รู้ทัน 4 ขั้นตอนกลโกงมิจฉาชีพที่อาศัยช่วงที่ประชาชน หาแหล่งเงินกู้ แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการ “เงินกู้ออนไลน์” แล้วหลอกลวงเงินจากประชาชน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย โปรดสังเกตตรวจสอบให้แน่ใจ ก่อนตัดสินใจกู้เงิน
ปัจจุบันโลกของการสื่อสารออนไลน์ เข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรา ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ระบาด วิถีชีวิตของเราก็ถูกปรับเปลี่ยนไป เราหันมาพึ่งการติดต่อสื่อสารออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะการจับจ่ายซื้อของ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ และด้วยความสะดวกสบายนี้เหล่ามิจฉาชีพสบช่องทางในการหลอกลวงได้ง่ายดายหากไม่ระมัดระวัง
ซึ่งการหลอกลวงก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งในระยะหลังจะพบปัญหาการหลอกลวงกรณีการกู้เงินออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกวาดล้างจับกุมมาเป็นระยะ แต่ก็ยังมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งปล่อยเงินกู้ออนไลน์เหล่านี้
อย่างกรณีล่าสุด ที่ตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการ “ล่าแอพเงินกู้โหด เหนือจรดใต้” บุกค้น 8 จุด ในพื้นที่ 6 จังหวัด อันสืบเนื่องจาก มีผู้เสียหายชาวกำแพงเพชร หลงกลแก๊งมิจฉาชีพไปทำเรื่องกู้เงินออนไลน์ จาก 6 แอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์กู้เงิน แต่แทนที่จะได้เงินตามที่ต้องการกลับถูกหลอกให้โอนเงิน โดยอ้างมีค่าดำเนินการ ต่างๆ นานา สุดท้ายไม่ได้เงินและติดต่อต้นทางไม่ได้ จึงเครียดความเครียดตัดสินใจจบชีวิต หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กเพียงแค่ 10 ขวบก็ถูกแก๊งมิจฉาชีพ หลอกว่าจะให้เงินทุนการศึกษา เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท แต่ถูกหลอกให้โอนเงินให้ 900 บาท โดยหลังจากทำรายการโอนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่สามารถติดต่อกับคนร้ายได้อีก
วิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพจะแตกต่างและมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งตัวเราเองต้องรู้เท่าทันกลโกงเหล่านี้ กับ 4 ขั้นตอนแก๊งมิจฉาชีพจะใช้ในการหลอกล่อเหยื่อ ดังนี้
1. เปิดเพจปลอม
– อาจมีการใช้ชื่อเพจให้เหมือนกับบริษัทเงินกู้ใหญ่ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
– มีการโฆษณาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย และใส่ข้อความชวนเชื่อ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ ติดแบล็คลิสต์ก็กู้ได้ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกสนใจ
2. ขอข้อมูลส่วนตัว – ขอเงิน
– มิจฉาชีพจะขอเอกสารจากเหยื่อ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
– และขอให้เหยื่อ “จ่ายเงิน” ให้โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมดำเนินการ อาจคิดเป็นร้อยละ ** ของเงินกู้ จึงจะได้เงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ
3. ปลอมเอกสาร
– มิจฉาชีพจะทำเอกสารปลอม และมักใส่ QR Code หรือ Barcode เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ กว่าเหยื่อจะรู้ตัว ก็ถูกโกงไปเรียบร้อยแล้ว
4. หลบหนีหายเมื่อได้เงิน
– เมื่อมิจฉาชีพได้เงินจากเหยื่อแล้ว จะบล็อกบัญชีและหนีหายทันที
– นอกจากนี้ เหยื่อบางรายอาจโดนนำข้อมูลไปแอบอ้าง กระทำการฉ้อฉลอื่นๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีคำแนะนำ หากมีความจำเป็นต้องการกู้ยืมเงิน ควรใช้บริการจากสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานจะปลอดภัยกว่า ถึงแม้ขั้นตอนการกู้ยืมอาจต้องมีการตรวจสอบมากหน่อย แต่มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอกแน่นอน
ที่มา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
—————————————————————————————————————————
ที่มา : คมชัดลึก / วันที่เผยแพร่ 12 พ.ย.64
Link : https://www.komchadluek.net/news/492316