ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ภาคใหม่ล่าสุด “No Time to Die” เริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว หลังการระบาดของโรคโควิดทำให้ต้องเลื่อนกำหนดฉายมาถึง 18 เดือน นี่เป็นภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ภาคที่ 25 และจะเป็นภาคสุดท้ายของเดเนียล เครก ผู้รับบทสายลับอังกฤษผู้โด่งดัง
หลายคนสงสัยมานานแล้วว่าตัวละครและพล็อตอันน่าตื่นเต้นนี้อิงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในหน่วยข่าวกรองลับ MI6 หรือ Secret Intelligence Service (SIS) ของอังกฤษ มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญไปกว่านั้น หน่วยงานแบบนี้ยังสำคัญอยู่หรือเปล่าในโลกยุคดิจิทัล
“ฉันคิดว่าสิ่งที่แตกต่างมากที่สุด…” แซม (นามสมมติ) เล่า “คือเราให้ความร่วมมือ [กับหน่วยงานอื่น ๆ] มากกว่าตัวละครในหนังเจมส์ บอนด์ และจะมีน้อยครั้งมาก ๆ หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะออกไปตัวคนเดียว ไม่มีใครคอยสนับสนุน เรื่องทีมสำคัญมาก คุณจะมีทีมรักษาความปลอดภัยรายล้อมเสมอ”
แซมเป็นเจ้าหน้าที่ MI6 ซึ่งเคยทำงานด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองลับหลายคนที่ผมติดต่อขอสัมภาษณ์ก่อนภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
โอเค ถ้าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ออกไปลุยเดี่ยวแบบเจมส์ บอนด์ จริง ๆ แล้วพวกเขาทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะที่สำนักงานใหญ่ริมแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน หรือเวลาออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ
“มีหน้าที่หลากหลายมาก ๆ เลยที่คุณสามารถทำได้” ทารา (นามสมมติ) เล่า “มีทั้งงานบริหารหน่วยงาน รับสมัครงาน เราต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เรามีทีมด้านการติดต่อสื่อสาร แล้วก็มีคนที่ต้องอยู่แนวหน้า ไม่เคยมีการให้คนทำงานตัวคนเดียว [หนัง] มีความคล้ายคลึงน้อยมากกับการทำงาน ให้หน่วยข่าวกรองลับในความเป็นจริง ฉันคิดว่าถ้ามีคนที่อยากทำแบบนั้นมาสมัครงาน เขาจะเข้าใจทันทีตั้งแต่กระบวนการสมัครงานว่านี่ไม่ใช่งานสำหรับพวกเขา”
แล้วอาวุธล่ะ ? เจ้าหน้าที่ MI6 ทุกคนพกปืนหรือเปล่า ? ผมได้คำตอบอย่างเป็นทางการกลับมาว่า : “เราไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธได้”
เจ้าหน้าที่ MI6 อีกคนบอกผมว่า “การที่มีชายคนหนึ่งลุยดะ ต่อสู้ไปทั่วโลกแล้วก็คอยยิงคน เป็นเรื่องที่พวกเราไม่ชอบมาก ๆ คนแบบนั้นไม่ได้เข้ามาที่นี่แน่”
แต่ถ้ามาลองนั่งนึกดูดี ๆ ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหราชอาณาจักรต้องไปทำงานในที่เสี่ยงอันตรายแค่ไหนในต่างประเทศ มันก็ยากที่จะจินตนาการว่าพวกเขาจะไม่พกอาวุธเลย ถ้าไม่อย่างนั้น ก็คงมีเจ้าหน้าที่คนอื่นที่มีอาวุธและอุปกรณ์เต็มตัว ต้องคอยเฝ้าดูพวกเขาอยู่
ถ้าว่ากันในทางเทคนิคแล้ว เจ้าหน้าที่ MI6 ไม่ใช่สายลับ แต่เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง และบางคนก็มีหน้าที่โน้วน้าวให้สายลับตัวจริง – อาจเป็นคนที่ไปแฝงตัวอยู่ในที่ที่กลุ่มอัลไคตาวางแผนโจมตี – ไปเอาความลับสำคัญมาบอกต่ออีกที
เพราะฉะนั้น คนที่เป็นสายลับต่างหากที่เสี่ยงชีวิตในทุกวัน และเห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ MI6 พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องตัวตนและครอบครัวพวกเขา
แล้วเจ้าหน้าที่กับสายลับสนิทกันแค่ไหน พวกเขาสามารถเป็นเพื่อนกันได้ไหม
“พวกเขาพึ่งพากันและกัน” ทอม เจ้าหน้าที่อีกคนบอก “คุณต้องรับผิดชอบชีวิตคนอีกคนหนึ่ง ดังนั้นคนหนึ่งต้องพูดในสิ่งที่อีกคนไม่อยากจะฟัง อาจจะต้องมีบทสนทนาที่ยากลำบาก แต่ทุกอย่างก็เพื่อความปลอดภัย”
“คนเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงเพื่อที่จะได้ทำงานให้เรา” ทารา กล่าว “บางคนก็ไม่ได้เสี่ยงมาก แต่ก็มีคนประเภทหนึ่งที่เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานด้วย มีคนประเภทที่ว่าถ้าถูกเปิดโปงว่าทำงานกับเรา ก็จะตกอยู่ในอันตรายมาก พวกเขาอาจตายได้ และเราคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังมากตั้งแต่ติดต่อกับคนคนนั้นเป็นครั้งแรก”
ตั้งแต่ภาพยนตร์ภาคที่แล้ว “Spectre” เมื่อปี 2015 มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในโลกแห่งความเป็นจริงของหน่วยข่าวกรองลับ
“รัฐกาหลิบ” (Caliphate) ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลามหรือไอเอส เกิดขึ้นและสิ้นสุดไปแล้ว ข้อตกลงในการควบคุมการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านก็ล่มไป และจีนก็เริ่มเคลื่อนไหวพยายามจะ “ยึด” ไต้หวันคืน เพราะฉะนั้นจึงมีหลายเรื่องราวที่ทำให้เจ้าหน้าที่ MI6 งานล้นมือ
แต่ในยุคที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็จะทิ้งร่องรอยทางดิจิทัลไว้เสมอ ยังจำเป็นอีกหรือที่เราต้องใช้กระบวนการข่าวกรองแบบเดิมที่ให้คนคนหนึ่งเจรจาโน้มน้าวให้อีกคนไปล้วงความลับมาให้
แต่เอ็มมา (นามสมมติ) บอกว่า หากดูขั้นตอนต่าง ๆ ของการส่งข้อมูล จะมีมนุษย์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในแต่ละขั้นเสมอ และ MI6 ก็พยายามจะสร้างสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น
“แน่นอนว่าเราก็พยายามใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของเราในภาคสนามด้วย”
แล้วที่สำนักงานใหญ่มีห้องใต้ดินที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานต่าง ๆ เหมือนในหนังไหม เจ้าหน้าที่บอกบีบีซีว่า มีจริง ๆ
“มันแตกต่างจากที่เราเห็นในหนัง” เอ็มมา เล่า “ฉันมีทีมวิศวกรที่ใหญ่กว่ามากในการสร้างอุปกรณ์ที่มีสมรรถภาพดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่เหมือนในหนัง เราไม่ได้ใส่ชุดคลุมสีขาว และเราก็ไม่ได้ดูเป็นคนบ้าคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีไปเสียทุกคน แต่ในเรื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ เราทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเพื่อดูว่าพวกเขาต้องการจะใช้อะไรบ้าง”
เกือบ 60 ปีผ่านไป ตั้งแต่ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ภาคแรก “Dr. No” ออกฉายเมื่อปี 1962 และก็ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก 10 ปี ตั้งแต่เอียน เฟล็มมิง สร้างตัวละครนี้ขึ้นมา หลังจากทำงานกับหน่วยข่าวกรองของกองทัพเรือ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โลกของหน่วยข่าวกรองลับได้เปลี่ยนแปลงไปมาก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ MI6 หลายคนในวันนี้ เป็นคนที่เริ่มทำงานตั้งแต่คนยังไม่มีมือถือ อินเตอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเก็บไว้ในตู้เก็บเอกสาร ยังไม่มีการเก็บข้อมูลทางสรีรวิทยา หรือไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) และหน่วย MI6 เองก็ยังไม่ถูกก่อตั้งขึ้นจนกระทั่งปี 1994 ในอดีตนั้น การที่สายลับข่าวกรองจะเดินทางข้ามแดน หรือปลอมตัวเข้าไปในที่อันตรายไม่ใช่เรื่องยากเลย บางครั้งใช้แค่หนวดปลอมและใส่แว่นตาเพื่อปิดบังตัวตนก็ได้ผล
แต่ทุกวันนี้ทำได้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ ลองคิดถึงกรณีที่เซอร์เก สกริปาล วัย 66 ปี อดีตสายลับรัสเซียและลูกสาว ถูกทำร้ายด้วยสารพิษทำลายประสาทกลุ่ม “โนวีชอก” (Novichok) ในเมืองซอลส์บรี ในอังกฤษ
แต่แม้เทคโนโลยีทุกวันนี้จะก้าวหน้าแค่ไหน – ทั้งการสแกนม่านตา ข้อมูลไบโอเมทริกซ์ ปัญญาประดิษฐ์ การเข้ารหัสข้อมูล หรือควอนตัมคอมพิวเตอร์ – เซอร์ อเล็กซ์ ยังเกอร์ ซึ่งผู้เป็นผู้อำนวยการหน่วย MI6 อยู่ 6 ปีจนกระทั่งปีที่แล้ว บอกว่ายังไงข่าวกรองโดยมนุษย์ก็ยังสำคัญอยู่ดี
เพราะเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งหญิงและชายที่ทำงานที่ MI6 ถึงต้องไปทำงานอยู่ทุกวัน
ผู้เขียน : แฟรงก์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของบีบีซี
———————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 30 ก.ย.2564
Link : https://www.bbc.com/thai/international-58745636