ครม. เห็นชอบ แก้ไขหลักเกณฑ์-ตรวจสอบประวัติ-พฤติการณ์บุคคล-เอกสารการรักษาความปลอดภัย ในร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการ รปภ.แห่งชาติ พ.ศ.2552
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ตุลาคม มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล และการกำหนดแบบเอกสารที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม. คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว และแบบประวัติบุคคล (รปภ.1) ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขอแก้ไข เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ขึ้น
เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล และเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการรักษาความปลอดภัยให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันจะทำให้เกิดการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนทำให้การตรวจสอบบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อราชการ ซึ่งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ยืนยันให้ดำเนินการต่อไป โดยขอแก้ไขข้อความในแบบประวัติบุคคล (รปภ.) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
โดยยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดแบบเอกสารที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ, แก้ไขเพิ่มเติมให้ “ผู้ถูกตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล” เป็น “เจ้าของประวัติ” กรอกรายละเอียดในแบบประวัติบุคคล โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลซึ่ง ได้แก่ ผู้ที่อยู่ระหว่างรอว่าจ้าง บรรจุ หรือแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่จะได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการหรือให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญ หรือทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยบุคคลเจ้าของประวัติต้องกรอกรายละเอียดในแบบประวัติบุคคล (รปภ.1) ให้ครบถ้วน และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยควบคุมการรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานของรัฐนั้น
เพิ่มกระบวนการในการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ (จากเดิมให้ดำเนินการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือ) เพิ่มเป็นให้ดำเนินการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลด้วยวิธีการอื่นได้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบลายนิ้วมือได้ โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของบุคคล เพื่อดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ กรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบลายนิ้วมือได้ ให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่น โดยให้ตรวจสอบประวัติการต้องหาคดีอาญาด้วย แล้วแจ้งผลการดำเนินการถึงหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องโดยตรง จากการตรวจสอบประวัติหากบุคคลเจ้าของประวัติมีความผิด หรือมีผลของคดี หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม หรือมีผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาผลการตรวจสอบว่าจะสั่งบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง หรือให้บุคคลนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย
แก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลโดยละเอียดให้รวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ
—————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 12 ต.ค.2564
Link : https://www.matichon.co.th/politics/news_2987843