เสื้อเกราะ : นาโนเทคโนโลยีกับการทำให้ชุดป้องกันแข็งแรงขึ้นและเบาลง
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เสื้อเกราะสำหรับทหารในสมรภูมิได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ผลเสียคือมันก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากด้วย นี่คือสิ่งที่ประสบการณ์ที่ รอรี โคพิงเกอร์-ไซมส์ เจอมาตลอดตั้งแต่เริ่มเป็นทหารนาวิกโยธินสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1983 ก่อนเกษียณราชการเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงหลายทศวรรษหลังมานี้ เสื้อเกราะสมัยใหม่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ที่เรียกกันว่า “เคฟลาร์” ซึ่งนำไปรวมกับแผ่นโลหะหรือไม่ก็เซรามิกเพื่อช่วยป้องกันแรงกระแทก จริงอยู่ที่เสื้อเกราะสมัยใหม่แบบนี้ช่วยป้องกันกระสุนและภัยคุกคามอื่น ๆ ได้ แต่ก็หนักกว่าเสื้อเกราะสมัยก่อนที่ใช้เส้นใยไนลอนช่วยรับแรงกระแทกหลายชั้นซึ่งบางทีก็มีแผ่นไฟเบอร์กลาสด้วย โคพิงเกอร์-ไซมส์ บอกว่า พูดถึงความสบายในการสวมเสื้อเกราะเคฟลาร์ “ก็ไม่เลวร้ายนัก” แต่มันก็มีข้อเสียเวลาต้องใส่ในประเทศที่อากาศร้อน คือ ทหารผู้นั้นสามารถพกอาวุธและกระสุนซึ่งจำเป็นต้องใช้ได้น้อยลงไป กองทัพทุกประเทศล้วนเจอปัญหาเรื่องน้ำหนักและความสบายของเสื้อเกราะ ตัวอย่าง เช่น เสื้อเกราะเต็มรูปแบบของกองทัพสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแผ่นป้องกันกระสุน 4 แผ่น มีเกราะกันตรงคอและเป้ากางเกง มีน้ำหนักรวมถึงเกือบ 14 กิโลกรัม เทียบกับเสื้อเกราะสมัยสงครามเวียดนามที่หนักแค่ 3.6 กก. น้ำหนักแต่ละกิโลกกรัมที่เพิ่มเข้าไปกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของทหารสมัยนี้ อย่างทหารราบสหรัฐฯ ในอิรักและอัฟกานิสถานต้องถือสัมภาระที่ประกอบไปด้วยอาวุธ อาหาร และเครื่องมืออื่น ๆ ที่หนักรวมถึง 45 กก. เมื่อเวลาผ่านไป การต้องถือของหนัก ๆ ก็ส่งผลต่อร่างกาย…