โรแบร์โต ซิมานอฟสกี กับอัลกอริธึ่มมรณะ
เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์แทบจะทุกขณะของจังหวะชีวิต
บางคนบอกว่าเป็นสังคมก้มหน้าที่ทุกคนจดจ้องกับสมาร์ตโฟนในมือตัวเอง
หลายคนโอดครวญว่าโซเชียลมีเดียได้พรากเอาเวลาชีวิตอันแสนมีค่าไปจากตน
ปัจจุบันเรามีวิธีจัดการเวลาในการใช้โซซียลมีเดียแบบดิจิตอลมินิมัลลิสม์ (digital minimalism)
นักปรัชญาจำนวนมากก็ตื่นตัวกับประเด็นเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล รวมทั้งผลกระทบที่ส่งผลต่อชีวิตและสังคม
โรแบร์โต ซิมานอฟสกี (Roberto Simanowski) เป็นนักปรัชญาและนักทฤษฎีสื่อชาวเยอรมัน ที่ตั้งคำถามต่อเทคโนโลยีดิจิตอลได้แหลมคมที่สุดคนหนึ่ง
หนังสือ The Death Algorithm and Other Digital Dilemmas (2018) เป็นรวมความเรียงที่แสดงให้เห็นอันตรายของเทคโนโลยีดิจิตอล รวมทั้งทางออกที่เป็นไปได้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีดังกล่าว
เขาเห็นว่าปัญหาอยู่ที่การมองว่าเทคโนโลยีเป็นกลาง และสามารถใช้ไปในทางที่เป็นคุณหรือโทษก็ได้ โดยไม่ตระหนักว่าเทคโนโลยีมีสารัตถะของตัวเอง
จริงอยู่เราอาจใช้ปืนพกตอกตะปูได้ แต่ก็ไม่มีใครทำเช่นนั้น
การเรียกร้องให้ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook โดยแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจังด้วยการคอมเมนต์ในรูปของความเรียง ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ปืนพกไปตอกตะปู
ซิมานอฟสกีเห็นว่าเราจะเข้าใจเทคโนโลยีได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจสารัตถะ (essence) ของมัน
เขากลับไปหาแนวคิดของนักปรัชญาเยอรมันอย่างมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ผู้เห็นว่า สารัตถะของเทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเทคโนโลยีเลย หากแต่เป็นการเปิดเผย (revealing)
นั่นคือเทคโนโลยีต้องการเปิดเผยตัวมันเองออกมา เราเห็นได้จากการที่ความเปลี่ยนแปลงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา
อันตรายที่เกิดจากเทคโนโลยีไม่ใช่การที่อาวุธที่ผลิตขึ้นจะคร่าชีวิตมนุษย์หรือเทคโนโลยีจะทำลายสิ่งแวดล้อม
หากแต่เป็นเพราะสารัตถะของเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อตัวตนของมนุษย์
สําหรับไฮเดกเกอร์แล้ว การหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์อันซับซ้อนของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ เราจะได้รับผลของสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน
แต่กระนั้น ยังพอมีความหวังอยู่บ้างเพราะเขาเห็นว่า “ที่ใดมีอันตรายปรากฏ ที่นั่นย่อมมีพลังปกป้องก่อกำเนิด”
สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำคือการตระหนักถึงอันตรายและเตรียมตัวให้พร้อม
ในปี 2018 อดีตผู้บริหาร Facebook และ Google ออกโรงชี้ให้เห็นถึงอันตรายของแพลตฟอร์มที่เคยสร้างเม็ดเงินให้กับตัวเองมหาศาล อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นถึงอันตรายดังกล่าว
ซิมานอฟสกีเห็นว่าการมองระยะสั้นสร้างปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ บริโภคนิยมและการเงินแบบเสรีนิยมทำให้เกิดสังคมที่ปราศจากความใส่ใจ (society of carelessness) ซึ่งจะต้องมีการเตือน
เราพึงตระหนักถึงอันตรายของเทคโนโลยีดิจิตอล ด้วยการจินตนาการถึงหายนะที่อาจเกิดขึ้นได้
เช่น เทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง Faception ที่สามารถระบุบุคลิกลักษณะและทำนายอุปนิสัยของคนได้ด้วยการจดจำใบหน้า อาจเป็นฝันร้ายหากนำมาใช้จริง
นอกจากนี้ วรรณกรรมและภาพยนตร์ดิสโทเปียที่วาดภาพหายนะอันเกิดจากเทคโนโลยีหลุดจากการควบคุมของมนุษย์ก็จะช่วยย้ำเตือนเราถึงอันตราย
เช่น นวนิยายเรื่อง The Circle ของ Dave Eggers ที่แสดงถึงสังคมแห่งการสอดส่องที่มองทะลุไปถึงสวนหลังบ้าน (หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทยโดย มณฑารัตน์ ทรงเผ่า ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Legend Books)
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การยกประเด็นเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอลให้กลายเป็นข้อพิจารณาในเชิงจริยศาสตร์ เพื่อหาบรรทัดฐาน กรอบเกณฑ์ กระทั่งกฎหมาย
สําหรับซิมานอฟสกีแล้ว เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นความก้าวหน้าที่ถอยหลัง รัฐมนตรีความยุติธรรมเยอรมันอย่างเฮโกะ มาส (Heiko Maas) แสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวในที่ประชุมทางกฎหมายระดับโลกว่า เทคโนโลยีดิจิตอลไม่ควรลดทอนมนุษย์เป็นวัตถุที่ “ต้องโปร่งใสสำหรับอัลกอริธึ่ม” และยกประเด็นเรื่องสิทธิที่จะอยู่ในโลกอะนาล็อก
คำถามจึงเป็นว่าเทคโนโลยีล้ำยุคเหล่านี้จะเชื่อมมนุษย์เข้าด้วยกัน หรือคอยสอดส่องควบคุม หรือสร้างกำไรให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีกันแน่
กรณีตัวอย่างที่ซิมานอฟสกียกมาอภิปรายในประเด็นดังกล่าวได้แก่ อูเบอร์ (Uber) ซึ่งเป็นกรณีของ Gig economy ที่มาพร้อมกับปัญหาต่างๆ อาทิ การได้รับค่าจ้าง สิทธิในการหยุดงาน ความสัมพันธ์ระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร ซึ่งอูเบอร์วางกฎห้ามคุยกับผู้โดยสารเกินกว่าที่จำเป็น ในอดีต คาร์ล มาร์กซ์ เคยชี้ว่ากรรมกรอาจทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างถึงสองเท่า
แต่ซิมานอฟสกีเห็นว่าคนขับอูเบอร์อาจไม่ได้รับค่าจ้างถึงสามเท่าเลยทีเดียว
ข้อวิจารณ์ที่หนักหน่วงที่สุดคงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ในปี 2017 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศว่าจะสร้างชุมชนโลก
ซิมานอฟสกีเห็นว่าคำพูดของซักเคอร์เบิร์กไม่ใช่คำโกหก หากแต่เป็นคำพูดไร้สาระ (bullshiting)
เพราะคนโกหกย่อมรู้ว่าอะไรที่เป็นความจริง
ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดของซักเคอร์เบิร์กที่ว่า “กระรอกตายอยู่สนามหญ้าหน้าบ้านคุณอาจเป็นเรื่องของคุณมากกว่าผู้คนที่ล้มตายในแอฟริกา” ก็แสดงถึงความคิดแบบปัจเจกนิยมสุดขั้ว จะว่าไปแล้ว ตัว Facebook เองไม่ใช่สิ่งที่ช่วยแก้ปัญหา แต่เป็นตัวปัญหาเองเลยทีเดียว
ซิมานอฟสกีเห็นว่า Facebook ไม่ได้มุ่งสร้างชุมชนที่ผู้คนสัมพันธ์กัน เป้าหมายไม่ใช่การให้ข้อมูลแก่พลเมือง แต่เป็นการทำให้ลูกค้าพึงพอใจ โดยเน้นที่ความบันเทิง
สิ่งที่ Facebook ทำคือสร้างลูกค้า และกระตุ้นการบริโภคอย่างล้นเกิน
การสร้างชุมชนที่ซักเคอร์เบิร์กเอ่ยอ้างก็เป็นแต่การทำให้โลกตกอยู่ใต้อาณัติโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าล่าอาณานิคมนั่นเอง
ผลที่ได้จาก Facebook ก็คือ ปัจเจกบุคคลที่หลงตัวเอง ลดทอนทุกอย่างให้เป็นฉากหลังของการเซลฟี่ คนที่หมกมุ่นกับสุขนิยมหรือเสพติดความบันเทิง ซึ่งช่วยไม่ให้คิดประเด็นเรื่องอุดมการณ์ และคนที่คลั่งไคล้การบริโภคซึ่งกลายเป็นคุณค่าสากลไปเสียแล้ว
สังคมที่ Facebook สร้างไม่ได้มีฐานจากเจตนาที่ดีที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างกัน แต่กลับกลายเป็นการถล่มดราม่า (shitstorm) ใส่กันมากกว่า
ตัวอย่างการวิเคราะห์หลายกรณีในหนังสือเล่มนี้ เป็นการวิพากษ์ตัวเองในกรอบของสังคมตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนี แต่ก็สามารถนำมาเป็นข้อพิจารณาในสังคมไทยได้เช่นกัน
เทคโนโลยีดิจิตอลรุกล้ำเข้าในโรงเรียนนั้น ไม่อาจแก้ได้โดยการปฏิเสธเทคโนโลยี หรือการเปิดรับอย่างไม่ระวัง อย่างแรกจะปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ เช่น การใช้แพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดียถกเถียงเรื่องวรรณกรรมวิจารณ์ ส่วนอย่างหลังผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
ซิมานอฟสกีเห็นว่าในกรณีของเยอรมนีเองนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ผู้รับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าวคือรัฐมนตรีคมนาคม เพราะมุมมองของสังคมเยอรมนีต่อเรื่องดังกล่าวมาจากการมองผ่านอุปลักษณ์การจราจร นั่นคือ การท่องไปบนทางด่วนดิจิตอล อย่างที่เคยท่องไปบนทางด่วนข้อมูลข่าวสารในยุคสารสนเทศ
แต่การมองเช่นนี้ลดทอนการศึกษาดิจิตอล (digital education) ไปเป็นทักษะ (competence) ในการใช้เทคโนโลยี เปรียบได้กับการไปอบรมเพื่อสอบให้ได้ใบขับขี่
จริงอยู่ที่ทักษะอย่างการเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการใช้เสิร์ชเอนจิ้น หรือการป้องกันตัวเองจากการถูกบูลลี่ในสังคมไซเบอร์จะสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการสร้างพลเมืองที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ที่พร้อมตั้งคำถามเชิงปรัชญา
ซิมานอฟสกีจึงเสนอให้มองผ่านอุปลักษณ์ผู้อพยพกับนักสืบ ทั้งนี้เพราะผู้อพยพจะมีมุมมองถอยห่างจากสังคมใหม่ของตน แล้วมองเชิงตั้งคำถามเทียบเคียงกับสังคมเดิม เช่น การตั้งคำถามว่าถ้าเทคโนโลยีดิจิตอลมาแทนวัฒนธรรมหนังสือจะเกิดอะไรขึ้น
ส่วนมุมมองแบบนักสืบจะช่วยให้เกิดการตั้งคำถามเชิงสืบสวนหาผู้รับผิดชอบ เช่น กรณี NFT ที่มีการซื้อขายงานศิลปะในโลกดิจิตอลโดยไม่ผ่านตัวกลาง อาจมีปัญหาเรื่องการลอกเลียนแบบ หรือลิขสิทธิ์
ในส่วนท้ายของหนังสือ ซิมานอฟสกีได้หยิบยกปัญหาอัลกอริธึ่มมรณะเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาเป็นข้อพิจารณาเชิงจริยศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิตอลอาจจะมีภาษาของตัวเอง (รหัสเลขฐานสอง) และวิญญาณของตัวเอง (การคำนวณเชิงจำนวนหรือสถิติ) และในอนาคตอันใกล้อาจมีรถไร้คนขับที่ประมวลผลโดยอัลกอริธึ่ม
ประเด็นก็คือ ในกรณีที่จะเกิดอุบัติเหตุแล้วต้องเลือกว่าจะให้รถพุ่งชนใคร ทางเลือกที่เป็นไปได้คือ การพิจารณาในเชิงปริมาณ (เลือกชนคนจำนวนน้อย) หรือเชิงคุณภาพ (เลือกชนอาชญากรแทนที่จะเป็นนักเรียน) หรือเลือกจะรักษาชีวิตคนในรถ
ไม่ว่าทางเลือกใดก็ล้วนแต่เป็นการถอดอำนาจของมนุษย์ไปให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตัดสินใจความเป็นความตายแทนมนุษย์
ในสังคมไซเบอร์ (cybernetic society) เช่นนี้ อัลกอริธึ่มไม่ได้ถูกช่วงใช้เพื่อควบคุม แต่ตัวอัลกอริธึ่มเองกลายเป็นผู้ควบคุม
สุดท้ายแล้วสารัตถะของเทคโนโลยีจะเข้าครอบตัวตนของมนุษย์ นั่นก็คือ การใช้เหตุผลเชิงวิพากษ์ถูกทำลาย แล้วสลายมนุษย์ให้อยู่ในกรอบเกณฑ์ชุดเดียวกัน ซึ่งเป็นอันตรายที่ไฮเดกเกอร์ได้เตือนเอาไว้เมื่อศตวรรษที่แล้ว
จริงอยู่ โควิด-19 อาจทำให้เห็นแล้วว่าทักษะด้านดิจิตอลอาจเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าที่คิด เพราะต้องเรียนออนไลน์
แต่ในสังคมที่ปราศจากความใส่ใจ ซึ่งมีรากมาจากอคติที่มองแต่ปัจจุบัน (present bias) โดยมองว่าอนาคตยังอยู่อีกไกล ประโยชน์เฉพาะหน้าสำคัญที่สุด คำกล่าวของนักปรัชญาการศึกษาชาวเยอรมันอย่างวิลเฮล์ม ฟอน ฮุมโบลต์ (Wilhelm von Humboldt) ที่ว่า การวิพากษ์และการตัดสินด้วยเหตุผลคือรากฐานของเสรีภาพ น่าจะช่วยเตือนเราได้
คำถามต่อไปก็คือ ในกรณีของสังคมไทย เราจะส่งเสริมความคิดเชิงวิพากษ์นี้ผ่านสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียได้หรือไม่อย่างไร
โดยเฉพาะในบริบทความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญทั้งโรคระบาดกับการควบคุมสอดส่องทางการเมือง
แต่คำถามเช่นนี้ก็อาจจะต้องตอบอีกคำถามให้ได้เช่นกัน นั่นคือ ทำอย่างไรเราถึงจะมีรัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่มีสติปัญญาความสามารถมากพอที่จะคิดเรื่องดังกล่าวนี้ได้
บทความพิเศษโดย คงกฤช ไตรยวงค์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 – 28 ตุลาคม 2564 / วันที่เผยแพร่ 28 ต.ค.2564
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_475540