เรียบเรียงปัญหา “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์กำลังคุกรุ่น
“ทะเลจีนใต้” เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโลกและสิ่งแวดล้อม และมีผลประโยชน์มหาศาลที่หลายประเทศจับจ้อง จนเกิดเป็นข้อพิพาทที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปี และย้อนไปได้นานนับร้อยนับพันปี
ข้อพิพาททะเลจีนใต้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า จะเกิดผลกระทบอะไรกับประเทศไทยและอาเซียนบ้าง นำมาสู่การชำแหละสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ในงานสัมมนาออนไลน์ “ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ความหวัง ความจริง และท่าทีของสหรัฐอเมริกา”
โดยงานสัมมนาดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ สมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย สถานทูตอเมริกา และศูนย์เอเชียแปซิฟิกศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ข้อพิพาททะเลจีนใต้คืออะไร
รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เท้าความให้ฟังว่า ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วน และทั้งหมด บริเวณเหนือดินแดน และอธิปไตยในน่านน้ำทะเลจีนใต้ หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) และหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands)
“พื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ดังนั้น ทะเลจีนใต้จึงมีความสำคัญในมิติเชิงยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศอ้างกรรมสิทธิ์ และส่งผลไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต” คณบดีกล่าว
ข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พบว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยที่เกิดจากทะเลอยู่ที่ “24 ล้านล้านบาทต่อปี” นั่นหมายความว่า มูลค่าในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกน่าจะอยู่ในระดับมหาศาลยิ่งกว่านี้อีก
“ดังนั้นจึงต้องมีกติกาในการใช้ทะเล เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล 1982 ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐต่าง ๆ ในเขตทางทะเล” รศ.ดร.ภูมิกล่าว
แต่เมื่อมีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ประกอบกับนโยบายทางการเมือง ทำให้จีนต้องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ จนมีการกำหนด “เส้นเก้าขีด (Nine-Dash Line)” หรือเส้นแบ่งเขตอย่างหยาบ ๆ ที่จีนใช้ในการอ้างสิทธิ์ของตนเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ จนเกิดเป็นข้อพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์นี้กับประเทศใกล้เคียงที่มีน่านน้ำติดทะเลจีนใต้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน
ผศ.อัครพงศ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ และกรรมการสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย เล่าว่า ในประวัติศาสตร์แต่เดิม มีการประกาศอาณาเขตและข้อพิพาทบางส่วนกันอยู่แล้ว แต่เด่นชัดขึ้นในช่วงหลังประกาศใช้อนุสัญญา 1982 ที่ทีการกำหนดอาณาเขตทะเลที่เป็นสากล ซึ่งขัดกับอาณาเขตเดิมที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการหรือเคยกำหนดไว้
ผศ.อัครพงศ์บอกว่า ที่ผ่านมาจีนและประเทศคู่พิพาทได้มีความพยายามยกอ้างหลักฐานต่าง ๆ เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นจีนที่อ้างการพบเครื่องกระเบื้องสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (ราว 250 ปีก่อนคริสตกาล) อายุกว่า 2,000 ปี หรือเวียดนามที่อ้างบันทึกโบราณปี 1010 ว่าหมู่เกาะฮว่างซา (พาราเซล) และเตรื่องซา (สแปรตลีย์) เป็นของเวียดนาม
สถานการณ์ปัจจุบัน
พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการรักษาผบประโยชน์ของชาติทางทะเล เสริมว่า นอกจากประเทศคู่พิพาทที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว สหรัฐฯ เอง ยังเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของสหรัฐฯ ต้องการให้มี Freedom of Navigation หรือเสรีภาพในการเดินเรือ และเพื่อถ่วงดุลอำนาจ เพราะหากจีนครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ได้ จะเท่ากับควบคุมเส้นทางทางทะเลที่สำคัญ และประเทศอื่น ๆ อาจจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการเดินเรือในทะเลจีนใต้
ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย บอกว่า ประเทศที่เจริญแล้ว อยากให้ทะเลเป็นของสากลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะตัวเองจะได้มีโอกาสไปแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำมัน
“ซึ่งอนุสัญญา 1982 มีทฤษฎีหมู่เกาะ คือประเทศ/พื้นที่ที่เป็นหมู่เกาะ จะให้ตีเส้นรอบลงเกาะรอบนอกทั้งหมดเป็นอาณาเขต แล้วทะเลมหาสมุทรที่อยู่ระหว่างเกาะจะให้ถือเป็นน่านน้ำภายใน เป็นเหมือนแม่น้ำของหมู่เกาะ ประเทศอื่นเข้าไม่ได้ ยกเว้นสิทธิ์เดินทางผ่านโดยสุจริต ซึ่งถ้าจีนรวมหมู่เกาะพาราเซล หมู่เกาะสแปรตลีย์ มันก็จะมีน่านน้ำสากลเหลือน้อยมาก เป็นจุดที่กระทบทุกประเทศในโลกที่ต้องใช้การเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้” ผศ.ดร.วิบูลพงศ์กล่าว
อนุสัญญา 1982 ได้กำหนดเขตทะเลหลวง (High Seas) หรือน่านน้ำสากลที่ไม่ใช่ของรัฐใด พื้นที่ดังกล่าวนี้รัฐทั้งปวงมีสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ การบินผ่าน การวางสายเคเบิล และท่อใต้ทะเล รวมถึงยังมีเสรีภาพในการทำประมง และเสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ถ้าน่านน้ำสากลหายไปจะกระทบการเดินเรือของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทะเลจีนใต้
ผศ.ดร.วิบูลพงศ์กล่าวว่า “จีนอ้างเส้นเก้าขีดจนอาณาเขตกว้างเกินความจริง ที่สำคัญมันปิดล้อมทะเลหมดเลย ปิดเส้นทางจากสมหาสมุทรอินเดียที่จะออกแปซิฟิก เป็นจุดที่หลายประเทศรับไม่ได้”
ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย บอกว่า ทะเลจีนใต้มีความสำคัญ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ จะสามารถควบคุมเส้นทางการค้า การขยายอิทธิพลได้ เป็นความสำคัญ
“นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่ผ่านมา สมัยโอบามา ท่าทีของสหรัฐฯ จะมาจัดการปัญหาทะเลจีนใต้ จริง ๆ แล้วมีการแสวงหาพันธมิตร ช่วยสนับสนุนพันธมิตร ก็คือประเทศในอาเซียนที่ขัดแย้งกับจีน … สมัยทรัมป์ เราอาจจะมองว่าทรัมป์ใช้ America First นโยบายกับจีนต้องการปกป้องผลประโยชน์สหรัฐฯ เป็นหลัก … และสมัยไบเดน ก็มีท่าทีที่จะปฏิเสธการกล่าวอ้างของจีน มีท่าทีแบบเดิม เหมือนทรัมป์ ดังนั้นอย่างไรสหรัฐฯ จะไม่ยอมจีนอย่างแน่นอน” ผศ.ดร.ประพีร์กล่าว
อาจารย์บอกว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อาจจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมสหรัฐฯ ต้องมายุ่งเกี่ยวในทะเลจีนใต้ เพราะเพื่อที่จะต่อต้านการอ้างของจีน ไม่ให้จีนมีอำนาจมากไปกว่านี้
ผศ.ดร.ประพีร์ บอกว่า จะสังเกตได้ว่า ระยะหลังมานี้ สหรัฐฯ มีการรวมกลุ่มของพันธมิตรกันอย่างคึกคัก เพื่อสร้างดุลอำนาจ และช่วยประเทศพันธมิตรในการแข่งขันกับจีน
ตัวอย่างเช่น กลุ่ม QUAD ประกอบไปด้วย 4 ประเทศสำคัญ คือ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้ได้รับความเดือร้อนเหมือนกันจากการขยายอำนาจของจีนทั้งทางตรงทางอ้อม
หรือ AUKUS ที่มี ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก.ย. ที่ผ่านมาเริ่มมีร่วมมือทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของ 3 ประเทศนี้ มีการสนับสนุนเรือดำน้ำ ให้ออสเตรเลียสามารถเข้าไปบริเวณหมู่เกาะข้อพิพาทได้ เพราะถ้าจีนอ้างกรรมสิทธิ์สำเร็จ ออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบ
ยังมีกลุ่ม 5 Eyes เป็นความร่วมมือที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา คอยสอดส่องภัยคุกคามต่าง ๆ
“เมื่อท่าทีของสหรัฐฯ กับพันธมิตรชัดเจนขนาดนี้ ข่อพิพาทจีนใต้อาจจะไม่จบลงง่าย ๆ” ผศ.ดร.ประพีร์ บอก
แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตและบทบาทของไทย
ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่า การจะแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ให้ได้นั้น อาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายสากลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเปิดเวทีเจรจาเพื่อหาตรงกลางที่สุดของทุกประเทศ
ดร.วิศรุต สำลีอ่อน อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เรื่องการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเหมือนเสือกระดาษ เพราะไม่มีกลไกในการบังคับจริง คือมีศาลตัดสินก็จริง แต่กลไกหลังการตัดสินมันไม่มี
“การทำตามกฎหมายหรือข้อตัดสินต้องเกิดจากความสุจริต ซึ่งหาได้ยาก จีนเองเคยถูกตัดสินไม่ให้มีสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เพราะมีหลักฐานน้อยกว่าฟิลิปปินส์ แต่จีนก็ไม่ยอมรับ” ดร.วิศรุตบอก
ส่วนการหาจุดตรงกลางร่วมนั้น ผศ.อัครพงศ์ เสนอว่า ที่ผ่ามา อนุสัญญา 1982 ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่อง “มรดกร่วมแห่งภูมิภาค (Shared Regional Common Heritage)” แต่ประเทศทั้งหลายก็สามารถแสดงท่าทียืนยันความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ร่วมกันได้ และหากต้องการทำให้จีนพอใจ ก็อาจพัฒนาเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ให้ทุกประเทศมีสิทธิ์เท่า ๆ กัน และได้ประโยชน์จากพื้นที่ทะเลจีนใต้ร่วมกัน ก็อาจเป็นทางออกหนึ่งที่ดี
พลเรือเอกจุมพลเสนอว่า บทบาทของประเทศไทยเอง เรามีความชัดเจนว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการอ้างสิทธิ์ทะเลจีนใต้โดยตรง และเคยเป็นกรรมการกลางนำฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเจรจามาก่อน แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่เรามีกับหลายประเทศ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการพยายามชับเคลื่อนการเจรจาหาจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อไม่ให้ความตึงเครียดจากข้อพิพาทในวันนี้ขยายไปสู่ภาพที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดในอนาคต
“เราอาจจะเป็นตัวเชื่อมได้ ต้องใช้กรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ไทยต้องเป็นกลางอย่างพอดี ๆ เพราะไทยมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ” พลเรือเอกจุมพลกล่าว แต่เตือนว่า ด้วยพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการแสดงกำลังทางทหาร อาจทำให้สถานการณ์คุกรุ่นขึ้น อาจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีการหาทางออกร่วมกันในเร็ววัน
ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และไม่อาจทราบได้ว่าจะดำเนินต่อไปอีกเท่าไร แต่ก็เป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะมันอาจเป็นชนวนทำให้เกิดความรุนแรงที่เลวร้ายอย่าง “สงคราม”
———————————————————————————————————————————-
ที่มา : pptvhd36 / วันที่เผยแพร่ 28 ต.ค.2564
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/159365