เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเเถลงกรณีมีผู้เสียหายถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร หรือบัตรเดบิต จำนวนหลายครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุว่า
ขณะนี้ตำรวจไซเบอร์ร่วมประชุมกับสภาธนาคารไทย และธปท. เพื่อหาความร่วมมือแก้ปัญหากรณีดังกล่าว เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียหายประมาณ 4 หมื่นคน ยอดสูงสุด 2 แสนบาท มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายถูกถอนเงินครั้งละจำนวนไม่มาก แต่หลายบาท หลายครั้ง เชื่อว่าคนร้ายไม่น่าจะก่อเหตุคนเดียวและมาจากหลายกลุ่มใช้วิธีหลายรูปแบบ
พล.ต.ท.กรไชยกล่าวว่า พฤติการณ์การก่อเหตุ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจาก 3 ลักษณะ คือ
1.เป็นการผูกบัญชีบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารเข้ากับแอพลิเคชั่นต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่นออนไลน์ และข้อมูลเกิดหลุดไปถึงแก๊งมิจฉาชีพ
2.การส่ง SMS หลอกลวง ที่จะส่งลิงก์มาตาม sms เข้ามือถือผู้เสียหาย และให้กรอกข้อมูลต่างๆ เช่น ปล่อยเงินกู้ ไปรษณีย์ไทย และ
3.การใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในชีวิตประจำวัน เช่น การให้บัตรพนักงานไปชำระค่าสินค้าและบริการ ในห้าง หรือการเติมน้ำน้ำมัน อาจถูกพนักงานเก็บข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 หลัก และเลข CVC หลังบัตร 3 ตัว ซึ่งคนร้ายอาจรวบรวมข้อมูลและขายต่อในตลาดมืด
จึงฝากเตือนประชาชนอย่าผูกบัตรเครดิต บัตรเดบิตกับแอพพลิเคชันที่ไม่จำเป็นหรือไม่น่าเชื่อถือ ไม่คลิกลิงก์ใน sms หรืออีเมล์แปลกที่ไม่รู้จัก และควรลบหรือปิดเลข CVC เลข 3 ตัวหลังบัตร เพื่อความปลอดภัย
หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์นั้นด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียน ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัสหลังบัตร หรือจดจำรหัส นั้นเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน ป้องกันมิจฉาชีพ มิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ บช.สอท. มุ่งเน้นที่จะสนองนโยบายขอ รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และถูกซ้ำเติมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคำนึงถึงความเดือดร้อน และการอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ
ด้าน พล.ต.ต.นิเวศน์กล่าวว่า ปัญหาเเละวิธีการเเก้ไขตลอดจนวิธีการที่จะหลีกเลี่ยง ในส่วนนี้ที่ต้องพยายามเน้นยำคือเรื่องของรูปเเบบการกระทำความผิดเเบบนี้สาเหตุหลักคือคนร้ายได้ตัวหมายเลขหน้าบัตรกับเลขสามตัวข้างหลังบัตรตลอดจนวันบัตรหมดอายุไป
ส่วนวิธีการที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลของผู้เสียหายไปก็จะมี 2-3 วิธีด้วยกัน คือ
วิธีเเรก คือผู้เสียหายได้ไปผูกข้อมูลบัตรตัวเองไว้กับเเอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ได้เน้นยํ้าว่า เเอพพลิเคชั่นอะไรที่ไม่จำเป็นไม่ควรเอาข้อมูลไปผูกไว้
วิธีการที่สอง การหลอกให้กรอกข้อมูล ซึ่งก็จะมาในรูปแบบเอสเอ็มเอส ,อีเมล หรือมาจากการเข้าเว็บไซต์ที่คนร้ายปลอมขึ้น ต่างๆ เช่น กรณีหลอกให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทยปลอมดังที่เกิดขึ้นเเล้ว และ
วิธีการสุดท้าย คือการที่ผู้เสียหายเวลาใช้จ่ายบัตรอาจเอาบัตรไปให้เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานเอาไปรูดบัตรเเล้วพนักงานได้เอาข้อมูลไปขายให้มิจฉาชีพ จึงฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าพยายามปกป้องข้อมูลบัตรพวกนี้เอาไว้โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานบัตรโดยที่จะต้องเเสดงเลขบัตรต่างๆต่อร้านค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งควรใช้เป็นช่องทางที่ปลอดภัยเช่น E-Banking จะดีที่สุด เเล้วหากเกิดกิจกรรมการเงินที่ไม่พึ่งประสงค์เเละผิดสังเกตก็ควรไปเช็กกับทางธนาคารให้เร็วที่สุด
—————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่่เผยแพร่ 18 ต.ค.2564
Link : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2997138