เอเอฟพี – ตำรวจทั่วโลกบุกรวบตัวผู้ต้องสงสัย 150 คนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายของออนไลน์ผิดกฎหมาย สามารถยึดเงินสดและบิตคอยน์มูลค่าหลายล้านยูโร รวมถึงยาเสพติดและปืน ถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการกวาดล้างเว็บผิดกฎหมายครั้งใหญ่ที่สุด
ยูโรโพลเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (26 ต.ค.) ว่า ปฏิบัติการนี้ที่มีชื่อว่า “ดาร์กฮันเตอร์” มีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมที่ตำรวจเยอรมนีได้ทลาย “ดาร์กมาร์เกต” ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ผิดกฎหมายใหญ่ที่สุดของโลก ดำเนินการโดยผู้ต้องสงสัยชาวออสเตรเลียเพื่อใช้ในการขายยาเสพติด ข้อมูลบัตรเครดิตที่ขโมยมา และมัลแวร์
ยูโรโพลแจงว่า การจับกุมผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวที่ใกล้ชายแดนเยอรมนี-เดนมาร์ก และการเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานในการก่ออาชญากรรม ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนทั่วโลกค้นพบคลังข้อมูลหลักฐาน
อัยการเยอรมนีเปิดเผยในขณะนั้นว่า ดาร์กมาร์เกตถูกค้นพบระหว่างการสอบสวนไซเบอร์บังเกอร์ บริการเว็บโฮสต์ที่อยู่ในบังเกอร์เก่าของนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ทางตะวันตกของเยอรมนี
นับจากนั้น ศูนย์อาชญากรรมทางไซเบอร์แห่งยุโรป (อีซี3) ในสังกัดยูโรโพล เริ่มรวบรวมข้อมูลข่าวกรองเพื่อระบุตัวเป้าหมายหลัก
ทั้งนี้ “ดาร์กเน็ต” รวมถึงเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ด้วยซอฟต์แวร์ หรือการให้สิทธิที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น เพื่อรับประกันว่า จะไม่มีการเปิดเผยตัวตนของผู้ใช้ โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดาร์กเน็ตถูกกดดันมากขึ้นจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ
ดาร์กฮันเตอร์ ประกอบด้วย ปฏิบัติการในออสเตรเลีย บัลแกเรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และอเมริกา
ที่อเมริกา ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย 65 คน ขณะที่เยอรมนีจับกุมได้ 47 คน อังกฤษ 24 คน อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ประเทศละ 4 คน โดยหลายคนในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญที่ยูโรโพลเฝ้าจับตา
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังยึดเงินสดและเงินเสมือนได้ทั้งสิ้น 31 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งปืน 45 กระบอก และยาเสพติด 234 กิโลกรัม ที่รวมถึงยาอี 25,000 เม็ด
ยูโรโพลที่ประสานงานกับหน่วยงานด้านตุลาการ ยูโรจัสต์ เสริมว่า ตำรวจอิตาลีได้ปิดตลาด “ดีปซี” และ “เบอร์ลุสโคนี” ที่มีสินค้าผิดกฎหมายขายอยู่นับแสนรายการ
ฌอง-ฟิลิปป์ เลอคูฟฟ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของยูโรโพล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในปฏิบัติการครั้งนี้คือ เพื่อเตือนเหล่าอาชญากรที่ดำเนินการดาร์กเว็บ หรือเว็บผิดกฎหมายว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมีวิธีการและเครือข่ายความร่วมมือทั่วโลกที่จะเปิดโปงและจับกุมอาชญากรเหล่านั้นมารับโทษจากการกระทำผิดกฎหมาย
เลอคูฟฟ์ ซึ่งเป็นนายตำรวจของฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ระบุว่า ปฏิบัติการดาร์กฮันเตอร์ดำเนินการมานานหลายเดือน ไม่ใช่เป็นการจับกุมเหล่าร้ายทั้งหมดพร้อมกัน
ตัวอย่างเช่นในฝรั่งเศส มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 3 คน ที่ประกอบด้วยชาย 2 หญิง 1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน คนเหล่านี้ดำเนินการเว็บผิดกฎหมายที่ชื่อว่า “เลอ มงด์ ปาราเลล” โดยคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบ อีกคนเป็นคนกลางคอยประสานงาน และคนสุดท้ายรับผิดชอบการทำธุรกรรม
รอฟ ฟาน เว็กเบิร์ก เจ้าหน้าที่สอบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยทียู เดลฟต์ มองว่า ปฏิบัติการดาร์กฮันเตอร์เป็นการส่งสัญญาณว่า ตำรวจกำลังสืบสาวและมุ่งจัดการกับพวกพ่อค้าแม่ค้าในตลาดมืดออนไลน์ด้วย ไม่ใช่แค่ผู้ควบคุมดูแลตลาดเหมือนที่ผ่านมา
————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 27 ต.ค.2564
Link : https://mgronline.com/around/detail/9640000106539