คิม กุก-ซอง ยังคงไม่ทิ้งนิสัยเดิมที่มักทำตัวลึกลับซับซ้อน
ทีมข่าวบีบีซีต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการหารือเพื่อขอสัมภาษณ์อดีตเจ้าที่ระดับสูงของหน่วยสายลับเกาหลีเหนือผู้นี้ ซึ่งเขายังคงมีท่าทางกังวลว่าจะมีคนแอบดักฟัง เขาสวมแว่นตาดำเมื่ออยู่หน้ากล้อง และมีเพียงทีมงานของบีบีซีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่รู้ชื่อจริงของเขา
นายคิม ใช้เวลา 30 ปีในการไต่เต้าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในหน่วยงานสายลับอันทรงอิทธิพลของเกาหลีเหนือ เขากล่าวว่า หน่วยงานเหล่านี้ถือเป็น “ตา หู และสมองของท่านผู้นำสูงสุด“
เขาอ้างว่าตัวเองคือผู้กุมความลับของหน่วยงานเหล่านี้ เป็นผู้ส่งนักฆ่าไปลอบสังหารนักวิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม และแม้แต่สร้างห้องแล็บผลิตยาเสพติดเพื่อช่วยหาเงินทุน “เพื่อการปฏิวัติ“
ตอนนี้ อดีตพันเอกชาวเกาหลีเหนือได้ตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองกับบีบีซี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นายทหารระดับสูงจากกรุงเปียงยางให้สัมภาษณ์กับสื่อรายใหญ่ของโลก
ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซี นายทหารผู้แปรพักตร์คนนี้บอกว่าตนเองเป็นคน “แดงเข้มที่สุดในบรรดาสีแดงทั้งปวง” เป็นผู้รับใช้ที่จงรักภักดีต่อลัทธิคอมมิวนิสต์
ทว่ายศตำแหน่งและความจงรักภักดีก็ไม่อาจรับประกันความปลอดภัยในเกาหลีเหนือได้
เขาหลบหนีออกมาในปี 2014 และนับแต่นั้นก็อาศัยอยู่ในกรุงโซล โดยทำงานให้หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้
นายคิมเล่าว่า คณะผู้นำเกาหลีเหนือพยายามที่จะหาเงินเข้าประเทศด้วยสารพัดวิธี ตั้งแต่ค้ายาเสพติดไปจนถึงอาวุธให้ชาติในตะวันออกกลางและแอฟริกา
เขายังเผยกับบีบีซีถึงยุทธศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจต่าง ๆ ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รวมทั้งการโจมตีเกาหลีใต้ และคำกล่าวอ้างว่าสายลับและเครือข่ายทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือได้ปฏิบัติภารกิจไปทั่วทุกมุมโลก
แม้บีบีซีจะไม่สามารถหาแหล่งข้อมูลอิสระในการยืนยันคำกล่าวอ้างเหล่านี้ได้แน่ชัด แต่ก็สามารถยืนยันตัวตนของนายคิม และพบหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ของเขา
บีบีซีได้ติดต่อไปยังสถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงลอนดอน และคณะทูตในนครนิวยอร์กเพื่อขอความคิดเห็น แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ
“กองกำลังก่อการร้าย”
นายคิมเล่าว่า การทำงานช่วงไม่กี่ปีสุดท้ายในหน่วยข่าวกรองชั้นนำของเกาหลีเหนือทำให้เขาได้เห็นนายคิม จอง-อึน ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในเส้นทางการเป็นผู้นำสูงสุดของเขา
เขาบรรยายถึงนายคิม จอง-อึน ว่า เป็นเด็กหนุ่มที่มุ่งมั่นจะพิสูจน์ตัวเองในฐานะ “นักรบ“
เกาหลีเหนือก่อตั้งหน่วยสายลับที่ชื่อว่า Reconnaissance General Bureau (RGB) ในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่นายคิม จอง-อึน กำลังถูกเตรียมความพร้อมให้สืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากบิดา ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
หน่วยงานดังกล่าวมีนายคิม ยอง-โชล ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ผู้นำเกาหลีเหนือไว้วางใจมากที่สุด
นายคิม กุก-ซอง ระบุว่า ในเดือน พ.ค.ปี 2009 มีคำสั่งลงมาตามสายบังคับบัญชาให้ก่อตั้ง “หน่วยก่อการร้าย” เพื่อสังหารเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายเกาหลีใต้
“สำหรับคิม จอง-อึน นี่คือการกระทำที่สร้างความพึงพอใจให้ท่านผู้นำสูงสุด (บิดาของเขา)” นายคิม กล่าว
“หน่วยก่อการร้าย“ถูกตั้งขึ้นเพื่อลอบสังหารนายฮวาง จาง-ย็อป อย่างลับ ๆ ซึ่งผมเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการด้วยตัวเอง
นายฮวาง จาง-ย็อป เคยเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของเกาหลีเหนือ เขาเป็นบุคคลสำคัญในการวางแนวนโยบายของประเทศ การที่เขาแปรพักตร์ไปอยู่เกาหลีใต้เมื่อปี 1997 ไม่เคยได้รับการให้อภัยจากเกาหลีเหนือ และเป็นบุคคลที่ตระกูลคิมต้องการล้างแค้น เพราะเมื่ออยู่ในกรุงโซลเขาได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกาหลีเหนืออย่างรุนแรง
ทว่าแผนการลอบสังหารได้เกิดความผิดพลาด และพันตรีเกาหลีเหนือ 2 นายยังคงรับโทษจำคุก 10 ปีในกรุงโซลจากแผนการนี้ ขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมอ้างว่าเกาหลีใต้จัดฉากแผนลอบสังหารนี้ขึ้น
แต่คำบอกเล่าของนายคิมได้เผยข้อมูลตรงกันข้าม
เขาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ในเกาหลีเหนือ การก่อการร้ายถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปกป้องเกียรติของนายคิม จอง-อิล และนายคิม จอง-อึน…มันเป็นของขวัญที่แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อทายาทของผู้นำสูงสุด“
หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี คือในปี 2010 ได้เกิดเหตุเรือรบ “โชนัน” ของเกาหลีใต้อัปปางลง หลังถูกโจมตีจากจากตอร์ปิโดของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 46 คน แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องมาโดยตลอด
จากนั้นในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน ก็มีกระสุนปืนใหญ่ของเกาหลีเหนือหลายสิบลูกถล่มเกาะยอนพยองของเกาหลีใต้ คร่าชีวิตทหาร 2 นาย และพลเรือนอีก 2 คน
มีข้อถกเถียงมากมายว่าใครเป็นผู้สั่งการเหตุโจมตีครั้งนี้ แต่นายคิมบอกว่า เขา “ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการโจมตีเรือรบโชนัน หรือการถล่มเกาะยอนพยอง” แต่ระบุว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่เจ้าหน้าที่ RGB ในฐานะภารกิจอันน่าภาคภูมิใจ
นายคิมชี้ว่า ปฏิบัติการเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีคำสั่งจากเบื้องบน
“ในเกาหลีเหนือ แม้แต่การสร้างถนน ก็ไม่อาจทำได้หากไม่มีคำอนุมัติโดยตรงจากผู้นำสูงสุด การจมเรือรบโชนัน และการยิงถล่มเกาะยอนพยอง เป็นเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถทำได้เองโดยพลการ”
“ปฏิบัติการทางทหารแบบนี้ถูกออกแบบและใช้งาน โดยคำสั่งพิเศษของนายคิม จอง-อึน…” นายคิมบอก
สายลับในทำเนียบ ปธน. เกาหลีใต้
นายคิมเล่าว่า หนึ่งในงานที่เขารับผิดชอบคือการพัฒนากลยุทธ์ในการรับมือกับเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นต่อทางการเมือง
ภารกิจนี้รวมถึงการส่งสายลับเข้าไปแทรกซึมในทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายคิมเล่าว่ามีหลายครั้งที่เขาได้สั่งการโดยตรงให้สายลับเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ พร้อมกับยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่น่าทึ่ง
“มีกรณีหนึ่งที่สายลับเกาหลีเหนือถูกส่งเข้าไปทำงานที่ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แล้วกลับสู่เกาหลีเหนือได้อย่างปลอดภัย ตอนนั้นเป็นช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังจากทำงานในบลูเฮาส์ (ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้) มาเป็นเวลา 5-6 ปี เขาก็เดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย แล้วเข้าทำงานที่สำนักประสานงาน 314 ของพรรคแรงงาน“
“ผมบอกคุณได้เลยว่ามีสายลับเกาหลีเหนือที่แฝงตัวอยู่ในองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง รวมทั้งสถาบันสำคัญ ๆ ในเกาหลีใต้“
บีบีซีไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงคำกล่าวอ้างนี้ได้
ทว่าที่ผ่านมา ทีมข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับอดีตสายลับเกาหลีเหนือหลายคนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ขณะที่นายแชด โอ คาร์โรล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ NK News ที่ให้บริการข่าวสารเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ระบุในหลายบทความว่า ครั้งหนึ่งคุกในเกาหลีใต้เคยเต็มไปด้วยสายลับเกาหลีเหนือที่ถูกจับกุมฐานเข้าไปล้วงความลับในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลล่าจาก NK News ระบุว่า นับแต่ปี 2017 เกาหลีใต้จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นสายลับลดลง เพราะเกาหลีเหนือได้หันไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเก็บข้อมูลข่าวกรอง มากกว่าการสอดแนมแบบดั้งเดิม
แม้เกาหลีเหนือจะเป็นหนึ่งในประเทศยากจน และโดดเดี่ยวที่สุดในโลก แต่ผู้แปรพักตร์ชื่อดังในอดีตเตือนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ก่อตั้งกองทัพแฮ็กเกอร์ที่มีผู้เชี่ยวชาญ 6,000 คน
นายคิมเล่าว่า นายคิม จอง-อิล ผู้นำคนก่อนของเกาหลีเหนือ ได้สั่งการให้ฝึกฝนเจ้าหน้าที่ใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่อ “เตรียมทำสงครามไซเบอร์“
“มหาวิทยาลัยโมรันบงจะคัดเลือกนักศึกษาหัวกะทิที่สุดจากทั่วประเทศ แล้วจัดให้พวกเขาได้รับการศึกษาหลักสูตรพิเศษเป็นเวลา 6 ปี” นายคิม กล่าว
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอังกฤษเชื่อว่า หน่วยงานของเกาหลีเหนือที่ชื่อว่า Lazarus Group อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายให้สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ และองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลกเมื่อปี 2017 นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหน่วยงานเดียวกันนี้ยังโจมตีบริษัทโซนี่พิคเจอร์ส ในการเจาะระบบครั้งใหญ่เมื่อปี 2014 ด้วย
นายคิมบอกว่าหน่วยงานนี้มีชื่อว่า สำนักประสานงาน 414 ซึ่งมีชื่อเรียกภายในว่า “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของคิม จอง-อิล” และมีสายตรงในการติดต่อกับผู้นำเกาหลีเหนือ
“ผู้คนพูดว่าสายลับเหล่านี้อยู่ในจีน รัสเซีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พวกเขายังปฏิบัติงานในเกาหลีเหนือด้วย โดยสำนักงานนี้ดูแลเรื่องการสื่อสารระหว่างสายลับเกาหลีเหนือ”
การค้ายาเสพติดและอาวุธ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายคิม จอง-อึน ได้ประกาศว่าเกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับ “วิกฤต” รอบใหม่ โดยเมื่อเดือน เม.ย.เขาได้ขอให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับ “ทุพภิกขภัย” กันอีกครั้ง ซึ่งคำเรียกนี้หมายถึงวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งรุนแรงของเกาหลีเหนือ (Arduous March) ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ในสมัยของนายคิม จอง-อิล
ตอนนั้นนายคิมทำงานอยู่ในหน่วยปฏิบัติการ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ระดม “เงินทุนเพื่อการปฏิวัติ” ให้แก่ผู้นำสูงสุด ซึ่งนายคิมหมายถึงการค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย
เขาเล่าว่า “การผลิตยาเสพติดในยุคของ คิม จอง-อิล พุ่งสูงสุดในช่วงที่เกิดทุพภิกขภัย…ในตอนนั้นหน่วยปฏิบัติการไม่เหลือเงินทุนเพื่อการปฏิวัติให้แก่ผู้นำสูงสุด”
“หลังจากได้รับมอบหมายภารกิจ ผมพาชาวต่างชาติ 3 คนเข้ามาในเกาหลีเหนือ เพื่อสร้างฐานการผลิตยาเสพติดที่ศูนย์ฝึกของสำนักประสานงาน 715 ของพรรคแรงงาน และผลิตยาเสพติด”
“มันคือยาไอซ์ จากนั้นเราก็ขายเป็นเงินดอลลาร์แล้วนำไปมอบให้ คิม จอง-อิล”
คำบอกเล่าของนายคิมครั้งนี้ฟังดูมีน้ำหนัก เพราะเกาหลีเหนือมีประวัติการผลิตยาเสพติดมายาวนาน ส่วนใหญ่เป็นเฮโรอีน และฝิ่น โดยนายแท ยอง-โฮ อดีตนักการทูตเกาหลีเหนือประจำสหราชอาณาจักรที่ต่อมาได้แปรพักตร์ เผยในที่ประชุม Oslo Freedom Forum เมื่อปี 2019 ว่าเกาหลีเหนือทำธุรกิจค้ายาเสพติดโดยที่รัฐให้การสนับสนุน และพยายามแก้ปัญหาประชากรในประเทศติดยาเสพติดอย่างแพร่หลาย
บีบีซีถามนายคิมว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เงินจากการค้ายาเสพติดที่ได้ไปอยู่ที่ไหน และมันได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนหรือไม่
อดีตนายทหารยศพันเอกผู้นี้ตอบว่า “เพื่อช่วยให้คุณได้เข้าใจ เงินทั้งหมดในเกาหลีเหนือเป็นของผู้นำเกาหลีเหนือ…เขาเอาเงินเหล่านั้นไปสร้างคฤหาสน์ ซื้อรถยนต์ อาหาร เสื้อผ้า และใช้ชีวิตอย่างหรูหรา”
ประเมินกันว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือในช่วงทศวรรษที่ 1990 อยู่ที่หลายแสนคนไปถึง 1 ล้านคน
นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังมีแหล่งรายได้จากทางอื่นด้วย ซึ่งนายคิมบอกว่า มาจากการค้าอาวุธผิดกฎหมายให้แก่อิหร่าน ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการที่เขาเคยทำงานอยู่นั่นเอง
“มีเรือดำน้ำขนาดเล็กพิเศษ และเรือกึ่งดำน้ำ ซึ่งเกาหลีเหนือมีความเชี่ยวชาญมากในการสร้างอุปกรณ์ล้ำสมัยเช่นนี้” นายคิมกล่าว
นี่อาจเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ เพราะเรือดำน้ำของประเทศนี้มีเสียงดัง และใช้เครื่องยนต์ดีเซล
แต่นายคิมอ้างว่า ข้อตกลงขายเรือดำน้ำให้อิหร่านประสบความสำเร็จมาก ถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือในอิหร่านมักคุยโวว่าสามารถเรียกคนอิหร่านไปทำข้อตกลงซื้อขายกันที่สระว่ายน้ำของเขาได้
ศาสตราจารย์แอนเดร ลันคอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือชั้นแนวหน้าของโลก ระบุว่า ข้อตกลงซื้อขายอาวุธ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป ระหว่างเกาหลีเหนือและอิหร่านเป็นเรื่องที่รู้กันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แล้ว
แม้ประเทศประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและวิกฤตขาดแคลนอาหาร แต่ก็เดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเรื่อยมา ซึ่งนายคิมบอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีเหนือได้ขายอาวุธและเทคโนโลยีด้านนี้ให้แก่ประเทศที่ทำสงครามกลางเมืองหลายแห่ง
องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ขายอาวุธให้ซีเรีย เมียนมา ลิเบีย และซูดาน พร้อมเตือนว่าอาวุธเหล่านี้อาจตกไปอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาการสู้รบทั่วทุกมุมโลก
ผู้รับใช้ที่ถูกหักหลัง
นายคิมเคยมีชีวิตอย่างสุขสบายในเกาหลีเหนือ เขาอ้างว่าได้รับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ จากอาสาวของนายคิม จอง-อึน และได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้อย่างอิสระเพื่อหาเงินให้แก่ผู้นำเกาหลีเหนือ เขาบอกว่าได้ขายแร่โลหะหายากและถ่านหิน แลกกับเงินสดหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกใส่กระเป๋าเดินทางนำกลับเข้าไปในเกาหลีเหนือ
การมีเส้นสายทางการเมืองผ่านการสมรส ช่วยให้นายคิมได้ย้ายไปทำงานตามหน่วยงานข่าวกรองต่าง ๆ แต่เขาบอกว่า เส้นสายเหล่านี้ยังทำให้ครอบครัวของเขาต้องตกอยู่ในอันตรายด้วย
ไม่นานหลังจากเข้าสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจากบิดา นายคิม จอง-อึน ได้ตัดสินใจจะขจัดบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามเขา ซึ่งรวมถึงนายจาง ซอง-แท็ก อาเขย ที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของเกาหลีเหนือในช่วงที่สุขภาพของนายคิม จอง-อิล ทรุดโทรมลง
นายคิมบอกว่า ชื่อเสียงของนายจาง ซอง-แท็ก เริ่มเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อของนายคิม จอง-อึน
“นี่คือตอนที่ผมรู้สึกว่าจาง ซอง-แท็ก จะอยู่ได้อีกไม่นาน ผมรู้สึกว่าเขาจะถูกเนรเทศไปอยู่ชนบท” เขาเล่า
ทว่านายคิมต้องช็อก เมื่อสื่อเกาหลีเหนือรายงานเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2013 ว่า นายจาง ซอง-แท็ก ถูกประหารชีวิต
“ผมรู้สึกทันทีถึงอันตรายต่อชีวิต ผมรู้ว่าผมไม่อาจจะอยู่ในเกาหลีเหนือได้อีกต่อไป”
ตอนที่ทราบเรื่องดังกล่าว นายคิมอยู่ในต่างประเทศ และตัดสินใจพาครอบครัวหนีไปอยู่เกาหลีใต้
“การละทิ้งประเทศชาติ ซึ่งมีสุสานบรรพบุรุษและครอบครัวของผมอยู่ และการหนีไปเกาหลีใต้ ซึ่งสำหรับผมถือเป็นดินแดนต่างชาตินั้น เป็นการตัดสินใจที่น่าเศร้าและสร้างความทุกข์ให้อย่างที่สุด” นายคิมบอก แว่นตาดำที่เขาสวมอยู่ไม่อาจปกปิดความรู้สึกสะเทือนใจเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ได้
คำถามหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีพยายามถามนายคิมในการสัมภาษณ์หลายครั้ง ที่กินเวลารวมกันหลายชั่วโมงก็คือ ทำไมเขาจึงตัดสินใจออกมาพูดกับสื่อในตอนนี้
อดีตสายลับผู้นี้ตอบว่า “นี่คือภาระหน้าที่เดียวที่ผมสามารถทำได้…ผมจะออกมาพูดมากขึ้นนับจากนี้ เพื่อปลดปล่อยพี่น้องชาวเกาหลีเหนือจากเงื้อมมือเผด็จการ และช่วยให้พวกเขาได้ดื่มด่ำกับเสรีภาพอย่างแท้จริง”
ปัจจุบันมีชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์อยู่ในเกาหลีใต้กว่า 30,000 คน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าออกมาพูดกับสื่อ และยิ่งบุคคลนั้นเคยทำงานในตำแหน่งสูงเท่าไหร่ ครอบครัวของพวกเขาก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ ห้วงเวลาที่นายคิมออกมาให้สัมภาษณ์ก็ยังน่าสนใจ เพราะนายคิม จอง-อึน ส่งสัญญาณว่าอาจยินดีกลับมาเจรจากับเกาหลีใต้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้ หากอีกฝ่ายทำตามเงื่อนไขบางอย่าง
อย่างไรก็ตาม นายคิมมีคำเตือนสำหรับเรื่องนี้
“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผมมาอยู่ที่นี่ (เกาหลีใต้) แต่เกาหลีเหนือยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย” เขากล่าว
“ยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ยังดำเนินต่อไป สิ่งที่คุณต้องรู้เอาไว้ก็คือ เกาหลีเหนือไม่เคยเปลี่ยนไปแม้แต่ 0.01%”
ผู้เขียนบทความ ลอรา บิคเกอร์
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : บีบีซี นิวส์, โซล / วันที่เผยแพร่ 12 ต.ค.2564
Link : https://www.bbc.com/thai/international-58867976