เมื่อมีการใช้งานออนไลน์มากขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ง่ายผ่านอุปกรณ์ของตนเอง จึงกลายเป็นการเพิ่มโอกาสให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือ สร้างภัยหลอกลวงต่างๆ ถึงผู้คนได้ง่าย ดังนั้นคนทุกกลุ่มจึงจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันภัยดังกล่าวเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
ทว่า ปัญหาที่สำนักงานและประเทศไทยกำลังเผชิญคือบุคลากรที่จะเข้ามารับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์นั้นไม่เพียงพอ
***ไทยขาดบุคลากรป้องกันภัยไซเบอร์หลักแสนคน
‘พล.อ.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์’ เลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า เหตุผลที่บุคลากรไซเบอร์ขาดแคลนเป็นเพราะบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้เทคนิครอบด้าน ดังนั้น กว่าจะสร้างบุคคลากรที่ทำงานด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้เวลานานและต้องมีการวางแผนระยะยาวในการสร้างบุคลากรเพื่อมาสนับสนุนการทำงานด้านนี้ของประเทศได้
ขณะที่ สกมช.เป็นสำนักงานที่มีอัตราโครงสร้างพนักงาน 480 คน แต่เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณและการสนับสนุนด้านบุคลากร ทำให้ในปัจจุบันบุคลากรของ สกมช.มีเพียง 40 คนโดยประมาณ บวกกับลูกจ้างอีกประมาณ 20 คน ทำให้สำนักงานประสบปัญหาด้านการดำเนินงาน สกมช.จึงพยายามแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรต่างๆ ที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาบุคลากรในทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม การโจมตีทางไซเบอร์มีการขยายตัวมากขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลให้การใช้งานระบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีมองเห็นโอกาสในการคุกคามความปลอดภัยตามช่องทางเหล่านี้กันมากขึ้น ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ด้านซิเคียวริตี หรือความมั่นคงปลอดภัยตามหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ กันอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ต้องเร่งเสริมสร้างความรู้และยกระดับทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้มีกระบวนการทำงานที่ตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยเป็นสำคัญ และมีแนวทางและกระบวนการในการรับมือกับภัยคุกคามได้อย่างเท่าทันต่อเหตุการณ์
สำนักงานจึงได้มีการหารือกับบริษัท เทรนด์ไมโคร ประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับโลก ในความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ชื่อ‘โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรไซเบอร์’ ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนทางด้านวิชาการและการปฏิบัติงานจริง จากผู้ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่กว้างขวางในระดับสากลและเข้าใจรูปแบบการโจมตีความมั่นคงได้อย่างลึกซึ้งพร้อมประสบการณ์รวมถึงเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการรับมือภัยคุกคามใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และ ‘เทรนด์ไมโคร’ คือ ‘หนึ่งในองค์กรที่มีองค์ความรู้ครอบคลุมซึ่งตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้’
สอดคล้องกับนโยบาย สกมช. ที่ได้มีการประกาศเป้าหมาย ‘Thailand National Cyber Academy’ ในการเร่งสร้างบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในระยะแรกไว้ที่จำนวน 2,250 คน โดยเริ่มที่การสร้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป และการยกระดับบุคลากรผู้มีความรู้ในระดับผู้ฝึกสอนเพื่อทำการขยายความรู้ในวงกว้าง รวมถึงระดับผู้บริหารหน่วยงานในการศึกษาความรู้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับสูง สำหรับการวางแผนจัดการองค์กรให้พร้อมต่อภัยคุกคามไซเบอร์ในอนาคต ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดทางวิชาการจากเทรนด์ไมโคร ในครั้งนี้จะถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อทำให้บุคลากรที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้รับความรู้ความเข้าใจทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล
‘น.อ.อมร ชมเชย’ รองเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การ์ทเนอร์เปิดเผยถึงการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตีว่าในปี 2563 ประเทศไทยขาดแคลนถึงแสนคน ตัวอย่างเช่น รพ.มีบุคลากรไอทีเพียง 5 คน แค่งานซ่อมเครื่องพรินเตอร์ หรือดูแลคอมพิวเตอร์ธรรมดาก็งานล้นมือแล้ว จะมีเวลาที่ไหนมาดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กร
และยิ่งทุกวันนี้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ไหนก็ได้ด้วยอุปกรณ์ของตนเอง ทำให้กลายเป็นเหยื่อถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาที่ทำให้ผู้ใช้งานตกเป็นเหยื่อมากที่สุดคือการคลิกลิงก์ หรือเปิดไฟล์ต่างๆ ที่มีมัลแวร์ฝังอยู่โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรและให้ความรู้พื้นฐานด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตีจึงต้องให้ความรู้กับทุกกลุ่มไม่ได้จำกัดแค่คนไอที แต่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนประชาชน และนักเรียนนักศึกษาต้องมีความรู้พื้นฐานด้านนี้ด้วย สิ่งที่ทำร่วมกับเทรนด์ไมโครจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พันธกิจของสำนักงานได้ในระยะยาวซึ่งต้องมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง
***เปิด 3 หลักสูตรสร้างนักรบไซเบอร์
‘ปิยธิดา ตันตระกูล’ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงประโยชน์สูงสุดในการถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ ตั้งแต่ความรู้ในระดับพื้นฐานที่ถูกต้องสามารถเข้าใจและแก้ไขเบื้องต้นเมื่อเกิดการโจมตี และสามารถพัฒนาไปจนถึงเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคตต่อไป
สำหรับเนื้อหาในการอบรมสามารถแบ่งออกได้ 3 หลักสูตรได้แก่
1.หลักสูตร Build a Strong Security Awareness Program (สำหรับเจ้าหน้าที่ทั่วไป 3 ชั่วโมงและสำหรับสร้างผู้ฝึกสอน 2 ชั่วโมง) เป็นหลักสูตรพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ
2.หลักสูตร Next Gen Information Security Leaders (1 ชั่วโมง) เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในบทบาทของผู้บริหารงานที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ในยุคปัจจุบัน และ
3.หลักสูตร Cyber Security Capability Skill Building 5 วัน เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีความเข้าใจผลกระทบของภัยคุกคามไซเบอร์ในองค์กร
สำหรับกำหนดการในแต่ละหลักสูตร สกมช.และเทรนด์ไมโครได้ทำการกำหนดช่วงเวลาการอบรมไว้ในทุกเดือน โดยที่จะเริ่มหลักสูตรเบื้องต้นตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 เป็นต้นไป โดยสามารถติดรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก NCSA Thailand และ Thailand National Cyber Academy
‘เพราะวันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบดิจิทัล หนึ่งในกุญแจที่จะพาเศรษฐกิจไทยไปถึงจุดนั้นได้เราต้องมีความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์และสามารถเข้าใจและแก้ไขเบื้องต้นเมื่อเกิดการโจมตีได้’ ปิยธิดา กล่าวทิ้งท้าย
——————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 ต.ค.2564
Link : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9640000100049