ตำรวจนอร์เวย์แถลงในวันพฤหัสบดี (14 ต.ค.) ชายวัย 37 ปี ที่ก่อเหตุใช้ธนูไล่ยิงคนตาย 5 คน และบาดเจ็บอีก 2 คน น่าจะเข้าข่ายมี “พฤติการณ์ก่อการร้าย” พร้อมเผยว่าเขาเป็นคนเดนมาร์กซึ่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และถูกตำรวจจับตามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากกังวลว่าอาจถูกชักนำเข้าสู่ลัทธิหัวรุนแรง
ผู้เสียชีวิตในเหตุโจมตีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อค่ำวันพุธ (13) ในเมืองคองส์เบิร์ก ประกอบด้วย ผู้หญิง 4 คน และผู้ชาย 1 คน อายุระหว่าง 50-70 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บ 1 ใน 2 คนเป็นตำรวจที่ไม่ได้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่และบังเอิญอยู่ในสถานที่หนึ่งที่คนร้ายก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นการโจมตีที่มีผู้เสียชีวิตครั้งร้ายแรงที่สุดในนอร์เวย์ในรอบหนึ่งทศวรรษ ทั้งนี้ คองส์เบิร์ก เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีทิวทัศน์สวยงาม ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
“ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า พฤติการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นนี้ดูเหมือนน่าจะถือเป็นพฤติการณ์ก่อการร้ายได้ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสืบสวนสอบสวนกันต่อไป และเราจะทราบแรงจูงใจของผู้ต้องสงสัย” ฮันส์ สเวอร์เรอ สโจโวลด์ ผู้บัญชาการของ PST สำนักงานข่าวกรองของนอร์เวย์ กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าว
เขาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ในเวลาต่อมาว่า ผู้ต้องสงสัยมีประวัติเข้าๆ ออกๆ สถาบันทางด้านสุขภาพหลายแห่ง และการวินิจฉัยว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นพฤติการณ์ก่อการร้าย หรือเป็นผลของประเด็นปัญหาทางจิตเวช “จะเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งของการสืบสวนสอบสวน”
ก่อนหน้านั้น โอเล เบดรัป เซเวรัด ผู้บัญชาการตำรวจประจำภูมิภาค แถลงในวันพฤหัสบดี (14) ว่า ผู้ต้องสงสัยได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และตำรวจเคยได้รับรายงานว่า ชายผู้นี้อาจเกี่ยวข้องกับลัทธิหัวรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว จึงมีการเฝ้าจับตามาโดยตลอด จนกระทั่งในปีนี้ซึ่งไม่ได้รับรายงานอีก
ตำรวจระบุแล้วว่า ผู้ต้องสงสัยชื่อ เอสเพน อันเดอร์เสน บราเธน อายุ 37 ปี เป็นพลเมืองเดนมาร์กซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้
ขณะที่เซเวรัด เสริมว่า ผู้ต้องสงสัยสารภาพระหว่างการสอบปากคำ และตำรวจกำลังพิจารณาประเด็นต่างๆ ว่า เหตุการณ์นี้เข้าข่ายการก่อการร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุคนเดียว
ทางด้านนายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดริกเซน แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ทวิตว่า รู้สึกช็อกและเสียใจกับข่าวโศกนาฏกรรมจากนอร์เวย์
ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยอาจถูกนำตัวขึ้นศาลในวันศุกร์ เพื่อขออนุมัติควบคุมตัว โดยทนายเผยว่า ผู้ต้องสงสัยอธิบายเหตุการณ์อย่างละเอียดและให้ความร่วมมือกับตำรวจ
สื่อนอร์เวย์พากันสงสัยว่า เหตุใดตำรวจจึงใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงหลังได้รับแจ้งเหตุโจมตีครั้งแรกก่อนจะสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ ตามข่าวนั้นมีการแจ้งเหตุตั้งแต่เวลา 18.13 น. และผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมเมื่อเวลา 18.47 น.
ภาพที่ปรากฏในสื่อยังเผยให้เห็นลูกธนูสีดำดอกหนึ่งปักอยู่บนผนัง และอีกหลายดอกที่คาดว่า น่าจะเป็นลูกธนูเกรดเดียวกับที่ใช้แข่งขันยิงธนู ตกอยู่บนพื้น
ตำรวจเผยว่า ผู้ต้องสงสัยใช้อาวุธอื่นด้วยนอกเหนือจากธนู
นอกจากนั้น หลังเหตุการณ์โจมตีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติของนอร์เวย์ยังประกาศให้ตำรวจทั่วประเทศพกอาวุธปืน จากปกติที่ตำรวจนอร์เวย์จะไม่พกอาวุธ
อย่างไรก็ตาม สำนักงานข่าวกอรง PST ออกคำแถลงในวันพฤหัสฯ ว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นในวันพุธครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ระดับภัยคุกคามโดยรวมของประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยยังคงอยู่ในระดับ “ปานกลาง”
“ในความเห็นของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในคองสเบิร์กเมื่อวานนี้ ไม่ได้ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงการประเมินภัยคุกคามในปัจจุบัน” อาร์เน คริสเตียน เฮาก์สโตยัล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ PST บอกกับพวกผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ นอร์เวย์ไม่ค่อยมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นบ่อยนัก การโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดนับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในปี 2011 ที่ แอนเดอร์ส เบห์ริง บรีวิก ซึ่งมีแนวคิดขวาสุดโต่ง สังหารผู้คนถึง 77 คน
เบรวิก เปิดฉากปฏิบัติการโหดด้วยการวางระเบิดใกล้อาคารที่เป็นสำนักงานนายกรัฐมนตรีในกรุงออสโล ก่อนบุกเข้าไปกราดยิงในค่ายฤดูร้อนของเยาวชนปีกซ้ายบนเกาะอูโทยา
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2019 ฟิลิป แมนส์เชาส์ ที่ประกาศตนเป็นนีโอนาซี กราดยิงมัสยิดชานเมืองออสโล ก่อนถูกผู้ประกอบพิธีอยู่ในมัสยิดขัดขวางไว้ได้ โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น ผู้ก่อเหตุรายนี้ได้ยิงน้องสาวบุญธรรมที่ครอบครัวรับมาอุปถัมภ์จากจีนเสียชีวิต ซึ่งอัยการระบุว่า เป็นการเหยียดเชื้อชาติ
นอกจากนั้น หน่วยงานความมั่นคงของนอร์เวย์ยังสกัดแผนการโจมตีของนักรบญิหาดได้หลายครั้ง
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 ต.ค.2564
Link : https://mgronline.com/around/detail/9640000102072