้นควรจะจัดทำแผนที่และประเมินความเสี่ยงในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ หากพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงสูงและการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดดำเนินการต่อไป
ในส่วนของการจัดเก็บวัตถุอันตราย พบว่าโครงสร้างอาคารที่ใช้จัดเก็บสารสไตรีนโมโนเมอร์ของโรงงานหมิงตี้ไม่สามารถจำกัดความรุนแรงในการเกิดเหตุ หรือป้องกันการระเบิดได้ จึงควรประสานงานร่วมกับกรมโรงงานให้ดำเนินการตรวจสอบระบบการป้องกันอัคคีภัย การเก็บรักษา และระบบความปลอดภัยของวัตถุอันตรายที่อยู่ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งข้อมูลวัตถุอันตรายควรเป็นสาธารณะ ง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประชาชน” อดีตเจ้ากระทรวงคมนาคมกล่าว
ส่วนเรื่องการระงับเหตุด้วยตนเอง ชัชชาติมองว่า สารเคมีที่ระเบิดและไฟไหม้ที่ลุกลามเป็นวงกว้างนั้นเกิดจากมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในโรงงานไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรรอความช่วยเหลือ ทุกโรงงานจะต้องมีระบบอัตโนมัติในการจัดการตัวเอง จึงเสนอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อขยายอำนาจในการลงพื้นที่หรือส่งต่อให้เอกชนดำเนินการตรวจสอบ รวมถึงจัดทำแผนดำเนินการเชิงรุกตรวจสอบมาตรการระงับเหตุของโรงงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
“ด้านการระงับเหตุจากหน่วยงานรัฐ จากเหตุการณ์นี้จะเห็นถึงความไม่พร้อมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.อุปกรณ์เผชิญเหตุของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต 2.ข้อมูลสาเหตุของต้นเพลิง ทำให้การระงับเหตุเป็นไปด้วยความล่าช้า 3.การสื่อสารที่สับสน เนื่องจากขาดความรวดเร็วและสม่ำเสมอ การแก้ไขคือเพิ่มความตื่นตัวในการทำงานเพื่อการระงับเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมอุปกรณ์ การซักซ้อม แนวทางการสื่อสารกับประชาชนทั้งเนื้อหาและความถี่ รวมถึงจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวให้พร้อมอยู่เสมอ
สุดท้ายคือเรื่องการอพยพ กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ไม่มีระบบแจ้งเตือนและแนวทางให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งการออกคำสั่งให้อพยพและการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวไม่สอดคล้องกัน ทำให้การอพยพเป็นไปด้วยความไม่แน่ใจ ผู้อำนวยการที่มีอำนาจสูงสุดจึงควรมอบหมายไปยังผู้มีอำนาจในพื้นที่เพื่อความคล่องตัวในการสั่งการ มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมถึงเส้นทางการเดินทาง”
สุดท้าย เหตุการณ์นี้ได้ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่า 60 วัน แต่มาตรการความช่วยเหลือยังคงไม่ชัดเจนและกระจัดกระจาย การเยียวยาเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงไม่มีการตรวจสุขภาพของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ แท้จริงแล้วภาครัฐควรดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความเสียหาย รวบรวมสิทธิประโยชน์ ติดตามการชดเชย ตลอดจนประสานความร่วมมือไปยังสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ที่สำคัญ รัฐต้องให้ความสำคัญและมองว่าประชาชนคือแนวร่วมไม่ใช่ภาระ
————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 29 ก.ย.2564
Link : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2961018